ชีวิตที่พอเพียง 3970b. เป้าหมายสูงส่งในชีวิตบุคคล จากมุมมองของธุรกิจ  และจากมุมมองด้านการศึกษา 


ไม่ใช่แค่ “ทำงาน”  แต่มุ่งสู่การ “สร้างคุณค่าที่แท้จริงของงาน” ที่ตนทำ ไม่ใช่แค่ “เรียน” แต่ต้องลึกซึ้งใน “คุณค่าที่แท้จริง ของการเรียน” 

ชีวิตที่พอเพียง 3970b. เป้าหมายสูงส่งในชีวิตบุคคล จากมุมมองของธุรกิจ   และจากมุมมองด้านการศึกษา   

The McKinsey Podcast เรื่อง The search for purpose at work (๑)   พูดเรื่องเป้าหมายยิ่งใหญ่ระดับบุคคล (individual purpose) ที่มีผลต่อองค์กร    ที่เขานิยาม เป้าหมายยิ่งใหญ่/สูงส่ง ระดับบุคคล    ว่าเป็นเข็มทิศนำทางชีวิต    ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง    มันทำให้เรามีแรงขับดันภายใน ให้ดำเนินชีวิตแบบมุ่งเป้าหมายยิ่งใหญ่ ไม่เป๋ไปเป๋มาตามแรงกระทบจากภายนอก      

เขาคุยกันเรื่องผลงานวิจัย ที่พนักงานของ McKinsey ศึกษาเจ้าหน้าที่ของบริษัท ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในวัย millennials ว่ามีทัศนคติเกี่ยวกับเป้าหมายยิ่งใหญ่ในชีวิตอย่างไร    (อย่าลืมว่าเป็นพนักงานเมริกันนะครับ)    เป็นงานวิจัยในช่วงที่อยู่ระหว่างโควิดระบาดหนัก    และเขียนเป็นรายงานชื่อ Help your employees find purpose – or watch them leave (๒)   ผลงานวิจัยเตือนสติองค์กรว่า     องค์กรต้องช่วยหนุนให้พนักงานพัฒนาเป้าหมายในชีวิต    และเชื่อมโยงเป้าหมายส่วนตัวกับเป้าหมายองค์กรเข้าด้วยกัน    มิฉะนั้นองค์กรจะสูญเสียพนักงานเก่งๆ ไป   

เขาเสนอวิธีช่วยให้พนักงานงอกงามเป้าหมายยิ่งใหญ่ในชีวิตด้วย ๓ กลไกคือ  (๑) ทำให้เป้าหมายยิ่งใหญ่ขององค์กรชัดเจน  และมีการปฏิบัติตามนั้น    ส่วนนี้มักเป็นเรื่องของผลกระทบต่อสังคม  (๒) จัดเวลาหรือโอกาสให้พนักงานได้ใคร่ครวญสะท้อนคิดเรื่องเป้าหมายยิ่งใหญ่ในชีวิตตนเอง  ของบริษัท และตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างกัน (๓) ส่งเสริมให้พนักงานได้ใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงานประจำนั้นเองให้เกิดคุณค่าหรือความหมาย      

 กลไกข้อ ๓ ในย่อหน้าบน บอกเราว่า การทำงานประจำแบบทำไปตามสูตร เป็นตัวทำลายความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า หรือได้บรรลุเป้าหมายยิ่งใหญ่ในชีวิต   ซึ่งผมตีความว่า องค์กรต้องใส่ความท้าทายในการพัฒนางานประจำลงไปให้พอเหมาะ ด้วยวิธีการที่แยบยล    ก็จะช่วยให้พนักงานพัฒนาเป้าหมายที่ทรงคุณค่าของตนเองขึ้นมา     ทำให้มีการทำงานที่ท้าทาย มีชีวิตชีวา มีการสร้างสรรค์   และเมื่อบรรลุผลก็รู้สึกภาคภูมิใจ รู้สึกว่าชีวิตการทำงานมีความหมาย   นี่คือทักษะอย่างหนึ่งที่ผู้บริหารต้องเรียนรู้   

นั่นเป็นการมอง purpose จากมุมของคนระดับเจ้าหน้าที่ระดับกลางและระดับล่าง     และจากมุมของธุรกิจ    ผมอยากชวนมองในเชิงปรัชญาชีวิตบ้าง   

ผมมองว่า purpose และ passion ของคนเรามีความซับซ้อนมาก    และที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่มากคือ self-transcendent purpose (เป้าหมายที่เลยผลประโยชน์ส่วนตัว  ที่ตรงกันข้ามกับ self-interest)    ที่มีพลังยิ่งใหญ่กว่าเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง    ความสนใจนี้นำผมไปสู่ผลงานวิจัยด้านการศึกษา เรื่อง Boring but Important : A Self-Transcendent Purpose for Learning Fosters Academic Self-Regulation (๓)

งานวิจัยนี้รายงานในปี 2014   เป็นงานวิจัยในคนวัยรุ่นและหนุ่มสาว จากครอบครัวที่เศรษฐฐานะต่ำ เกือบทั้งหมดเป็นคนผิวสี กว่า ๒,๐๐๐ คนในสหรัฐอเมริกา     เป็นนักเรียนเกรด ๑๒  และที่จบออกไปแล้ว    ในรายงานมีทั้งหมด ๔ ตอน (๔ การศึกษา)    ที่รวมแล้วบอกว่า การมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ที่เหนือกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ช่วยยกระดับความตั้งใจเรียน สู้บทเรียนที่ยากหรือน่าเบื่อ เมื่อจบเกรด ๑๒ ก็ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย    และช่วยเป็นพลังให้เรียนจบมหาวิทยาลัย 

เขาจำแนกแรงจูงใจต่อการเรียนเป็น ๓ แบบ คือ (๑) แรงจูงใจจากเป้าหมายยิ่งใหญ่เหนือผลประโยชน์ส่วนตน   (๒) แรงจูงใจภายในเพื่อผลสำเร็จของตน   และ (๓) แรงจูงใจภายนอกเพื่อการมีชีวิตที่ดี   และบอกว่า พลังมีสูงสุด และลดหลั่นลงมาตามลำดับ       

งานวิจัยของ McKinsey บอกว่าชีวิตการทำงานที่ดี    ไม่ใช่แค่ “ทำงาน”  แต่มุ่งสู่การ “สร้างคุณค่าที่แท้จริงของงาน” ที่ตนทำ        

งานวิจัยเรื่องพลังสู้ความน่าเบื่อในการเรียน บอกเราว่า     ต้องไม่ใช่แค่ “เรียน”    แต่ต้องลึกซึ้งใน “คุณค่าที่แท้จริง ของการเรียน”    ครูพึงมีวิธีกระตุ้นให้นักเรียนพัฒนากระบวนทัศน์ ... การมีชีวิตที่มีจุดมุ่งหลายสูงส่ง  

ผมเพิ่งเขียนเรื่องพลังของ purpose ไว้ที่ (๔) 

วิจารณ์ พานิช

๕ มิ.ย. ๖๔             

 



ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท