Online PLC ครั้งที่ ๑๒



วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ มีกิจกรรม PLC Coaching ชุมนุมครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง ออนไลน์ ที่ผมเคยเล่าไว้ที่ (๑)  (๒)    โดยที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑๒  และครั้งสุดท้ายสำหรับรอบนี้  

กสศ. นำเรื่องราวของ Online PLC ครั้งที่ ๑ ไปลงไว้โดยละเอียดที่ (๓)     และของครั้งที่ ๒ ที่ (๔)    โดยผมเขียนข้อสังเกตจากครั้งที่ ๒ ไว้ที่ (๕)

ชม YouTube เรื่องราวของกิจกรรมครั้งที่ ๘  เสนอโดยครูวิเชียร ไชยโชติ สอนวิชาการออกแบบและเทคโนโลยี ชั้น ม. ๔  โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม ได้ที่ (๖)    โดยทีมจัดการได้สรุปสาระของกิจกรรมครั้งที่ ๘ ไว้ ดังนี้ (

ครั้งสุดท้ายนี้เสนอโดยครู ปุ๊กกี้ ปราศรัย อินทร์ค่ำ สอนวิชาภาษาไทย ชั้น ป. ๔  การเขียนตามจินตนาการ  โรงเรียนบ้านไผ่หนองแคน  จ. ศรีสะเกษ (โรงเรียนนี้ใช้นวัตกรรมการเรียนรู้แบบ BBL – Brain-Based Learning มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘)    ที่ร่วมกิจกรรม online PLC coaching  ได้มาเข้า workshop ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๑ - ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๓   ได้รับคำแนะนำจาก รศ. ดร. ทิศนา แขมมณี และครูปาด ศีลวัต ศุษิลวรณ์ (แนะให้สอนให้เด็กได้สัมผัสสุนทรียะของภาษา)    นำกลับไปปรับปรุงการสอนของตน    เรื่องราวที่เล่าสะท้อนความลุ่มลึกอย่างน่าชื่นชม    เห็นคุณค่าของกิจกรรม Online PLC Coaching    เป็นคุณค่าที่ได้แก่เด็กอย่างชัดเจน  

สะท้อนให้เห็นว่า ครูมีโอกาสพัฒนาวิธีจัดการเรียนรู้ของตนได้ในหลากหลายมิติ    และทำได้เรื่อยไปไม่จบสิ้น    โดยตั้งเป้าผลการเรียนรู้ของนักเรียนยกระดับต่อเนื่องได้   

ทางทีมจัดการของมูลนิธิสยามกัมมาจล ขอให้ผมกล่าวปิด    เพราะครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย    ผมชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวของการออกแบบและจัดการเรียนรู้ตามบริบทของตน  มีเป้าหมายให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง (transfer learning)    และให้ครูจัดการเรียนรู้ในลักษณะ visible learning    ตามหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง        

ท่านที่เข้าร่วมกิจกรรมจะเห็นด้วยตนเองว่า กิจกรรมหนุนการเรียนรู้ของศิษย์นั้น มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนอย่างยิ่ง     เรียนได้ไม่รู้จบ    คนที่รักงานนี้จะสนุกมากกับกิจกรรม PLC   ที่ทีมงานของมูลนิธิสยามกัมมาจลจัดกระบวนการภายใต้การสนับสนุนของ กสศ. จัดให้เห็นเป็นตัวอย่าง    ทุกท่านจะเห็นว่าข้อแนะนำของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิให้ประโยชน์มาก    และ PLC ที่มีพลังจะต้องมีคนแบบนี้มาช่วยให้ข้อคิดเห็นอย่างน้อย ๑ คน    ซึ่งในประเทศที่คุณภาพการศึกษาสูงมากคนที่ทำหน้าที่นี้คือครูในโรงเรียนนั่นเอง    เป็นครูที่ผ่านการฝึกฝนมายาวนาน จนได้รับยกย่องเป็น “ครูผู้ชำนาญการ”   มีเงินเดือนสูง   มีผลการวิจัยเป็นที่ยอมรับ    ในประเทศฟินแลนด์ ครูใหญ่ทำหน้าที่นี้    และเราจะเห็นว่า มีผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ในโรงเรียนต้นแบบของโครงการ    ผมจึงขอเสนอต่อโรงเรียนในโครงการ โรงเรียนพัฒนาตนเอง ของ กสศ. ว่า    ควรนำประสบการณ์ที่ได้  ไปปรับปรุง PLC ในโรงเรียน เพื่อให้ได้ร่วมกันเรียนรู้อย่างทรงพลังยิ่งขึ้น    ผมคิดว่าในเวลาสั้นๆ เพียง ๖ เดือน    โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการน่าจะได้เรียนรู้ข้อนี้

แต่เป้าหมายตามในหนังสือบทที่ ๘  หน้า ๒๖๐ - ๒๗๑  เรื่องประเมินผลกระทบ ไม่ได้รับความสนใจเลย    ไม่มีการนำมาทำความเข้าใจ    ผมขอฝากทุกโรงเรียนว่า โรงเรียนและครูต้องเอาใจใส่ผลกระทบของการจัดการเรียนรู้ของตน ว่านักเรียนได้รับแค่ไหน  มีนักเรียนคนไหนบ้างได้รับน้อยกว่าเป้าหมาย  เพื่อจะได้ทำการแก้ไขปรับปรุง    การประเมินต้องเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง   

ผมขอแสดงความชื่นชมทางผู้บริหารและครูที่เข้ามาร่วมกันเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น    และขอตั้งความหวังว่า ท่านจะนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ในโรงเรียนของท่าน    และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนในเครือข่าย ในลักษณะของ PLN – Professional Learning Network   เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยต่อไป  

๔ ย่อหน้าล่างสุด เป็นข้อความที่ผมเตรียมกล่าวปิด แต่เวลาไม่อำนวย    และผมเห็นควรด้นกลอนสด ต่อจากที่คุณติ๋มแห่งมูลนิธิสยามกัมมาจลกล่าวเตือนความจำว่า ที่มาของกิจกรรมนี้ มาจากความตั้งใจต่อยอดครูนักปฏิบัติยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์ ด้วยการเชื่อมโยงสู่ทฤษฎี ช่วยให้เห็นลู่ทางยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ขึ้นไปอีก    ซึ่งเราเห็นชัดเจนในกิจกรรม Online PLC Coaching นี้   

ผมจึงเสนอว่า ขั้นต่อไปเราอาจสนับสนุนการต่อยอดไปหนุนให้ครูทำวิจัยชั้นเรียน    ให้ครูได้เป็นผู้สร้างทฤษฎีเล็กๆ จากการปฏิบัติในห้องเรียน    ฝึกให้ครูจำนวนหนึ่งได้เป็นนักวิจัย เหมือนครูในประเทศที่คุณภาพการศึกษาสูงที่สุดในโลก ๕ ประเทศ ตามในหนังสือ ปั้นครู เปลี่ยนโลก    

วิจารณ์ พานิช

๑ เม.ย. ๖๔


Blog14may from Pattie Pattie
หมายเลขบันทึก: 690586เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2021 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2021 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท