พุทธเศรษฐศาสตร์ : ไม่กอบโกยส่วนเกิน และถ้ามีมากเกินก็เป็นโอกาสได้ให้ ได้เสียสละ...


หลังจากที่ได้อ่านบันทึกธรรมของท่านพระอาจารย์ "พุทธทาสภิกขุ" ซึ่งได้เขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2516เรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยม” (ที่มา : https://www.baanjomyut.com/lib... )ความคิดหลักของท่านคือ ลัทธิสังคมนิยมนั้น ไม่มีการกอบโกยส่วนเกิน ไม่ปล่อยให้ใครทำอะไรตามใจตัว แต่ก็ไม่ควรเริ่มจากความบ้าเลือด อาฆาตแค้น สังคมนิยมต้องประกอบด้วยธรรมะ ประกอบด้วยหลัก 3 ประการ คือ 

  1. เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม
  2. ไม่กอบโกยส่วนเกิน ไม่ละเมิดผลประโยชน์โดยรวมของสังคม ให้ “กินอยู่แต่พอดี” ไม่ใช่กินดีอยู่ดี
  3. ต้องเคารพธรรมชาติ สรรพชีวิต และมีเมตตากรุณาต่อกัน

----------------

ข้าพเจ้าขออนุญาตเพิ่มเติมในประเด็นข้อที่สอง จากการที่ได้สัมผัสชีวิตที่พบในรั้วธรรม ดังต่อไปนี้...

เรื่องของการไม่กอบโกยส่วนตัว ไม่ละเมิดผลประโยชน์โดยรวมของสังคม ให้ “กินอยู่แต่พอดี” ไม่ใช่กินดีอยู่ดี




----------------



"ไม่กอบโกยส่วนเกิน และถ้ามีมากเกินก็เป็นโอกาสได้ให้ ได้เสียสละ..."


ในศีลหรือข้อวัตรอันหนึ่งที่ห้ามให้พวกเราสะสมอาหาร หรือรับประเคนอาหารหลังจากเที่ยงวัน รวมถึงการไม่มี "ตู้เย็น" ทำให้เราได้ให้ ให้ ให้ และให้ทุกอย่างที่เรามีแก่บุคคลอื่นไปแทบทั้งหมด

จะเป็นอาหารที่มีมากเกินไป หรือ ใครนำมาถวายเกินเวลา เราไม่สามารถเก็บได้ และเราไม่มีที่เก็บ จึงเป็นภาระและหน้าที่ของเราที่จะได้คิด คิด คิด และคิด เพื่อมอบอาหารนั้นให้แก่ผู้ที่ต้องการ

จะทิ้งให้บูดให้เน่าก็ไม่ได้ เพราะเป็น "อาบัติ" 

เราต้องเคารพต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ประชาชนถวายหรือให้มา

จะทานจะดื่มอะไรก็ต้องคิดพิจารณาให้ถ้วนถี่ จะบริโภคเข้าไปมากก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะง่วงนอนตอนบ่าย จะบริโภคหลังเที่ยงก็ไม่ได้ เพราะมีศีลเป็นข้อห้ามไว้ จะเก็บไว้พรุ่งนี้ก็ไม่ได้ เพราะก็มีศีลห้ามไว้อีก ดังนั้นส่วนต่าง ๆ ที่เกินมาจึงทำให้เราต้องฝึกให้ ให้ ให้ และให้ โดยปริยาย...

คนมาปฏิบัติธรรมที่นี่ ถ้าใครถือศีล ๕ แล้วล่ะก็ "น้ำหนักขึ้นทุกราย" เพราะจะได้รับอาหารมากมาย จากผู้ที่ทานไม่ได้หลังเที่ยงวัน

------------------

การไม่มีตู้เย็นนี้ดีมาก... เหมือนกับที่ข้าพเจ้าเคยเห็นไว้ในบันทึก 

ชีวิตที่เมืองลาว : เกร็ดเล็ก ๆ จากการไม่มี "ตู้เย็น..." https://www.gotoknow.org/posts..."


GDP (Gross Domestic Product) ที่เพิ่มขึ้นจากยอดการขายตู้เย็น มีผลต่อ มวลรวมความสุข (Gross Domestic Happiness : GDH) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ...?


การใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกิน มีน้อยก็กินน้อย มีมากก็กินพอดี ถ้ามากเกินไปก็มอบให้แก่ผู้ที่ยากไร้หรือผู้ที่ต้องการ

ทุกอย่างที่นี่ที่มีมากเกิน จะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่มจีวร เสื้อผ้า ที่อยู่อะไร หยูกยา เครื่องใช้อะไรต่ออะไร สามารถขอได้โดยไม่มีการค้าขายแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงมีคำพูดขำ ๆ ติดตลกว่า "ที่นี่อยู่ได้จนกว่าจะตาย" 

เพราะที่พักก็ไม่เสียเงิน อาหารต่าง ๆ ก็ไม่เสียเงิน เสื้อผ้าของใช้อะไรต่ออะไรก็เบิกได้ ถ้าเจ็บป่วยก็ช่วยกันดูแลรักษา หรือถ้าเป็นมากจะไปโรงพยาบาล ก็มีผู้ยินดีที่จะเสียสละพาไป เพราะการได้ดูแลผู้ป่วยนั้นถือว่า มีบุญมีอานิสงส์มาก เทียบเท่ากับการได้ดูแลอุปถัมภ์อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว

ดังนั้น ผู้ที่มีเงินหรือปัจจัยส่วนเกิน ก็นำเงินเหล่านั้นมาสร้างความดี มาเติมน้ำมันรถ แล้วนำรถรับส่งคนไปหาหมอ ไปโรงพยาบาล 

ที่โรงครัว... ถ้าขาดอุปกรณ์ทำอาหารอะไรต่าง ๆ ใครรู้ก็ถือว่าโชคดี ที่ได้นำทรัพย์ส่วนเกินภายนอก มาสร้างอริยทรัพย์ฝังไว้ภายในจิตใจ

ทรัพย์ส่วนเกินแห่งชีวิตทั้งหลาย ตายไปก็เอาไปไม่ได้ แต่ถ้าหากเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง แล้วประพฤติปฏิบัติถูกต้อง เราก็สามารถนำส่วนเกินของชีวิตทั้งหลายมาสร้างเป็นเสบียงสัมภาระธรรม ที่จะนำเราก้าวเดินต่อไปในวัฏฏสงสารหรือสังสารวัฏอันแสนยาวนานนี้ได้อย่างมั่นคง...

หมายเลขบันทึก: 690153เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2021 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2021 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท