เรียนอนุบาลตลอดชีวิต


 

หนังสือแปล Lifelong Kindergarten : อนุบาลตลอดชีวิต (๑) แปลจาก Lifelong Kindergarten : Creating Creativities Through Projects, Passion, Peers and Play   เขียนโดยศาสตราจารย์ Mitchel Resnick  แห่ง MIT Media Lab    บอกเราว่า ชีวิตมนุษย์ควรสนุกอยู่กับการเรียนรู้จากการลอง แบบเดียวกันกับนักเรียนอนุบาล   

อ่านหนังสือไปไม่ถึงครึ่งเล่ม  ผมก็ตระหนักว่า ชีวิตเด็กในชนบทสมัย ๗๐ ปีก่อนอย่างผม อุดมไปด้วยโอกาสเรียนรู้จากการลงมือทำหรือสร้าง    โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพง     เราเล่นในท้องนา  ทดลองเลี้ยงปลา  ช่วยผู้ใหญ่ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ และทำงาน    เราได้มีโอกาสฝึกความเป็นคนช่างสังเกต    กล้าลองทำแนวใหม่ (ที่หลายครั้งผู้ใหญ่มองว่าเป็นการเล่นซุกซน)   เพื่อเรียนรู้    กล่าวด้วยถ้อยคำในหนังสือเล่มนี้ว่า  ผมมีโอกาสทำ “โครงงาน” (project) ในชีวิตจริง     โดยคิดเป้าหมายและวิธีการขึ้นเอง    สภาพของชีวิตวัยเด็กน่าจะช่วยหนุนความริเริ่มสร้างสรรค์ให้แก่ผมมากทีเดียว   

แต่เด็กในเมืองสมัยนี้ ไม่มีงานในชีวิตจริงให้ทำและทดลองออกแบบโครงงาน   หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับช่วยให้เด็ก “เล่น” และทำ “โครงงาน” ที่ตนคิดและตั้งเป้าหมายเอาเอง    เขาเอ่ยถึง scratch.mit.edu, brightworks    online platforms เพื่อการเรียนรู้ฝึกฝนความสร้างสรรค์ผ่านการทำโครงงานบน ออนไลน์ แพล็ตฟอร์ม         

  ทั้งกรณีชีวิตของผม และสาระในหนังสือ สื่อคุณค่าของการเรียนรู้โดยการสร้างหรือการลงมือทำ    ตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบผู้สร้าง (constructivist) ของ ฌอง เปียเจต์ (Jean Piaget)    ที่มีพลังส่งเสริมความสร้างสรรค์    โดยหนังสือเล่มนี้บอกว่า creative learning ประกอบด้วยพลังของ 4P   คือ project, passion, peers, play    โดยผมขอเพิ่ม P ที่ห้า สำหรับเด็กยุคนี้คือ platform   ซึ่งหมายถึง IT platform  หรือ IT tool สำหรังสร้างบรรยากาศเสมือนให้แก่กิจกรรมสร้างสรรค์ 

สมัยผม โชคดีตรงมี real-life platform ให้ฝึกสร้างสรรค์    สมัยนี้เด็กก็โชคดีตรงมี virtual platform ให้ฝึกสร้างสรรค์ 

มองอีกมุมหนึ่ง หนังสือเล่มนี้นำเสนอวิธีส่งเสริมให้เด็กพัฒนา “ความเป็นผู้กระทำการ” (agency) ของตนเอง   ที่เป็นสมรรถนะสำคัญยิ่งสำหรับพลโลกในอนาคต    โดย OECD ขยายความว่า    ต้องการ ความเป็นผู้กระทำการสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ (transformation)    จึงเรียนสมรรถนะนี้ว่า Transformative Competencies  ซึ่งประกอบด้วยสมรรถนะย่อย ๓ ด้านคือ  (๑) สร้างคุณค่าใหม่  (๒) อดทนอยู่กับความไม่เห็นพ้อง  (๓) มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง (๒)   

“การสอนที่ดีจะเกิดขึ้นได้ เมื่อคุณสวมบทบาทที่แตกต่างหลากหลายโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้   ครูและพี่เลี้ยงที่ดีจะขยับตัวเองไปได้อย่างไหลลื่น ระหว่างสวมบทบาทเป็นผู้เร่งปฏิกิริยา (catalyst),    ผู้ให้คำปรึกษา (consultant),  ผู้เชื่อมประสาน (connector),  และผู้ร่วมลงมือทำงาน (collaborator)”  (หน้า ๑๓๒) 

เคล็ดลับ ๑๐ ประการสำหรับผู้เรียน  (๑) เริ่มจากะไรง่ายๆ   (๒) ทำสิ่งที่คุณชอบ  (๓) ถ้าคุณไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ให้ดำน้ำทำไปก่อนหลายๆ แบบ   (๔) อย่ากลัวที่จะทดลอง  (๕) หาเพื่อนมาช่วยทำ และแบ่งปันไอเดีย  (๖) ไม่ผิดที่จะลอกงานของคนอื่น (เพื่อให้คุณเกิดไอเดีย)  (๗) บันทึกไอเดียของคุณลงในสมุดวาดเขียน  (๘) สร้าง รื้อ แล้วสร้างใหม่  (๙) อาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้มากมาย อย่าเพิ่งถอดใจเสียก่อน  (๑๐) สร้างเคล็ดลับการเรียนรู้ของคุณเอง

เคล็ดลับ ๑๐ ประการสำหรับพ่อแม่และครู  (๑) จินตนาการ  ให้ดูตัวอย่างเพื่อช่วยจุดประกายไอเดีย  (๒) จินตนาการ ส่งเสริมให้ลองเล่นไปเรื่อยๆ  (๓) สร้างสรรค์  จัดหาวัสดุที่หลากหลายไว้ให้   (๔) สร้างสรรค์  เปิดอ้อมแขนรับการสร้างทุกรูปแบบ  (๕) เล่น เน้นเพื่อกระบวนการมากกว่าผลงาน (๖) เล่น  จัดสรรเวลาสำหรับทำโครงงานให้มากขึ้น  (๗) แบ่งปัน สวมบทบาทแม่สื่อ  (๘) แบ่งปัน  มีส่วนร่วมในฐานะผู้ร่วมทำโครงงาน  (๙) คิดทบทวน ถามคำถาม (ที่อยากรู้จริงๆ)  (๑๐) คิดทบทวน  แบ่งปันผลการคิดทบทวนของคุณ 

เคล็ดลับ ๑๐ ประการสำหรับนักออกแบบและนักพัฒนา   (๑) ออกแบบเพื่อนักออกแบบ  (๒) สนับสนุนพื้นต่ำและเพดานสูง  (๓) ขยายกำแพงให้กว้างขึ้น  (๔) เชื่อมโยงทั้งความสนใจและไอเดีย  (๕) ยกให้ความเรียบง่ายมาก่อนเรื่องอื่น  (๖) มีความเข้าใจ (อย่างลึกซึ้ง) เกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายของผลงานการออกแบบ  (๗) สร้างสิ่งที่คุณเองก็อยากใช้งาน  (๘) รวบรวมทีมนักออกแบบที่เชี่ยวชาญในวิทยาการหลากหลายสาขา  (๙) ควบคุมผลงานการออกแบบ แต่ต้องไม่ลืมใช้ประโยชน์จากสาธารณชน  (๑๐) ทำซ้ำ ทำซ้ำ และทำซ้ำอีกครั้ง    

ผู้เขียนสรุปไว้ในตอนท้ายหนังสือว่า “หนทางที่มุ่งไปสู่อนุบาลตลอดชีวิตนั้น ทั้งยาวไกล และคดเคี้ยว”    ผมเถียงว่า หนทางส่วนตัวของเรา เราเลือกเองได้       

ขอขอบคุณ กสศ. ที่มอบหนังสือเล่มนี้ 

ผมฝึกเขียนบันทึกจากการอ่านหนังสือแบบอ่านเร็ว    และบันทึกแบบสะท้อนคิด (reflect)   ไม่ใช่เขียนแบบย่อความ (review)     เพื่อการฝึกฝนตนเอง และเพื่อความสนุกสนานในยุควิกฤติโควิดระลอกสาม 

วิจารณ์ พานิช

๔ พ.ค. ๖๔

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 690984เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2021 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2021 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท