หากเปรียบศาสนาเสมือนใบหญ้าคา


ศาสนานั้นเป็นเรื่อง แปลกประหลาด ด้านหนึ่งศาสนามีพลังในการชักนําคนเราที่เคยใช้ชีวิตอย่างไม่มีคุณค่าให้กลายมาเป็นคนที่รู้ว่าอะไรคือคุณค่าของการที่ได้เกิดมาเป็นคน!



เมื่อเราหันเข้าหาศาสนา ทำให้เรียนรู้ว่าไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ในชีวิตเราเท่ากับตัวชีวิตเอง และ ชีวิตที่ว่านี้ยิ่งใหญ่เองไม่ได้...ความยิ่งใหญ่ของชีวิตจะปรากฏเมื่อเราเอา ตัวของเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ศาสนานั้น เหมือนห้วงมหาสมุทร

แต่ในด้านหนึ่ง ศาสนาก็อาจทําร้ายชีวิตเราได้ หากการเข้าหา และ สัมผัสศาสนานั้นเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม

พระพุทธเจ้าอีกนั่นแหละที่ตรัสว่า ศาสนานั้นในแง่หนึ่งก็เหมือนใบหญ้าคา ใบหญ้าคา นั้นมีประโยชน์หลายอย่างเช่นใช้มุงหลังคาบ้านได้ ปัญหาอยู่ที่ทําอย่างไรเราจึงจะถอนหญ้าคาขึ้นมาใช้โดยที่มันไม่บาดมือ...

พระพุทธเจ้าตรัสว่า การถอนหญ้าคาอย่างไม่ถูกวิธีนั้นเปรียบไปแล้วก็เหมือน การเข้าหาศาสนาอย่างไม่ถูกหลัก บางคนที่เข้าวัดนอกจากไม่ได้ประโยชน์จากหญ้าคาเพราะเขาหรือเธอนั้นถอนมาไม่ได้แม้แต่กําเดียว มือไม้ของเขายังชุ่มโชกไปด้วยเลือดอันเนื่องมาจากการถูกใบหญ้าคาที่คมกริบบาด
งานวรรณกรรม เรื่อง กามนิต ตามท้องเรื่องนั้น เมื่อผิดหวังจากการใช้ชีวิตก็หันเข้าหาศาสนา แต่ศาสนาที่เขาเข้าหานั้นไม่ใช่ตัวคำสอน แต่คือตัวบุคคล
กามนิตเพียรแสวงหาพระพุทธองค์  เหมือนเขาเข้าใจว่า การได้พบพระพุทธเจ้าอย่างประจันหน้ากัน ความทุกข์ทั้งหลายที่รุมเร้าลึกๆภายในชีวิตจะมลายหายไป
เขามีโอกาสได้พบพระพุทธองค์โดยบังเอิญในเรือนของนายกุมภการ

คำแนะนำต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงมีให้เพื่อเขาได้คลายทุกข์ก็ยังไม่สามารถเล็ดลอดผ่านความปราถณาแห่งศรัทธาในตัวบุคคลของกามนิตได้
 
กามนิตถูกวัวบ้าขวิดตาย คล้ายกับเรื่องของท่านพาหิยะ ที่ฟังธรรมแล้วเห็นแจ้งเป็นอรหันต์ดับทุกข์สิ้นเชิง

ท่านพาหิยะ เพียรแสวงหาพระพุทธองค์เพียงเพื่อจะมีโอกาสได้ฟังธรรม

สิ่งที่ท่านพาหิยะต้องการคือคำสอน ไม่ใช่พระศาสดา อันเป็นความปรารถนาที่ตรงข้ามกันกับกามนิต...

ความเข้าใจของกามนิตดูเหมือนจะคล้ายกับการแสวงหาของผู้ที่ได้ทราบข่าวเล่าลือว่าเพียงได้สัมผัสพระเยซูเท่านั้นโรคร้ายที่กัดกินทำให้ทนทุกข์มายาวนานจะหายเป็นปลิดทิ้ง...

แต่ท้ายสุดด้วยอานิสงส์แห่งความศรัทธาที่มีต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้จะเป็นศรัทธาที่มืดบอด กามนิตก็ได้ไปเกิดในสุคติภูมิ

ท้องฟ้าอันเวิงว้างนั่นเองที่กามนิต ได้เรียนรู้ชีวิตว่า ปัญญาเท่านั้นที่จะช่วยให้พ้นทุกข์! หาใช่ความศรัทธาแต่อย่างใด...

ชีวิตทางศาสนา ควรเป็นไปเพื่อคนอื่น มีงานมากมายที่พระ หรือ ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น สามารถทําได้เพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน การเพียรพยายาม เพื่อให้ตนเท่านั้นหลุดพ้นอาจก่อให้เกิดการหมกมุ่น เมื่อหมกมุ่นก็ อาจง่ายที่จะดําดิ่งไปหาด้านที่เป็นความมืดของศาสนา


พุทธศาสนานั้นเชื่อในความเป็นอนิจจัง ความเป็นอมตะ ยั่งยืนนิรันกาล จึงไม่มีในความคิดของพุทธศาสนา มีแต่พวกเรา... เหล่า สรรพสัตว์ที่เป็นสหายร่วมเกิด แก่ เจ็บ และตายด้วยกัน... เท่านั้นแหละที่จะผลักดันให้เกิดอะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ 

ถ้าจะมีศัตรู ของเราก็ตัวเรานี่แหละที่เป็นศัตรูอันยิ่งใหญ่ที่สุดของตนเอง หาก จะมีมิตรก็ตัวเราอีกนั่นแหละที่เป็นมหามิตรของตนยิ่งกว่ามิตรใดๆ ในโลก พุทธศาสนาสอนเอาไว้อย่างนี้ เพื่ออะไร...

ก็เพื่อเตือนสติ เราว่า... การที่เราเกิดเป็นอะไรไม่สําคัญเท่ากับการที่เราเกิดเป็นอย่างนั้นแล้ว เราจะจัดการอย่างไรกับความเป็นไปของตน นั่นเอง! จริงอยู่ว่าทุกศาสนามักสอน ความเชื่อเรื่องโลกนี้โลกหน้าเป็นจุดหมายปลายทางให้กับเหล่าศาสนิกให้ได้มีความหวัง และแนวทางปฏิบัติได้ยึดถือ

แต่ท้ายที่สุด เราต้องเลือกว่าจะอยู่ในโลกใบไหน ชีวิตใน"โลกตั้งต้น" นี้มันอาจบีบคั้นทางใดทางหนึ่งเกินกว่าจะรับได้ ก็เป็นธรรมดาที่จะมีเหตุผลอธิบายกับตนเอง เพื่อไปสู่"โลกใหม่"  นั่นก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ปัญหามีว่า เราเข้าไปอยู่ในนั้นได้ตลอดกาลมั้ย?... 

แต่ความเป็นจริง ก็แค่ปรากฎการชั่วคราว  เราต้องใช้และรับผิดชอบชีวิต"ที่นี่" ไม่ใช่"ที่โน่น" การทำให้ตนเองตายก่อนอายุขัย อย่างที่คิดเอาเองว่าสมควรแล้ว... อาจมีราคาเพียงการหนีปัญหา และก็ไม่น่าจะใช่ทางที่ประเสริฐเลย

อยู่"ที่นี่"เถอะ ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะพยายามไปอยู่ "ที่โน่น" ดีชั่วอย่างไร นี่ก็คือบ้านเรา มีปัญหาหนักหนาปานใดก็แก้มันที่นี่แหละ  ไม่ต้องรีบตาย!...


ธันรบ วงศ์ษา

หมายเลขบันทึก: 690149เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2021 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2021 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท