พุทธเศรษฐศาสตร์ : ความอยาก และ ความปรารถนา...


ความอยาก และ ความปรารถนา...

ความปรารถนานั้นประกอบด้วยปัญญา... ปัญญาในการหวังที่จะให้ ที่จะเสียสละ

ความอยากนั้นประกอบด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน...หวังที่จะได้ จะเอา จะมี จะเป็น หวังที่จะให้คนเคารพยกย่อง นับถือ หวังลาภสักการะ คำสรรเสริญเยินยอ...

------------------------


บุคคล ปุถุชน สมณะ ชี พราหมณ์ ที่ปรารถนาพุทธภูมิ จะตั้ง "ความปรารถนา" ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อจะพาสัตว์โลกทั้งหลายข้ามพ้นจากภัยแห่งความทุกข์ในวัฏฏสงสาร

"ความปรารถนาคือการให้... ความอยากคือการเอา..."

-----------------------

เหมือนคนที่ปรารถนาจะได้สิ่งจะต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ถึงพร้อม

ตั้งความปรารถนาไว้ที่จะเป็นหัวหน้า เป็นเจ้านาย เป็น ผอ. เป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี ทุกคนตั้งความปรารถนาได้ ไม่ผิด เพราะความปรารถนานั้น คือ การนำตำแหน่งเหล่านั้นมาทำความดี มาเสียสละ มาเป็นหัวหน้าที่ดี สร้างความสุขให้กับลูกน้อง เป็น ผอ. ที่ดี เพื่อจะได้ทำความดี ได้เสียสละ เป็นปรารถนาที่จะเป็นนักการเมืองที่ดี เพื่อจะมาปรับปรุงและพัฒนาประเทศชาติ

เหมือนดั่งความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการ

ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๓

"...ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คน ทุกคนเป็นดีได้ทั้งหมด การทำให้ บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ ทุกคนเป็นคนดี หาก แต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้ มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้..."

------------------------

ทุกวันนี้ประเทศชาติวุ่นวายเพราะ "ความอยาก"

อยากจะมียศ มีตำแหน่ง เพื่อนำยศนำตำแหน่งเหล่านั้นมามี มาเป็น มาเอาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวงพ้อง...

------------------------


การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน เราตั้งความปรารถนาได้ คือ ปรารถนาที่จะให้ จะเสียสละ ปรารถนาที่จะละซึ่งอัตตาและตัวตน

ความสงบก็ไม่เอา ความไม่สงบก็ไม่เอา

อยากให้มันสงบ อยากอยู่เงียบ ๆ ไม่อยากให้วุ่นวาย ไม่อยากปวดแข้งปวดขา

"ถ้าอยากเมื่อไหร่มีปัญหาแน่"

สมาธิแปลว่า ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง...

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมที่มาทำสมาธิแล้วไม่สงบ ก็เพราะมีความอยาก... "อยากให้มันสงบ"



------------------------

การปล่อยวางคือ "ไม่เอาอะไร" มิใช่ "ไม่ทำอะไร

การปล่อยวางคือเราทำทุกอย่างให้ดีกว่าเดิม ขยันกว่าเดิม แต่เพิ่มเติมคือ ทำเพื่อให้ เพื่อเสียสละ และตัดความอยากทั้งหลายออกไปให้หมด

------------------------

ดังนั้นพระพุทธองค์ท่านจึงทรงตรัสเรื่องของ "สัมมาทิฏฐิ" เป็นลำดับแรกในการเดินตามทางแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางอันประเสริฐ

สัมมาทิฏฐิ คือ การที่เราต้องมีความเห็นที่ถูกต้อง มีความเข้าใจที่ถูกต้อง การประพฤติปฏิบัติของเราถึงจะถูกต้อง มีฉันทะ มีความพอใจที่ประกอบด้วย "ปัญญา"

เรามาปฏิบัติธรรม ทำความเพียรทุกอย่างต้องประกอบด้วยปัญญา

จะให้ทานเป็นอามิสบูชา หรือปฏิบัติบูชา การบูชาทุกอย่างต้องประกอบด้วยปัญญา "ปัญญาแห่งการให้ การเสียสละ"



------------------------

เช่นเดียวกันกับเรื่องของหัวใจของพุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) 

ให้เราตั้งความปรารถนาในการดำเนินชีวิต ประกอบหน้าที่การงาน ทำธุรกิจต่าง ๆ โดยปรารถนาเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข

เปิดร้านขายอาหาร ก็ปรารถนาให้ผู้ที่มีทานมีความสุข ซึ่งจะแตกต่างจากคนเปิดร้านอาหารเพื่ออยากได้เงิน...

------------------------

ซึ่งเหมือนกับคำว่า "อธิษฐาน" กับ "การขอ"

การบำเพ็ญบารมีข้อหนึ่งคือ "อธิษฐานบารมี" แปลง่าย ๆ ก็ได้ว่า การอธิษฐาน คือ การตั้งจิตคิดที่จะให้ อธิษฐานจะให้สิ่งที่ดี ๆ ต่อใคร ๆ อย่างเช่นเราตื่นมาตอนเช้าเราก็ตั้งจิตอธิษฐานเลยว่า วันนี้เราจะตั้งใจทำความดี ตั้งใจที่จะเสียสละ

ซึ่งจะแตกต่างจากการขอ... ตื่นเช้ามาไหว้พระ แล้ววันนี้ขอให้ค้าาขายได้เงินมาก ๆ ถ้าเป็นอาชีพทนายความ ก็ขอให้มีลูกความเยอะ ๆ... ลูกความก็คือคนที่มีปัญหาชีวิต ก็คือคนที่ทะเลาะเบาะแว้งแย่งผลประโยชน์กัน มิได้อธิษฐานให้โลกนี้สุขสันต์จากความสงบสุข...

หรือเหมือนคนไปทำทานใส่เงินตามตู้บริจาค ใส่เงินในตู้ไปยี่สิบบาทแล้วขอให้ลูกหวยรวยเบอร์ ขอให้ถูกรางวัลที่หนึ่งได้เงินเป็นล้าน

หรือแม้แต่คนบริจาคเงินเป็นล้าน ๆ ก็ขอให้ได้ตอนตายได้อยู่ในสวรรค์ ในวิมาน การขอแบบนี้จึงไม่จัดว่าเป็นการปฏิบัติที่ประกอบด้วยปัญญา..."

-----------------------

เราเป็นผู้ให้ เราเสียสละ เราถึงมีปัญญา... เรามีปัญญา เราก็ต้องนำมาเสียสละ... เรามีปัญญา เราเสียสละ เราถึงมีความสุข... 

นี้คือตรรกะแห่งการปฏิบัติที่จะนำเราออกจากทุกข์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน



------------------------

ดังนั้นจึงขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า

จะทำสิ่งใดให้ตั้งความปรารถนา ตั้งจิตอธิษฐานไว้เสมอว่า เราจะเป็นผู้ให้ ผู้เสียสละ สิ่งที่เราทำนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม

เราไม่ได้ทำเพราะความอยากได้ อยากมี อยากเป็น เราทุกอย่างเพื่อให้ เพื่อเสียสละ เพื่อละทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน

ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข พ้นจากความทุกข์จากภัยในวัฏฏสงสาร

ปรารถนาให้ผู้อื่นได้เดินทางตามกระแสแห่งพระนิพพาน เพื่อพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอย่างแท้จริง...

หมายเลขบันทึก: 690155เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2021 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2021 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท