ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๔๕. คุยกับลูกสาว



ผมมีลูกสาวสามคน เป็นสามใบเถา ใบสุดท้องมีบ้านอยู่ที่สิงคโปร์ แต่ตอนนี้ทำงานให้แก่ประเทศไทย คือทำงานเป็น CVIO (Chief Venture and Investment Officer) ที่บริษัท SCB 10X เช้าวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๔ เขาโทรศัพท์มาสวัสดีปีใหม่ไทย จึงได้คุยกันเรื่องงานที่เขาทำ ว่ามีคุณค่าต่อบ้านเมืองของเราอย่างไร

ผมรู้สึกมาตลอดเวลา ว่าลูกสาวคนนี้เป็นหนี้สังคมไทยที่เขาจะต้องชดใช้ เพราะเขาได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนระดับปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกา โดยทุนเล่าเรียนหลวงในเวลา ๕ ปี เขาเรียนจบปริญญาโทวิศวกรรมไฟฟ้า & Computer Science ที่ เอ็มไอที และทำงานส่งตัวเองเรียน MBA ที่ฮาร์วาร์ดอีก ๒ ปี ก็ผันไปทำงานด้านธุรกิจการลงทุนที่นิวยอร์กราวๆ 5 ปี เมื่อสิบสามปีก่อน สาวน้อย ลูกสาวคนโต กับผมเคยไปเยี่ยมและผมบันทึกไว้ที่ (๑) หลังจากนั้นเขาย้ายมาอยู่ที่สิงคโปร์เมื่อราวๆ ๑๑ ปีก่อน โดยย้ายบริษัทแต่ทำงานแนวเดิม และเมื่อปีที่แล้วก็เปลี่ยนมาทำงานให้แก่บริษัทไทย ทำให้ผมดีใจมาก เพราะเท่ากับได้ทดแทนคุณแผ่นดินทางอ้อม

งานที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นงานทดลองเปลี่ยน platform ของธุรกิจธนาคารไทย คือหันไปลงทุนในกิจการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า คือ digital technology ที่เกี่ยวข้องกับการเงินและ disruption ที่เป็นการลงทุนแบบ high risk, high return ลูกสาวผมเรียนมาทั้งด้านเทคโนโลยี และด้านบริหารธุรกิจ มีประสบการณ์ในธุรกิจการลงทุนกว่า ๒๐ปี เมื่อจะตั้งบริษัท SCB 10X หัวหน้าทีมจึงไปชวนมาทำงาน โดยในสถานการณ์โควิด เขาทำงานทางไกลอยู่ที่สิงคโปร์เป็นส่วนใหญ่ โลกสมัยนี้สะดวกดีนะครับ ทำงานใช้สมองอยู่ไกลมากก็ทำงานได้ (แต่ก็ไม่ดีเท่าทำงานแบบได้พูดคุยใกล้ชิด)

ลูกสาวเล่าประสบการณ์ความสำเร็จในการลงทุน ที่ ROI (return on investment) ไม่ใช่แค่ 10X แต่บางรายการสูงถึง100X บางรายการก็ 50X ซึ่งก็หมายความว่าบางรายการก็ขาดทุน แต่รวมแล้วกำไรสูงมาก จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีข้อมูลมาก และรู้ทิศทางและอนาคตของการพัฒนาเทคโนโลยีสู่ตลาด

เขายกตัวอย่างข่าว (๒) (๓) (๔) (๕)   (๖)   (๗)   

การสนทนากันทางโทรศัทพ์ ทำให้คนไม่รู้เรื่องการลงทุนอย่างผมจับความได้ว่า งานที่เขากำลังทำอยู่นี้ไม่ใช่แค่มีคุณค่าต่อธนาคารไทยพาณิชย์ และธุรกิจการเงินของไทยเท่านั้น ยังมีคุณค่าต่อ innovation management และinnovation development systems ของประเทศไทยด้วย แต่จะต้องมีการตีความและคิดต่อโดยคนที่อยู่ในวงการอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผม และทำให้ผมนึกถึง ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (๖) ว่าหาก ดร. กิติพงค์ กับคุณมุขยา ได้คุยกัน จะนำไปสู่มุมมองใหม่ต่อการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนของประเทศต่อการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ

ลูกสาวบอกผมว่า กิจการพัฒนานวัตกรรมด้านที่เป็นเป้าหมายของ SCB 10X มีอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ในต่างประเทศมีเยอะ ที่อยู่ในประเทศไทยคือบริษัท Alpha Finance Lab บริษัท SCB 10X หวังว่าจะเอานวัตกรรมที่เรียนรู้จากต่างประเทศมาส่งเสริม startup ecosystem ในไทย ทำให้ผมคิดว่า ประสบการณ์การลงทุนพัฒนานวัตกรรมในต่างประเทศ และในประเทศ ของคุณมุขยา สามารถนำมาแลกเปลี่ยนกับ ดร. กิติพงค์ว่า environment แบบไหนที่เป็นปุ๋ยที่ดีสำหรับการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมไทย ซึ่งผมมองว่าจุดเน้นควรไปอยู่ที่ entrepreneur ไม่ใช่ที่academics อย่างที่ระบบไทยมักจะเน้น และรัฐบาลไม่น่าจะเน้นลงทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมโดยตรงแต่อย่างเดียว แต่ควรมุ่งจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนพัฒนานวัตกรรมโดยภาคธุรกิจด้วย ผมคิดได้แค่นี้ แต่มองว่าผู้มีประสบการณ์ตรงสองท่านนี้คุยกันน่าจะคิด national environment systems for innovation development ได้ เพื่อเชื่อมสู่การเปลี่ยนฐานประเทศ สู่ innovation-based economy and society

ผมเขียนบันทึกนี้แบบมี hidden agenda คืออยากให้ลูกสาวได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมไทย ใช้หนี้บุญคุณคนไทยที่เสียภาษีส่งเขาไปเรียนในต่างประเทศ ได้ไปเข้าโรงเรียนที่ดีที่สุด และมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ทำให้เขาได้มีชีวิตที่ดีมาจนปัจจุบัน

วิจารณ์ พานิช

๒๕ เม.ย. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 690280เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2021 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2021 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ฉีดวัคซีนกันแล้วยังคะ

ประสบการณ์คุณมุขยา สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยกำลังประสบเวลานี้ จำเป็นอย่างมากที่ประเทศไทยต้องขยับออกจากโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเดิมที่อาศัยความได้เปรียบเชิงทรัพยากรธรรมชาติและค่าแรงราคาถูก ต่อไปถ้าจะให้เศรษฐกิจเติบโตยั่งยืนและแข่งขันได้ ต้องสร้างและเพิ่มจำนวนบริษัทนวัตกรรม ซึ่งประเทศต้องมี innovation ecosystem ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจสำหรับบริษัทกลุ่มนี้ หากได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนกับคุณมุขยา จะช่วย สอวช. ในการจัดทำนโยบายด้านนี้สำหรับประเทศไทย ขอบพระคุณท่านอาจารย์วิจารณ์มากครับ

ประสบการณ์คุณมุขยา สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยกำลังประสบเวลานี้ จำเป็นอย่างมากที่ประเทศไทยต้องขยับออกจากโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเดิมที่อาศัยความได้เปรียบเชิงทรัพยากรธรรมชาติและค่าแรงราคาถูก ต่อไปถ้าจะให้เศรษฐกิจเติบโตยั่งยืนและแข่งขันได้ ต้องสร้างและเพิ่มจำนวนบริษัทนวัตกรรม ซึ่งประเทศต้องมี innovation ecosystem ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจสำหรับบริษัทกลุ่มนี้ หากได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนกับคุณมุขยา จะช่วย สอวช. ในการจัดทำนโยบายด้านนี้สำหรับประเทศไทย ขอบพระคุณท่านอาจารย์วิจารณ์มากครับ

ขออนุญาติทักครับพอดีหาประวิติคุณมุขยา เลยได้ทราบว่าเป็นหลานของท่านพุทธทาสภิกขุ ด้วยน่าทึ่งมาก และแปลกใจเหมือนกันว่า Startup สาย Tech Blockchain ยังต้องใช้ connection ช่วยแนะนำกันไม่ใช้ตัวงาน เลยขอเล่างานที่ทำในนี้สะท้อนมุมมอง founder ว่าทุกคนก็หวังดีอยากสร้างมูลค่างานเพื่อประเทศไทยและโลกนี้ เราอยากผลักดันเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเช่นกัน เราต้องการโอกาสการสนับสนุนระหว่าการพัฒนาเพราะเราแข่งกับคนทั้งโลก ถ้าเราแพ้ประเทศก็แพ้ไปด้วย สิ่งที่เราต้องการคือการสนับสนุนเติมเต็มในสิ่งที่เราขาดในเวทีโลก ไม่ให้ปล่อยให้เราโดดเดี่ยวแล้วถูกฝรั่ง copy ไอเดียเราไป เราเชื่อว่าคนเก่งๆเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีด้วยกันทุกประเทศเท่าๆกันแต่สภาพแวดล้อมองค์ประกอบการเชื่อใจกันตะหากที่เป็นตัวชีวัดความสำเร็จและประเทศเรายังไม่มี เราต้องการความมั่นใจว่าจะไม่ copy ไอเดียเราไปทำเอง ซึ่งทีมพัฒนาในประเทศหลายคนก็ยังกังวลในข้อนี้ นี้คือกำแพงขวางเราที่จะรวมทีมกัน ถ้าแก้กำแพงนี้ได้ผมเชื่อว่าคนเก่งมีอีกมากเราสู้ใครก็ได้ในโลกแต่เราต้องไว้ใจเชื่อใจกันก่อน ว่าจะไม่เอาเปรียบคนตัวเล็กๆแบบเรา ขออภัยอีกที่เข้ามาในพื้นที่ comfort zone แต่ผมมีเจตนาดีกับประเทศจริงๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท