ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๒๗. ธรรมชาติของมนุษย์



หนังสือ Behave : The Biology of Humans at Our Best and Worst (2017)  เขียนโดยศาสตราจารย์  Robert Sapolsky  แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด    เป็นหนังสือ New York Times Best Seller   ซึ่งสามารถฟังการบรรยายสาระในหนังสือเล่มนี้ได้ที่ (๑)

ฟังการบรรยายเรื่อง Behavioral Evolution ของท่านผู้เขียนได้ที่ (๒)เป็นการบรรยายในปี ค.ศ. 2011   ที่มีคนเข้าชมกว่า ๒.๕ ล้านครั้ง    อธิบายสัตว์ ๒ จำพวก คือ tournament species  กับ pair-bonding species    โดยที่มนุษย์อยู่กึ่งกลาง    เป็นการบรรยายที่ให้ความกระจ่างเรื่องพฤติกรรมสัตว์และมนุษย์ได้ดีเยี่ยม    โดยเริ่มจากหลักการ individual selection, kin selection, altruism     แต่ที่คนเข้าชมถึงกว่า ๗ ล้านครั้งคือการบรรยาย Introduction to Human Biology ที่สแตนฟอร์ด (๓)   นอกจากนั้น[VP1] ยังมีรายการสัมภาษณ์ ตั้งคำถามลึกๆ ที่น่าสนใจมาก (๔)   

มนุษย์เป็นสัตว์สองหน้า   มีทั้งหน้าโหดร้าย  และหน้าเมตตาเห็นอกเห็นใจคนอื่น    โดยพฤติกรรมของมนุษย์มาจากปฏิกิริยาเคมีในสมอง และจากสังคมแวดล้อมตัวมนุษย์    พฤติกรรมที่แตกต่างกันเกิดจากสมองต่างส่วนเข้ากำกับ   

พฤติกรรมมนุษย์เป็นสิ่งซับซ้อน เกิดจากปัจจัย ๓ อย่างประกอบกัน คือ ชีววิทยาของสมอง, วัฒนธรรม, และประวัติศาสตร์    สามปัจจัยหลักนี้ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมแตกต่างกัน     ตั้งแต่ดีสุดๆ ไปถึงเลวสุดๆ   

พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงควบคุมโดยสมองสองส่วน คือ amygdala  กับ frontal cortex     สมองส่วน amygdala เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมรุนแรง และความกลัว     แต่สมองส่วน frontal cortex ทำหน้าที่ยับยั้ง หรือทำหน้าที่ด้านเหตุผลวิจารณญาณ    

พฤติกรรมมนุษย์เกิดขึ้นสนองสัมผัสทั้งห้าที่เป็นตัวกระตุ้น    โดยที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่งสัญญาณไปยังสมองอยู่ตลอดเวลา    เช่นประสาทตาส่งสัญญาณของคนแปลกหน้า    สมองจะแปลงสัญญาณหาความหมายว่ามาดีหรือมาร้าย    เขาบอกว่า สมองไวต่อสีผิวกาย   จากการวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า หากเห็นคนผิวขาว สมองจะทำงานรับรู้เพียงหนึ่งในสิบวินาที    แต่หากเป็นคนต่างเชื้อชาติ amygdala จะถูกกระตุ้นให้ระวังตัว    หากภาพนั้นอยู่นาน สมองส่วน frontal cortex จะเข้ามาทำหน้าที่พิจารณา    และขจัดความกลัวที่ amygdala ตีความ ออกไป      

นี่คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลไกสมองกับวัฒนธรรม    ที่ยังมีผลการทดลองอีกมากมายที่บอกเราว่า    เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่จะสั่งสมประสบการณ์ เอาไว้ป้องกันตัว     ซึ่งก็จะมีผลต่อจิตใต้สำนึกต่อคนต่างผิวต่างเชื้อชาติ    ผู้เขียนบอกว่าลูกศิษย์ที่เป็นคนดำ เมื่อเดินกลับบ้านยามค่ำคืน จะผิวปากเป็นเพลงคลาสสิค เพื่อป้องกันคนเข้าใจผิดว่าเป็นคนร้าย  

จิตใต้สำนึกที่มีผลต่อพฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งคือพฤติกรรมของชายหนุ่มในท่ามกลางสาวๆ    เขามีแนวโน้มจะซื้อของราคาแพงอย่างไร้เหตุผล    ผู้เขียนบอกว่า เป็นการส่งสัญญาณที่เรียกว่า mating signals   นี่ก็เป็นเรื่องความซับซ้อนของอารมณ์มนุษย์  

ฮอร์โมนก็มีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์    เรามีฮอร์โมนแห่งความเครียด (cortisol),  ฮอร์โมนแห่งความรุนแรง (testosterone),  ฮอร์โมนแห่งความสุขความเมตตา (oxytocin)     ความรู้เหล่านี้มาจากความก้าวหน้าของ neuroscience เปิดช่องให้นำมาทำความเข้าใจบ่อเกิดของพฤติกรรมมนุษย์    หรือวิชา behavioral science 

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมคิดถึงชีวิตในปี ๒๕๑๐ ที่ไปเรียนหลักสูตรปริญญาเอกด้านมนุษยพันธุศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมือง แอนน์ อาร์เบอร์     และได้หลักการพื้นฐานของวิชานี้ว่า    Phenotype = Genotype + Environment    แปลความได้ว่าพฤติกรรมของมนุษย์ขึ้นกับ ยีนและสภาพแวดล้อม  

หนังสือเล่มนี้ให้หลักฐานว่า ในเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ ยีนมีอิทธิพลน้อยกว่าสภาพแวดล้อม    รวมทั้งสภาพแวดล้อมยังมีอิทธิพลเปลี่ยนฤทธิ์ของยีนได้โดยไม่ต้องมีการกลายพันธุ์ตามด้วยการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ซึ่งใช้เวลายาวนานเป็นศตวรรษ    แต่สภาพแวดล้อมสามารถเปลี่ยนฤทธิ์ของยีนได้โดยยีนไม่เปลี่ยน แต่กลไกการกำกับการทำงานของยีนเปลี่ยน    ที่เรียกว่า epigenetic   โดยที่การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้  โดยอาศัยอิทธิพลของสภาพแวดล้อม   

พฤติกรรมของมนุษย์มีที่มาจากสมอง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์    โดยที่มีปัจจัยที่ซับซ้อนมาก ทำให้มนุษย์แตกต่างกันได้อย่างสุดขั้ว ในเรื่องพฤติกรรม    วัฒนธรรมหรือพฤติกรรมของคนรอบตัวตั้งแต่เกิดทำให้ amygdala ของบางคนใหญ่กว่าคนทั่วไป    บางคนมี frontal cortex ใหญ่กว่าคนทั่วไป    คนกลุ่มแรกมีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเมื่อถูกกระตุ้น    ในขณะที่คนกลุ่มหลังจะเป็นคนรอบคอบ มีวิจารณญาณ    การเลี้ยงดูและการศึกษาสร้างสมองให้เป็นแบบใดแบบหนึ่งได้    อิทธิพลของการศึกษาและการเลี้ยงดูจะสูงมากในช่วงเป็นเด็กเล็ก และช่วงวัยรุ่น  

อิทธิพลของวัฒนธรรมต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เห็นได้จากอัตราการเกิดฆาตกรรมในฮอนดูรัส สูงกว่าในสิงคโปร์    ๔๕๐ เท่า    

วัฒนธรรมที่ต่างกันแบบสองขั้วคือ วัฒนธรรมปัจเจกนิยม (individualist)   กับวัฒนธรรม กลุ่มนิยม (collectivist)     คนที่เกิดและเติบโตในวัฒนธรรมแรกจะมีพฤติกรรมที่เน้นสิทธิส่วนบุคคล และความสำเร็จของตนเอง    ในขณะที่คนที่เกิดและเติบโตในวัฒนธรรมหลังจะมีพฤติกรรมที่เน้นผลประโยชน์ของกลุ่มมากกว่าผมประโยชน์ของปัจเจก    นักประสาทวิทยาศาสตร์พฤติกรรม ทำการทดลองที่ให้หลักฐานว่าสมองของคนกลุ่มปัจเจกนิยมปล่อยประกายแรงมากเมื่อเห็นภาพของตนเอง  แต่ประกายอ่อนเมื่อเห็นภาพของญาติ    ความแตกต่างนี้น้อยมากในคนกลุ่มนิยม      

       ระบบนิเวศน์ และภูมิศาสตร์ ก็มีอิทธิพลสำคัญต่อพฤติกรรมของมนุษย์    นี่คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการ   เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นร้อยเป็นพันปี    เขายกตัวอย่างสังคมชาวนาปลูกข้าว    ที่สภาพการทำนาต้องการความร่วมมือช่วยเหลือกัน    สังคมชาวนาจึงมีวัฒนธรรมกลุ่มนิยม    ในขณะที่ทางเหนือของจีน อากาศหนาว ต้องปลูกข้าวสาลี    ซึ่งเป็นเกษตรกรรมแบบตัวใครตัวมัน    คนในพื้นที่นั้นจึงมีวัฒนธรรมปัจเจกนิยม    อัตราหย่าร้างสูง     ในขณะที่ในวัฒนธรรมกลุ่มนิยมอัตราหย่าร้างต่ำ    

การเป็นอนุรักษ์นิยมหรือหัวก้าวหน้าทางการเมือง ก็มีรากลึกอยู่ในสมอง    เขาทำการทดลองพบว่า คนกลุ่มอนุรักษ์นิยมมี amygdala ใหญ่     ส่วนพวกหัวก้าวหน้ามี frontal cortex ใหญ่     

ความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy) ควบคุมโดยสมองส่วน ACC (Anterior Cingulate Cortex) ซึ่งมีใยประสาทเชื่อมกับทั้ง amygdala และ frontal cortex     ความเชื่อมโยงนี้บ่งชี้ว่า empathy มีเป้าหมายเพื่อความอยู่รอดของตนเอง มากกว่าเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น   

Compassion (ความเมตตา) เป็นเรื่องของ frontal cortex    เขาบอกว่า ต้องแยก compassion กับ empathy ออกจากกัน    ความเมตตาเป็นเรื่องของสมองส่วนเหตุผล ไม่เกี่ยวกับอารมณ์ส่วนที่เกี่ยวกับความกลัว     ช่วยให้อยู่กับอารมณ์บวก และพฤติกรรมทำเพื่อสังคม  

วิจารณ์ พานิช

๒๑ มี.ค. ๖๔



หมายเลขบันทึก: 689894เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2021 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2021 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท