ชีวิตที่พอเพียง 3971. ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของโครงการ OTOP


 

               หนังสือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) พ.ศ. ๒๕๔๔ – ๒๕๖๐  เขียนโดย จิรวุฒิ หลอมประโคน    เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยชุด ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศประวัติศาสตร์   ที่มี ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เป็นหัวหน้าโครงการ   

 ใน บานแพนกของหนังสือ บอกว่าโครงการ OTOP   เชื่อมโยงไปยัง หมู่บ้าน OTOP (๑)    โรงเรียน OTOP (๒)   สินค้า OTOP    การท่องเที่ยว OTOP   และนวัตกรรมการจำหน่ายสินค้า OTOP ทางอินเทอร์เน็ต     ที่เมื่อผมอ่านหนังสือแล้วก็เห็นชัดว่า มีลู่ทางส่งเสริมความเข้มแข็งของกิจกรรม OTOP ได้อีกมาก   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้าไปในสินค้า    และการเอาจริงเอาจังกับการรับรองมาตรฐานสินค้า   

หนังสือบอกว่า ระหว่างปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๑ รายได้จากการจำหน่ายสินค้า OTOP ทั่วประเทศ ไม่รวม กทม.   เพิ่มขึ้นทุกปี   คือ ๑.๒๕ แสนล้านบาทในปี ๒๕๕๙   เป็น ๑.๕๓ แสนล้านบาทในปี ๒๕๖๐   และ ๑.๙๐ แสนล้านบาทในปี ๒๕๖๑   ห้าจังหวัดที่รายได้สูงสุดในปี ๒๕๖๑ คือ นครปฐม (๑.๓๙ หมื่นล้านบาท)   เชียงใหม่ (๑.๓๐ หมื่นล้านบาท)   ราชบุรี (๑.๐๒ หมื่นล้านบาท)  ขอนแก่น (๗.๗๘ พันล้านบาท)  อุดรธานี (๔.๙๑ พันล้านบาท)   

เมื่อเริ่มโครงการ ในปี ๒๕๔๔  รัฐบาลตั้งเป้าหมายของโครงการไว้ ๕ ประการคือ  (๑) สร้างงานและเพิ่มรายได้แก่ชุมชน  (๒) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน  (๓) ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น   (๔) ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  (๕) ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของชุมชน      ซึ่งเห็นได้ขัดว่า บรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่งทุกข้อ

และที่ผมคิดว่าสำคัญยิ่งกว่า คือ มีลู่ทางส่งเสริมให้บรรลุยิ่งขึ้นได้ทุกข้อ   โดยมาตรการคัดเลือกโครงการ OTOP ที่ประสบความสำเร็จสูงในหลากหลายมิติ    นำมาสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ให้ค้นคว้าได้ง่าย    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิติที่ผลิตภัณฑ์ OTOP ตัวใดตัวหนึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่องเพื่อดำรงความสามารถการแข่งขันในตลาดได้    ข้อเรียนรู้นี้จะมีประโยชน์มากแก่ผู้ริเริ่มผลิตภัณฑ์ OTOP ตัวใหม่ 

นอกจากมองที่ผลิตภัณฑ์ ก็อาจมองที่ชุมชน    ชุมชน OTOP เด่นๆ มีการปรับตัวอย่างไรในช่วงสิบปีที่ผ่านมา    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด   

ผมสนใจการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปสร้างนวัตกรรมให้แก่ผลิตภัณฑ์ OTOP ว่าเข้าไปได้อย่างไร   มีบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นเข้าไปแสดงบทบาทมากแค่ไหน   สถาบันอุดมศึกษาใดบ้างที่กลายเป็นศูนย์กลางของการนำ ววน. เข้าไปหนุนสินค้า OTOP ให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง   

ผมอยากเห็น โรงเรียน โอทอป ที่นักเรียนรวมตัวกันจินตนาการ และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีคุณภาพและขายได้   พัฒนาต่อเนื่องจนเกิดรายได้เข้ากลุ่มอย่างสม่ำเสมอ    เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ใน maker space ของโรงเรียน   

จากโครงการ โอทอป เราสามารถนำเอาไปสร้างหรือพัฒนาคนในพื้นที่ ได้ในอีกหลากหลายการริเริ่ม  

 ขอขอบคุณ ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ที่กรุณามอบหนังสือเล่มนี้   

วิจารณ์ พานิช

๑๔ พ.ค. ๖๔   

 

 

หมายเลขบันทึก: 690983เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2021 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2021 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท