ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๔๘. หนุนพลังเยาวชน



เช้าวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๔ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคมของธนาคารไทยพาณิชย์  ซึ่งประชุมร่วมกับคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล เดือนละครั้ง  

ในวาระของธนาคาร มีการนำเสนอโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้ ระดับมัธยมศึกษา” ที่ดำเนินการมาเป็นปีที่ ๑๕   และมีวิวัฒนาการเรื่อยมา    โดยในช่วงปี ๒๕๖๒ – ๒๕๖๔ ปรับมาเน้นให้เยาวชนเข้าใจปัญหาของชุมชน  และทำโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาของชุมชน    ผลที่ได้จากโครงการมี ๓ ระดับคือ (๑) ที่ตัวนักเรียน (ทีมละ ๔ คน)  (๒) ที่โรงเรียนและครู  และ (๓) ที่ชุมชน  

เอกสารบอกว่า นักเรียนได้พัฒนา (๑) ทักษะ 3C (Critical Thinking, Collaboration, Communication),  (๒) ทักษะการทำงาน  (๓) ปลูกฝังความเป็นพลเมืองดี  (๔) ฝึกผลิตผลงานที่ใช้ได้จริง แต่ผมคิดว่า หัวใจอยู่ที่การได้ปลดปล่อยและฝึกพลังสร้างสรรค์ (creativity) ของเยาวชน    เป็นการหนุนให้ค้นพบ “ความหมายในชีวิต”    รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต    เกิดแรงบันดาลใจ (inspiration)    ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของชีวิต

ที่ประชุมหารือกันว่า จะให้ทุนสนับสนุนให้พัฒนาสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้งานจริง ในชีวิตจริง ต่อเนื่องอีก ๒ ปี    และหาทางสนับสนุนให้เยาวชนมือรางวัลได้มาเรียนรู้เรื่องการเป็นผู้ประกอบการกับบริษัท SCB 10X  

ผมชื่นใจที่ได้มีส่วนเล็กๆ ในการสร้างพื้นที่ให้เยาวชนได้มีโอการ “ปล่อยของ”    หรือนำเอาพลังของตนเองออกสู่การสร้างสรรค์เพื่อสังคม

ผมคิดว่า สังคมไทยต้องเห็นและใช้คุณค่าของพลังสร้างสรรค์ของเยาวชนวัยรุ่น    และสร้างพื้นที่ให้เขาได้ลงมือทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม    เพื่อเปลี่ยนการเรียนรู้จาก passive  ไปเป็น active learning platform    หนุนให้เขาได้ใช้ความสร้างสรรค์ภายในตนออกมากระทำการ    แล้วช่วยเชื่อมโยงสู่ entrepreneurship

วิจารณ์ พานิช

๓๐ มี.ค. ๖๔

บนรถกลับบ้าน


หมายเลขบันทึก: 690412เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2021 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2021 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท