ผู้ที่ติดสมาธิ มักเพ่งโทษคนอื่น...


สองวันนี้ได้พิจารณาข้อธรรมะที่มีต้นเหตุสาเหตุเกี่ยวกับผู้ที่มีปัญญากับสมาธิไม่เสมอกัน...

เมื่อวานได้รับแจ้งว่า มีคนที่มาปฏิบัติธรรม เกิดข้อสงสัยและทำหนังสือสอบถามเชิงร้องเรียนไปว่า ทำไมคนที่มาจากหน่วยงานของท่านไม่สวมหน้ากากอนามัย...

คำถามนี้ก็ไม่ใช่คำถามที่แปลกอะไร แต่ปัญหาอยู่ที่ทำไมเวลาสงสัยจึงไม่ถามครูบาอาจารย์ที่อยู่ที่นี่...

เพราะถ้าถาม หรือเพียงลองสังเกตุสักหน่อย ก็จะรู้ว่า สถานที่แห่งนี้มีแนวทางปฏิบัติอย่างไร ไม่ใช่ว่าเราประมาท ไม่ป้องกัน แต่ครูบาอาจารย์ท่านคิดวิธีป้องกันมาแล้วหลายสิบปี

วันนี้ข้าพเจ้าก็ได้ชี้แจง ทำหนังสือไปยังหน่วยงานนั้นว่า... สถานที่แห่งนี้ ครูบาอาจารย์ได้เลือกสรรแล้วว่า เป็นสถานที่ที่สัปปายะ หรือเหมาะในการสร้างให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เพราะมีอากาศดี เป็นสถานที่ที่มีโอโซนในระดับต้น ๆ ของประเทศไทย

และการวางผังโครงสร้าง ทั้งทางด้านสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ สระน้ำ ทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านก็ได้เมตตาวางแผนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ดังที่ท่านเคยเมตตาปรารภให้ฟังดังนี้...

-------------

หลวงพ่อชาสอนว่า..

เวลาปลูกกุฏิ ต้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก อย่าให้ต้นไม้ขึ้นปกคลุม จนลมไม่สามารถพัดผ่านได้ เพราะจะทำให้ผู้พักอาศัยนั้นป่วย...

เป็นแนวทางเริ่มต้นที่ท่านเมตตาวางโครงสร้างในการสร้างสถานที่แห่งนี้ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗

รวมไปถึงข้อวัตรปฏิบัติอย่างหนึ่ง ที่ทำกันจนเป็นปกติ คือ ดื่มน้ำจากขวด คือเปิดฝาแล้วก็ดื่มเลย ไม่ต้องใช้แก้ว นี่เป็นเรื่องปกติที่เราทำกัน จะรู้สึกแปลก ๆ ก็ต่อเมื่อออกไปรับกิจนิมนต์ แล้วมีคนเอาแก้วมาให้ พวกเราก็จะงง ๆ กันนิดนึง แต่ก็ไม่ได้ใช้ และทุกคนจะรู้ว่า น้ำในขวดนั้น เมื่อดื่มไปแล้ว ห้ามนำไปให้ผู้อื่น หรือถ้าหากขวดน้ำเปิดแล้ว ก็ไม่ต้องไปสืบว่าเขาจะดื่มจากขวด หรือเทใส่น้ำ เราห้ามนำน้ำในขวดนั้นมาดื่มเป็นเด็ดขาด ถ้าใครไปดื่มถือว่า "ต้องอาบัติ..."

เรื่องอาบัติก็แปลง่าย ๆ ว่าเป็นบาป เป็นกรรม สำหรับผู้กระทำ

บาปกรรมก็ไม่ใช่อะไรที่ไกลตัว อย่างเช่นข้อเรื่องน้ำดื่มนี้ ถ้าเราไปดื่มน้ำขวดที่เหลือ เราต้องอาบัติก็คือ เราอาจจะติดโรคจากผู้ที่ดื่มน้ำขวดนั้นก่อนได้ เมื่อก่อนที่ยังไม่มีโควิด พวกเราก็จะสอนกันว่า ระวังไวรัส B นะ ซึ่งนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ทำกันมานานหลายสิบปี

ฉันอาหารในภาชะเดียว ของใครของมัน

พวกเราทุกคนที่อยู่ที่นี่จะมีภาชนะใส่อาหารใบเดียวก็คือบาตร และรวมอาหารทุกอย่างลงในบาตร มีช้อนสั้น ๆ คือช้อนตักแกงหนึ่งคัน แก้วน้ำหนึ่งใบ ของใครของมัน เวลาล้าง ก็จะมีผ้าส่วนตัวสำหรับเช็ดให้แห้ง เวลาตักอาหาร ก็มีข้อวัตรปฏิบัติอยู่แล้วว่าห้ามพูดห้ามคุยกัน ทุกอย่างเราทำกันมาเป็นปกติ ไม่ต้องใส่แมสก์ก็ไม่มีน้ำลายกระเด็น เพราะทุกคนมีสติอยู่ว่า "ห้ามพูด ห้ามคุย"

ที่พัก ก็ให้ห้องคนละคน ไม่ให้คลุกคลีกัน เพราะธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลีในหมู่ในคณะ ธรรมเหล่านั้นมิใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ที่เล่ามานี้เป็นเพียงเบื้องต้น มีข้อวัตรปฏิบัติอีกร้อยแปดพันเก้าประการ ที่เป็นข้อห้ามทางกายให้เราอยู่ห่างไกลกัน มิใช่เพียงแค่ป้องกันโรคทางกายเท่านั้น แต่สามารถป้องกันโรคทางใจได้อย่างชะงักอีกด้วย

อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ เราต้องออกกำลังกายให้แข็งแรง... การออกกำลังกายของเราก็ไม่ใช่ไปเข้าฟิตเนส แต่เป็นการตื่นแต่เช้าออกไปบิณฑบาต ไปไหนมาไหนแล้วก็เดิน บางครั้งก็ออกไปเดินในป่าระยะสั้น ออกพรรษาหน้าแล้ง เราก็ไปเดินธุดงค์ระยะยาว แรมสัปดาห์ แรมเดือน หรือแม้กระทั่งในวันโกน (ก่อนวันพระ) ก็จะมีข้อวัตรเรื่องของ "เรือนไฟ" คือ การให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าไปใช้ "ห้องอบยา" เพื่อขับเหงื่อ ขับสารพิษออกจากทางผิวหนัง หรือแม้กระทั่งเรื่องของการขบการฉัน ที่มีประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจกับทุกคณะที่มา ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่า การอดอาหารหลังเที่ยง คือ การห้ามเคี้ยว แต่ดื่มนมได้

แท้ที่จริงตามพุทธวินัยมิใช่อย่างนั้น บางอย่างเคี้ยวได้ถ้าหากสิ่งนั้นเป็นยา เป็นปรมัตถ์สมุนไพร แต่นมนี่แหละ ดื่มไม่ได้ นมทุกชนิด จะเป็นนมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ น้ำฟักทอง น้ำผัก น้ำผลไม้ที่ผลใหญ่กว่ามะตูม อันนี้ดื่มไม่ได้ เพราะจัดว่าเป็น "อาหาร"

ยาปรมัตถ์สมุนไพร ได้แก่อะไรบ้าง... ก็จำพวก หอม กระเทียม ตะไคร้ ใบมะกรูด สมอ มะขามป้อม เป็นต้น ผู้ที่ป่วยหรืออาพาธสามารถฉันหรือทานหลังเที่ยงได้ 

สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราทำกันมาหลายสิบปี หรือเป็นร้อยปี ก่อนที่จะมีโควิดระบาดซะอีก

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าคิด สำหรับนักปฏิบัติธรรมรุ่นใหม่ ๆ ที่ส่วนใหญ่มีความรู้เยอะ อ่านหนังสือมามาก ที่สำคัญติดในคำว่า "สมาธิ"

ผู้ที่ติดในสมาธินั้นส่วนใหญ่ก็จะมีอุปนิสัยในการ "เพ่งโทษ" คนอื่น

คือพูดง่าย ๆ ก็ คิดว่าตัวเองนี้เก่ง ตัวเองดี ปฏิบัติถูก คนอื่นไม่ดี ไม่เก่ง ปฏิบัติผิดหมด นี่แหละปัญหาใหญ่ที่ทำให้เรื่องเล็ก ๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้

ครูบาอาจารย์ท่านจึงเน้นย้ำเรื่องของ การที่ทุกคนจะต้องมีความเห็นที่ถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง การประพฤติปฏิบัติถึงจะเดินไปได้อย่างถูกต้อง

ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาถือว่าเป็นโอกาสในการภาวนาทำให้เราเกิดปัญญา ถ้าหากว่าเราน้อมใจเข้าสู่ธรรม มิได้น้อมเอาธรรมะมาปรับมาใช้ เพียงเพื่อเป็นอาวุธหรือศาสตราในการทำร้ายบุคคลอื่น...

การทำสมาธินั้นเป็นสิ่งดี แต่อย่าพึงไปติดในสมาธิ 

ถ้าทำสมาธิมากเกินก็ติดสงบ ใช้ปัญญามากเกินก็ฟุ้งซ่าน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำให้สมดุล เพราะธรรมะ ก็คือ ธรรมชาติ เป็นสิ่งที่สะอาด บริสุทธิ์ และสิ้นสุดแห่งความเห็นแก่ตัว...

------------------------------



สรุปสุดท้าย... เมื่อเรามาที่นี่ เราจะได้ยินคำพูดง่าย ๆ ที่ครูบาอาจารย์มักพูดว่า "หายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย" คำพูดนี้ มิใช่ท่านพูดอย่างเดียวนะท่านเสียสละทำทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้เราตั้งแต่เลือกสถานที่สร้างวัด พาญาติโยมขุดสระ ปรับภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ เดินท่อประปา ทำถนนหนทาง ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ แล้วนิยามออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า "หายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย หายใจเข้าให้มีความสุข หายใจออกให้มีความสุข..."

ถ้าใครยังไม่เข้าใจ ก็พึงพินิจพิจารณาให้ดีเนอะ


หมายเลขบันทึก: 689952เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2021 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2021 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท