ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๓๗. สู่การเป็นนักฟัง



หนังสือ You’re Not Listening : What You Are Missing and Why It Matters    เขียนจากการค้นคว้าทฤษฎี และการวิจัยภาคสนาม    โดยผู้เขียนคือ Kate Murphy ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการฟัง จากการทำงานเป็นวิทยากรสัมภาษณ์คนเด่นคนดังนำมาเขียนเป็นบทความในนิตยสาร

ชีวิตสมัยใหม่ทำให้คนเราฟังไม่เป็น  และถูกเบี่ยงเบนความสนใจง่าย    หลักการสำคัญในการฝึกความเป็นนักฟังคือ ใช้ความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติของตนเอง    ระมัดระวังการตั้งสมมติฐาน    และหมั่นตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์และเชิงทำความชัดเจน   

จุดอ่อนของคนเราคือมักเผลอไม่ฟังคนใกล้ชิดในชีวิตคู่ หรือเพื่อนสนิท    คิดว่า แค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่    คือคิดว่าตนรู้สิ่งที่คนใกล้ชิดจะพูด    นี่คือ closeness communication bias    เขาแนะนำให้ตั้งใจฟัง  รวมทั้งสังเกตหน้าตาท่าทาง     จะเกิดผลดีอย่างคาดไม่ถึง    ในสหรัฐอเมริกา มีนักบำบัด ใช้ couples group therapy ช่วยแก้ปัญหาคู่สมรส   ที่น่าจะเกิดจาก closeness communication bias พบว่าได้ผลดี         

พึงตระหนักว่า การฟังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์    ผมใช้วิธี “ฟังให้ได้ยินสิ่งที่เขาไม่ได้พูด”    คือได้สาระหรือความหมายเบื้องหลังถ้อยคำ     และผมพยายามฝึก “active listening”    คือฟังด้วยหน้าตาท่าทางและการตอบสนองที่ช่วยให้ผู้พูดพูด หรือสื่อสาร ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น    เกิดความมั่นใจหรือรู้สึกดียิ่งขึ้น  

นั่นคือต้องตั้งใจฟังและต้องคำถามหรือตอบสนองสั้นๆ เป็นระยะๆ     ความอยากรู้อยากเข้าใจ (curiosity) ของเรา จะช่วยกระตุ้นอีกฝ่ายหนึ่งให้สื่อสารออกมาได้คล่องยิ่งขึ้น        

กับดักที่พบบ่อยมากอีกอย่างหนึ่งคือ confirmation bias   เราจะได้ยินเฉพาะคำพูดที่ตรงกับความเชื่อของเราเท่านั้น    ดังนั้นจงอย่าจัดกลุ่มคู่สนทนาว่าเป็นคนเจน (generation) นั้นเจนนี้    เพราะจะทำให้เราคาดหวังว่าจะได้รับฟังความเห็นไปในแนวนั้นแนวนี้ไว้ล่วงหน้า   

พลังที่ยิ่งใหญ่ได้จากการฟังความเห็นที่ไม่ตรงกับความเห็นของเรา     มีผลการวิจัยวัดสัญญาณสมองเมื่อได้ฟังความเห็นทางการเมืองที่ตรงกันข้ามกับตน พบว่าเหมือนกับสัญญาณในสมองคนที่โดนหมีไล่ทำร้าย    คือสมองส่วน amygdala ทำงาน    นักฟังที่ดีจึงต้องฝึกตนเองให้มี cognitive flexibility    ซึ่งหมายถึงสามารถฟังสิ่งที่ไม่ชัดเจน หรือตรงกันข้ามกับความเชื่อของตนได้อย่างสงบ    เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เขาพูดในมิติที่ลึก    จะเห็นว่า การฟังผู้อื่น เป็นการฟังตนเองไปด้วยในตัว   

การฟังที่ดีต้องฟังพร้อมกับตั้งคำถามเป็นระยะๆ    โดยมีวิธีตั้งคำถาม ๒ แบบ คือ support response กับ shift response    เขายกตัวอย่างคู่สนทนาคุยกันเรื่องสุนัข  คนที่หนึ่งเล่าว่าครั้งหนึ่งสุนัขของตนหายตัวไปหลายวัน    หากคนที่สองตอบสนองโดยเล่าเรื่องสุนัขของตนหายไปจากบ้านเหมือนกัน อย่างนี้เป็น  shift response    คือเปลี่ยนประเด็นจากเรื่องของคนที่หนึ่ง มาเป็นเรื่องของคนที่สอง     หากคนที่สองถามว่า สุนัขตัวผู้หรือตัวเมีย แล้วในที่สุดกลับมาหลังหายไปกี่วัน   อย่างนี้เป็น support response    มีหลักการว่า ผู้ฟังควรเน้นใช้ support response   

เคล็ดลับสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือระหว่างฟัง ต้องปิดสวิตช์ “เสียงภายใน” (inner voice) ของตนเอง    เพื่อไม่ให้เสียงภายในทำให้สมาธิหลุดจากวงสนทนา    

เขาแนะนำว่า ต้องไม่ใช่แค่รู้จักฟังคนอื่น    ต้องรู้จักฟังตนเองด้วย    โดยระหว่างพูดต้องสังเกตปฏิกิริยาหน้าตาท่าทางของผู้ฟัง    เป็น feedback แก่ตนเอง    เพราะการพูดและฟังกันนั้น มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย    ไม่ใช่สนองพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง    

คำแนะนำสุดท้าย หากการพูดและฟังใช้เวลานาน จงหยุดพัก    เพราะกิจกรรมนี้ใช้พลังสมองมาก    สมองล้าได้ง่าย    สมองที่ล้าทำให้คุณภาพของการฟังและพูดลดลง         

วิจารณ์ พานิช

๒๑ มี.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 690148เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2021 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2021 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พยายามฝึกปิดสวิตช์ “เสียงภายใน” (inner voice) ของตนเองอยู่ค่ะอาจารย์

ส่วนใหญ่ คนนิยมพูดตอบโต้แบบ shift response คุยหัวข้อเดียวกันแต่เรื่องเป็นของใครของตัวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท