ความรู้ ความเชื่อ และ ความจริง ตอนที่ 2



ความรู้ ความเชื่อ และ ความจริง   #2 
บันทึกบทความที่เขียนลงใน Application Blockdit : วิรุฬหก


เกลือเค็ม พริกเผ็ด มะนาวเปรี้ยว ของทั้งสามอย่างนี้มีคุรสมบัติเฉพาะตนคือ  เวลามีคนเอาเกลือใส่ปาก คนเราจะรู้สึกว่ามีรสชาติบางอย่างที่ปลายประสาทลิ้น เราเรียกรสนั้นว่า เค็ม สมมุติว่าวันหนึ่งมีสงครามล้างโลก หรือภัยพิบัติใดๆ คนตายกันหมด แต่เกลือยังมีอยู่ เกลือก็มีคุณสมบัติของมันอย่างนั้นต่อไป ผ่านไปหลายล้านปี อาจมีมนุษย์เกิดขึ้นมาใหม่ เมื่อเอาเกลือใส่ปาก มนุษย์พวกนั้นก็จะรู้สึกเค็มเหมือนเราสมัยนี้ นี่คือความจริงของเกลือ พริกกับมะนาวก็ทำนองเดียวกัน คุณสมบัติเฉพาะตัวคือความจริงนอกภาษา ที่เราเรียกว่า “Reality” ซึ่งคำไทยเรียกความจริงนอหภาษาแบบนี้ว่า  “ความเป็นจริง”

ในคัมภีร์พุทธศาสนาก็มีข้อความว่า พระนิพพานนั้น ไม่อาจพิสูจน์ด้วยภาษา ด้วยตรรกะวิธี (สำหรับผู้เขียนคิดว่าเป็นการใช้ภาษาอีกแบบ) สมมุติเรามีเพื่อนชาวต่างชาติมาเยี่ยมเรา เขาไม่เคยกินพริกมาก่อน ได้ยินแต่เสียงร่ำลือว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ในเมื่อเราอยากให้เขารู้เกี่ยวกับพริกว่ารสชาติเป็นอย่างไร ก็ไม่ต้องเสียเวลาอธิบายเลย บอกให้เขายัดใส่ปากแล้วลองเคี้ยวดู เดี๋ยวก็จะรู้เองว่าความจิงของพริกเป็นอย่างไร ความเป็นจริง (Reality) จึงมาคู่กับ การรู้  (Knowing)

ความจริงที่ยากจะเถียงก็คือ เราสร้างสิ่งต่างๆขึ้น เพื่อใช้งาน เช่นสร้างปากกาเพื่อเขียน สร้างหนังสือเพื่ออ่าน สร้างจักรยานเพื่อปั่นไปเที่ยว หรือทํางาน ของสําหรับใช้งานที่กล่าวมาข้างต้นเป็นวัตถุ สิ่งที่ไม่ใช้วัตถุเช่นวิชาความรู้ก็สามารถพิจารณาได้เช่นกันว่าเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเพื่อใช้งาน เช่นเราสร้างแพทยศาสตร์ขึ้นเพื่อรักษาความเจ็บป่วย เราสร้างรัฐศาสตร์ขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักวิชาในการปกครองและบริหารบ้านเมือง เราสร้างวิทยาศาสตร์ขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักในการเข้าใจโลกธรรมชาติ เป็นต้น

ซึ่งถ้าเราต้องการให้คนอื่นเข้าใจหรือรับรู้ความคิด ของเรานั้น เราจึงเขียนลงเป็นตัวหนังสือ ในสมัยที่ภาษาเขียนยังไม่แพร่หลาย เราจะถือว่า ภาษาพูดก็เป็นภาษาอย่างเดียวกับภาษาเขียน ดังนั้นกิจกรรมที่เรียกว่าการเขียนเราจะรวมเอาการพูดด้วย ตัวอย่างของผู้ที่มีความคิดบางอย่างของตนเอง และประสงค์ให้คนอื่นร่วมรับรู้สิ่งที่ตนรู้นั้นก็เช่นพระพุทธเจ้า ตามคัมภีร์พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจะเสด็จออกไปพบผู้คนเสมอ หากเป็นไปได้ และเมื่อไปพบผู้คน ก็จะทรง “พูด” อะไรบางอย่างกับพวกเขา ในการพูด ทรงเปิดโอกาสให้คนที่ทรงพูดด้วยชักถาม การสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับผู้คนตามที่กล่าวมานี้ ต่อมาได้มีการถ่ายทอดลงเป็นหนังสือที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่าพระไตรปิฎก

แนวคิดทางปรัชญาและศาสนาอินเดียโบราณ มีอุดมคติ สนใจศึกษาใจของคนเพื่อหาทางปรับปรุงให้สามารถควบคุมใจให้มีอำนาจ สงบและเยือกเย็น พระพุทธเจ้าทรงศึกษาใจมนุษย์ผ่านทางศึกษาใจของพระองค์เอง ทรงทดลองทำบางอย่างกับพระวรกายของพระองค์ เช่นทรมานตนอดอาหาร เพื่อทดสอบว่าจะมีผลอย่างไร  เมื่อทดสอบหนำใจแล้วว่าไม่มีผล หรือมีแต่ไม่มาก หรือไม่เป็นไปในทางที่ทำให้ใจสว่างไสวเงียบสงบ ก็ทรงละทิ้งแนวทางนั้น หันไปแสวงหาแนวทางใหม่ คัมภีร์ไม่ได้บันทึกรายละเอียดว่าทรงทำอะไรบ้าง แต่บันทึกสั้นๆว่า ในคืนวันเพ็ญเดือนหก ก็ทรงมั่นใจว่าได้พบหนทางแห่งการฝึกฝนจิตให้บรรลุเป้าหมายแห่งความสงบระงับอันยิ่งยวดนั้น

เราเรียกประสบการณ์ทางใจของพระองค์อันนี้ว่าการ “ตรัสรู้” สมมุติว่า มีความจริงชุดหนึ่งที่ทรงรู้เกี่ยวกับธรรมชาติจิตใจมนุษย์ เมื่อรู้แล้ว คนที่รู้จะหลุดพ้นจากอะไรบางอย่าง ที่พระพุทธศาสนาเราเรียกว่า “อวิชชา” ซึ่งเราชาวบ้านทั่วไป ยังไม่รู้อะไรมากกับสภาพจิตใจที่เรียกชื่ออย่างนี้  ก็มีผู้ที่พยายามจะอธิบายที่เรียกว่าพระอรรถกถาจารย์ เกิดขึ้น แต่ผุ้ที่รู้ดีที่สุดในขณะนั้นก็คือพระพุทธเจ้า เราก็เมล หรือไลน์ไปถามพระองค์ไม่ได้แล้ว เพราะทรงนิพพานคือตายจากโลกนี้ไปแล้ว

ที่เมื่อก่อนเพราะมีสิ่งนี้อยู่ จิตใจเราจึงไม่เป็นอิสระจากทุกข์ ซึ่งความรู้แบบนี้พระพุทธองค์ตรัสว่าไม่เกี่ยวข้องกับภาษา  จึงมีสภาพเป็น การรู้  (Knowing) ไม่ใช่ความรู้ (Knowledge)

การตรัสรู้ก็เหมือนการลิ้มรสอาหาร ไม่ต้องใช้ภาษา ไม่ต้องการคำอธิบาย แต่คือประสบการณืตรงต่อเรื่องนั้นๆ และประสบการณืแบบนี้ย่อมเป็นเรื่องส่วนบุคคลของใครของมัน  ต่อให้ดื่มกาแฟแก้วเดียวกัน ดดยคนสามคน รสกาแฟที่แต่ละคนรับรู้ก็เป็นของใครของมัน เล่าให้คนอื่นฟังก็ยากจะเข้าใจ นอกจากกระดกใส่ปากเอง พระธรรมอันหมายถึงประสบการณ์ทางจิต อันเป็นผลจากการทำอะไรบางอย่างที่เรียกรวมๆว่า ประพฤติธรรม จึงมีสภาพเป็น ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ “สิ่งที่บุคคลรู้ได้เฉพาะตน”

นอกจาก ความเป็นจริง (reality) ยังมีความจริงอีกแบบที่เกี่ยวข้องกับภาษา คือคำว่า “truth” โดยศัพย์นี้ทางราชบัณฑิตยสภาแนะให้เรียกว่า “ความจริง” เริ่มงงล่ะสิ ผู้เขียนพิมพ์เองก็ยังงง ต้องทำความเข้าใจหลายรอบ เอาให้ตรงที่สุดคือ เป็นความจริงที่แต่เดิมมีสภาพเป็น reality แล้วก็มีคนบางคนไปรู้เข้า  (คือมี Personal Knowing of reality) เขาเห็นว่ามีประโยชน์ อยากให้คนอื่นรู้เห็นตามที่ตนเห็นจึง “ห่อ” เอามาฝาก ของที่ใช้ ห่อ “ความเป็นจริง”ไม่ใช่กระดาษ หรือวัสดุใดๆ  แต่คือภาษา ความเป้นจริงที่ถูกบรรจุลงหีบห่อของภาษานี้ เรียกกันในวงการปรัชญาว่า “ความจริง” (truth) และการรู้ความจริงแบบนี้เรียกว่า “ความรู้” ที่วงการปรัชญาเรียกว่า knowledge

จากที่กล่าวมาขอสรุปอีกทีว่า คำ๔คำในภษาอังกฤษคือ “knowing” “knowledge” “reality”และ “truth” สี่คำนี้จับคู่กันได้ คือ knowing คู่กับ reality  และ knowledge คู่กับ truth ยกตัวอย่าเพื่อให้เข้าใจและจำได้แม่นคือ นายธราดล กับนายธันรบเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งนายธราดลเข้าป่าลึก ไปเห็นน้ำตกสวยงามมองเห็นน้ำตกนั้นไหลรินเลื้อยเลาะผ่านไปตามหุบเขา เป็นลำธารใสแจ๋วเล็กๆ ในลำธารก็มีปลาน้อยใหญ่หลายชนิด แต่มีปลาตัวเล็กชนิดหนึ่ง นายธราดลลองจับเอามาแกงกินที่บ้าน กนแล้วมันช่างอร่อยมาก  ประสบการณ์ที่พรรณามาเนื่องจาเป็นเรื่องนอกภาษา เป็นประสบการณ์ตรงที่ถือว่านายธราดลไปประสบนั้นมีสภาพ เป็น reality และอาการที่เขาเห็นสิ่งเหล่านนั้นเนื่องจากไม่เกี่ยวกับภาษา เราก็เรียกอาการรู้นี้ว่า knowing วันต่อมานายธราดล มาพบกับนายธันรบสหายรัก นายธราดลจังเล่าเรื่องน้ำตกให้นายธันรบฟัง สิ่งที่นายธันรบได้ฟังนั้นไม่ใช่ reality เพราะผู้ฟังไม่มีประสบการณ์ตรง แต่เมื่อนายธันรบได้ลองทำตามทางที่นายธราดลได้แนะนำ  จนไปพบกับน้ำตกและปลาที่ว่านั้นจริง ลองจับเอามาแกงกินที่บ้านก็อร่อยจริง ตอนนี้เองที่นายธันรบได้สัมผัสกับ reality เกี่ยวกับน้ำตกและปลาด้วยตนเอง แต่ก่อนที่จะมี Personal Knowing of realityนี้ นายธันรบได้รับรู้สิ่งหนึ่งคือข้อความที่บรรยายความเป้นจริงเกี่ยวกับน้ำตกและปลา ข้อความนี้ นายธันรบไม่มั่นใจว่ามันเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด แต่เมื่อพบเห็นด้วยตนเองแล้ว สภาพที่นายธราดลบรรยายมาทั้งหมดเกี่ยวกับน้ำตกและปลาเป็นสภาพความเป็นจริง แต่ความเป็นจริงนี้คุณสมบัติเป็นข้อความ จึงเป็น truth ไม่ใช่ reality และการรู้ truth ก็เป็น knowledge ไม่ใช่ knowing

Knowing : การรู้  / reality :ความเป็นจริง   ไม่เกี่ยวกับภาษา

Knowledge ความรู้ /truth : ความจริง    เป็นข้อความ /เกี่ยวข้องกับภาษา

เราคนไทยมีความเข้าใจเรื่องความต่างของคำว่าแห้ง และสดดี จึงขอใช้กับ

Knowing ว่า รู้สด ส่วน  Knowledge รู้แบบแห้ง นายธันรบเมื่อได้ฟังเพื่อนรักบรรยายเรื่อน้ำตกและปลาก็รู้อะไรขึ้นมากทีเดียว แต่รู้อย่างแห้ง คือไม่มีชีวิตชีวาเนื่อจากไม่ได้สัมผัสตรงๆ  แต่เมื่อไปรู้ไปเห็นของจริง ความรู้อย่าหลังนี่เรียกว่าของสด ศัพท์เทคนิคทางบาลีมีคำเรียกความรู้สองแบบนี้ รู้แห้งเรียกว่า “ปริยัติ” รู้สดเราเรียกว่า “ปฏิเวธ” คงเหมือนกับการอ่านตำราขับรถ อ่านทฤษฎีการว่ายน้ำ แม้จะเข้าใจ ก็ไม่เหมือนได้ลงสนามได้ลงสระจริงๆ ทำให้นึกถึง การเรียนการสอนออนไลน์จากจอมอนิเตอร์ ที่กำลังอินเทรนในตอนนี้

ปัญหาเรื่องความสามารถทางภาษาของผู้เล่าเรื่องเป็นเรื่องที่คนในวงการประพันธ์หนังสือ เข้าใจกันดี เศรษฐีสมัยใหม่จึงต้องแสวงหานักเขียนที่เขียนหนังสือเก่งเพื่อเขียนประวัติให้แก่ตนเอง ด้วยค่าจ้างที่แพงมาก เป็นไปได้ที่คนจ้างจะลองเล่าเรื่องราวของตนให้นักเขียน สามคนฟัง แล้วให้สามคนนี้เรียบเรียงสิ่งที่ตนได้ยินได้ฟังจากปากคนเดียวกันนี่แหละ เมื่ออ่านงานเขียนที่สามคนนี้เรียบเรียงมาส่ง แน่นอน งานต้องแตกต่างกัน คนที่มีความสามารถทางภาษาดีที่สุดก็จะเขียนงานออกมาได้สมบูรณ์ ครบถ้วน และชวนอ่านมากกว่าคนอื่น หากคนว่าจ้างตาถึง เขาย่อมจะจ้างคนมีฝีมือที่สุด คนที่มีความสามารถทางภาษาดีที่สุด ทั้งในแง่การจับสาระของสิ่งที่ตนได้ฟัง และเอาสาระนั้นมาเรียงร้อยเป็นถ้อยอักษร จะเป็นคนที่เขียนงานออกมาดีที่สุด

ในเชิงข้อเท็จจริง เราไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงพูดอะไรกับใครไว้มากน้อยเท่าใด และ ที่ปรากฏเป็นตัวหนังสือในพระไตรปิฎกและเชื่อกัน ตลอดจนระบุว่าเป็นคําพูดของพระพุทธเจ้า จะเป็นคําพูดของพระพุทธเจ้ามากน้อยเพียงใด ก็ย่อมเป็นปัญหาที่วงการประวัติศาสตร์ในโลก ตระหนักทราบและเข้าใจดี แต่ในทางศาสนาและวัฒนธรรม ชาวพุทธจะเคารพสิ่งที่เชื่อว่าเป็นพระพุทธวจนะที่แปลว่าคําพูดของพระพุทธเจ้า ในสายตาของนักวิชาการเช่นนักประวัติศาสตร์ และนักปรัชญา คัมภีร์ทางศาสนาในทุกศาสนาในแง่ที่เป็นตัวหนังสือย่อมต้องมาจากมือของคน หมายความว่า เมื่อเราเปิดคัมภีร์จะของศาสนาใดก็ตามออกอ่าน ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ไบเบิ้ล คัมภีร์อัลกุรอาน คัมภีร์พระเวท หรือพระไตรปิฎก เราจะเห็นตัวอักษรเรียงกันอยู่เป็นข้อความ ตัวหนังสือเหล่านี้มีสองแบบ คือตัวหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดที่ใช้จารึกคัมภีร์ศาสนานั้น เช่นหากเป็นพระไตรปิฎกก็คือภาษาบาลีที่เป็นภาษาโบราณภาษาหนึ่งของอินเดีย อีกแบบหนึ่งก็คือ ตัวหนังสือในภาษาที่ไม่ใช่ภาษาดั้งเดิมที่ใช้ในการจารึกคัมภีร์ เช่นพระไตรปิฎกฉบับแปลไทย อังกฤษ ลาว เขมร ฝรั่งเศส เป็นต้น เราจะพิจารณาตัวหนังสือที่อยู่ในภาษาที่เก่าแก่ที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเปิดพระสูตรในพระไตรปิฎกภาษาบาลีอ่าน เรามักเห็นข้อความในตอนต้นของพระสูตรว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ... ที่แปลเป็นไทยว่า สมัยหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้

ข้อความนี้เราพิจารณาได้สองส่วน

๑. ตัวอักษรภาษาบาลี (ภาษาบาลีเดิมมีแต่เสียง ต่อมาเมื่อมีการบันทึกเสียงบาลีลงเป็นตัวหนังสือ ประเทศต่างๆก็ใช้อักขระในภาษาของตน เป็นสื่อ เช่นในอินเดียก็ใช้อักขระอินเดีย ฝรั่งก็ใช้อักขระฝรั่ง ไทยก็ใช้อักขระไทย เป็นต้น)

อักขระเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ ดังนั้นข้อความข้างต้นปรากฏในพระไตรปิฎกได้เพราะมีคนเขียนลงไป เราต้องคิดว่ามีคนเขียนลงไป ส่วนจะเป็นใครยกไว้ก่อน แต่คนผู้นั้นตามประวัติศาสตร์คงไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกในแง่ที่เป็นหนังสือทั้งสี่สิบห้าเล่ม (ของไทย) ไม่ใช่หนังสือที่พระพุทธเจ้าทรงนั่งเขียนด้วยมือของพระองค์ แต่มีคนเขียนให้ โดยคนเขียนจํานวนมากอ้างว่าเขียนตามที่จําได้ว่าทรงสอนมาอย่างนี้

๒. ตัวเนื้อหา เนื้อข้างต้นเล่าว่า มีคนบางคนพูดว่า สมัยหนึ่ง เขาเคยได้ยินพระพุทธเจ้าทรงทําอย่างนี้และพูดอย่างนี้กับพระภิกษุ (รวม ภิกษุณี) สามเณร (รวมสามเณรี) อุบาสก อุบาสิกา หรือคนนอกศาสนาพุทธ โปรดสังเกตว่า เนื่องจากเนื้อหาของพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงนั่งเขียนเอง แต่มีคนเขียนให้ คนเขียนเขียนเล่าว่าเขาจําได้ว่าทรงทําอย่างนี้ ทรงสอนอย่างนี้ สิ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎกจึงเป็นเรื่องเล่า ตามประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก ผู้ที่เล่าเนื้อหาส่วนที่เป็นธรรมคือพระอานนท์ ส่วนที่เป็นวินัยผู้เล่าคือพระอุบาลี สองท่านนี้ทําหน้าที่เล่าเป็นช่วงๆแล้วที่ประชุมก็ถามว่าที่เล่ามานี้มีท่านใดเห็นต่างไหม ในแง่ที่ว่าท่านผู้นั้นอาจฟังมาต่างจากที่พระอานนท์และพระอุบาลีเล่า เมื่ออภิปรายกันลงตัวแล้ว ที่ประชุมก็จะอนุมัติข้อความที่เป็นทางการ ให้ที่ประชุมสวดสาธยายข้อความที่เป็นทางการนั้นจนจําได้ ทําอย่างนี้ไปเป็นเวลาเจ็ดเดือน ก็ได้พระไตรปิฎกมา ซึ่งจากข้อความที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกเอง ตอนนั้นเนื้อหาของพระไตรปิฎกน่าจะมีเพียงสองหมวด คือธรรม (พระสูตร) กับวินัย (พระวินัย) ยังไม่ปรากฏเนื้อหาส่วนที่สามที่เรียกกันในสมัยนี้ว่า พระอภิธรรม

ปัญหาเรื่องเนื้อหาของพระไตรปิฎก ตลอดจนคัมภีร์ศาสนาและหนังสือโบราณทั้งหลายที่เราไม่สามารถติดต่อคนเขียนเพื่อซักถามในกรณีที่มีปัญหาข้องใจบางอย่างเกี่ยวกับหนังสือนั้น เป็นปัญหา ที่หนักกว่าปัญหาเรื่องรูปแบบอันได้แก่ใครเป็นคนเรียบเรียงคําพูดของพระพุทธเจ้า ที่เรียบเรียงมานั้นผู้เรียบเรียงมีคุณสมบัติทางภาษาถึงหรือไม่ เมื่อมีการจดจําพระไตรปิฎกต่อๆ กันมายาวนาน หลายร้อยปี เป็นไปได้ไหมที่จะมีการจดจําผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิม

มีการสอดแทรกหนังสือใหม่ๆ เข้าไปในพระไตรปิฎกหรือไม่ โดยใคร เป็นต้น แม้ปัญหาเรื่องรูปแบบบางอย่างก็สําคัญ เช่น พระอานนท์ที่ทําหน้าที่เล่าว่าตนเองเคยได้ยินได้ฟังมาว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้อย่างนั้น การเล่าจะต้องใช้ภาษา คําถามมีว่า พระอานนท์มีความสามารถทางภาษาเพียงพอไหม การเล่าเรื่องจะต้องใช้ภาษา คำถามมีว่า พระอานนท์และพระอุบาลี ถามว่าสองท่านนี้มีความสามารถทางภาษามากน้อยเพียงใด เราคงไม่ทราบคําถามนี้จึงตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะไปหาคําตอบได้อย่างไร ในเมื่อสองท่านนี้ นิพพาน (ตาย) ไปนานแล้ว หากยังมีชีวิตอยู่ เราย่อมขอทดสอบท่านได้ หากท่านยินดีให้ทดสอบ เราก็คงประเมินได้ว่าความสามารถทางภาษาของท่านมาตรฐานมากน้อยเพียงใด

เนื้อหาของพระไตรปิฎกอาจแบ่งออกได้เป็นสองส่วนหยาบๆ (คือแบ่งกว้างๆ ไม่ละเอียด) หนึ่ง พระไตรปิฎกที่อยู่ในรูปข้อความที่อาจเรียกด้วยคําสมัยนี้ว่าเป็นการถอดเทปคําพูดของพระพุทธเจ้า นึกถึงหนังสือที่มาจากการถอดเทปคําบรรยายของท่านพุทธทาสก็ได้ เราอ่าน เรารู้ทันที ว่านี่ไม่ใช่หนังสือที่ท่านพุทธทาสนั่งเขียนเอง หรือพูดแล้วให้นักเขียนบางคนช่วยเรียบเรียงแทน เพราะภาษาที่อยู่ในหนังสือนั้นเป็นภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียน พระสูตรจํานวนมากในพระไตรปิฎก อยู่ในรูปภาษาพูด ภาษาพูดจะเป็นประโยคสั้นๆ เนื่องจากเวลาพูดคนเราต้องใช้ความจําเป็นช่วงๆ และเป็นธรรมดาว่าความจําของคนเรา (ต่อให้เป็นพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ หรือเป็นพระศาสดาที่เชื่อว่าเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกมาแล้วเพื่อให้เป็นผู้สื่อสารระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์) ย่อมทํางานเป็นช่วงสั้นๆ ดังที่กล่าว ระหว่างพูด คนพูด หากสงสัยว่าตนเองได้พูดเรื่องนี้ไปแล้ว หรือยัง ก็จะพูดซ้ำ

ภาษาพูดต่างจากภาษาเขียนตรงที่ภาษาพูดมักมีข้อความซ้ำหรือย้ำเนื้อเรื่องบางเรื่องที่ผู้พูดเห็นว่าสําคัญเสมอๆ การเขียนอาจทําในร่างแรก แต่เมื่อเราอ่านพบ เราจะขีดฆ่าทิ้ง หนังสือที่พิมพ์จากงานเขียนจะมีข้อความจํานวนมากที่คนอ่านไม่มีโอกาสได้เห็นเพราะถูกขีดฆ่าทิ้งระหว่างการอ่านเพื่อเกลาเนื้อหาและภาษาทั้งโดยผู้เขียนและบรรณาธิการ

เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎกไม่ได้อยู่ในรูปของการถอดเทปคําพูดของพระพุทธเจ้าตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่อยู่ในรูปภาษาเขียน ที่น่าสนใจคือ เนื้อหาส่วนนี้ของพระไตรปิฎกควรจะเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธที่มีวิจารณญาณ (คือไม่ได้เชื่อทุกเรื่องที่เล่าไว้ใน พระไตรปิฎกและอรรถกถา ก่อนจะเชื่อเรื่องใดต้องพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และ สามารถเปลี่ยนความเชื่อได้เสมอมี หากมีข้อมูลใหม่ที่ดีกว่า) ว่า

(1) เนื่องจากพระพุทธเจ้า ไม่เคยทรงลงมือนั่งเขียนอะไรด้วยพระองค์เอง ที่ทรงกระทําตลอดเวลาคือทรงพูด

(2) ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เราเห็นข้อเขียนที่อ้างว่าเป็นความคิดของพระพุทธเจ้า เราต้องเข้าใจว่ามีคนแต่งหนังสือพวกนี้แทนพระพุทธเจ้า

(3) ส่วนปัญหาว่า ใจความที่แต่งมาเสนอเรานั้นตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงคิดหรือสอนจริงหรือไม่ ค่อยพิจารณาเป็นเรื่องๆไป พระอภิธรรมปิฎกเป็นหนังสือเขียน ก็แปลความชัดเจนว่ามีคนเขียนแล้วอ้างว่าใจความทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้แล้ว แต่พวกเราเรียบเรียงหลักธรรมเหล่านี้เสียใหม่ เพื่อให้กระชับและลึกซึ้งในทางปรัชญา (บางแบบ)

เราจะกลับไปที่เนื้อหาของพระไตรปิฎกที่อยู่ในรูปข้อความถอดเทปของพระพุทธเจ้าอีกครั้ง เป็นธรรมดาว่าเมื่อเราอ่านหนังสือ ข้อความจํานวนมากเราเข้าใจได้ และคิดว่าที่เราเข้าใจนั้นก็คงไม่ต่างจากที่คนอื่นเข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น มีข้อความในพระไตรปิฎกบางแห่งกล่าวว่า “พระสารีบุตรที่ได้ชื่ออย่างนี้เพราะท่านเป็นลูกชายของพราหมณีชื่อสารี” เมื่ออ่านข้อความนี้ ภาพที่ปรากฏในจินตนาการของเราก็คือ มีชายอินเดียคนหนึ่งเป็นลูกของหญิงอินเดียอีกคนหนึ่ง หญิงอินเดียคนนั้นมีชื่อว่าสารี เมื่อได้ลูกชายมา ระบบการตั้งชื่อของเด็กในอินเดียสมัยนั้นนิยมตั้ง โดยโยงไปหาชื่อแม่ เขาเลยตั้งชื่อเด็กอินเดียคนนี้ว่า “ลูกนางสารี” คําในภาษาบาลีคือ สารีบุตร ธรรมเนียมเช่นนี้เราก็พบในโลกตะวันตก ต่างเพียงฝรั่งใช้พ่อเป็นที่มาของชื่อลูก เช่นลูกนายจอห์น ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่าจอห์นสัน เป็นต้น

ข้อที่ควรสังเกตคือ ข้อความที่เราอ่านแล้วไม่ค่อยมีปัญหาในแง่ของการทําความเข้าใจมักเป็นข้อความที่พูดถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม มีตัวตนชัดเจน คนทั้งหลายสามารถมองเห็นหรือสัมผัสได้ด้วยอายตนะอย่างอื่น นอกเหนือจากตา (เช่นสัมผัสด้วยหู จมูก ลิ้น กายประสาท เป็นต้น) หรือหากมีคำที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านั้น ความสัมพันธ์ที่ว่านั้นแม้จะเป็นเรื่องนามธรรมก็ปรากฏความหมายชัดเจน เช่นการเป็นลูกหรือเป็นแม่ เราเข้าใจดีว่าหมายความว่าอย่างไร เป็นต้น แต่ในพระไตรปิฎก คําจํานวนมากโดยเฉพาะคําที่แสดงหลักความคิด ที่ลึกซึ้งของพระพุทธเจ้า คําเหล่านี้อาจสร้างปัญหาว่า ที่เราเข้าใจนั้นถูกไหม คนอื่นจะเข้าใจ เช่นเดียวกับเราหรือไม่ หากเข้าใจไม่เหมือนกัน จะวัดอย่างไรว่าความเข้าใจของใครถูก ของใครผิด

ในโลกของปรัชญาตะวันตกนั้น นักปรัชญาเข้าถือกันว่า หน้าที่ของนักปรัชญามีอยู่เพียงการ เอาความเป็นจริงใส่ลงในหีบห่อทางภาษา เพื่อส่งมอบต่อให้แก่มวลมนุษย์โลก ส่วนเมื่อชาวโลกได้รับหีบห่อนั้นแล้ว พวกเขาจะไปเปิดดูแล้วสัมผัสสิ่งนั้นตรงๆด้วยตนเองหรือไม่ ก็เชิญตามอัธยาศัย อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของนักปรัชญา จึงเป็นเหตุผลว่า เมื่อกล่าวถึงความรู้และความจริงตามที่เรียนกันในมหาวิทยาลัย  เราจึงพุดกันเฉพาะ Knowledge และ truth เท่านั้น พูดง่ายๆก็คือเราพุดถึงความรู้และความจริงอย่างแห้งเท่านั้น  ตัวอย่างของความรู้อย่างแห้งที่แพร่หลายอยู่ในโลกเวลานี้ก็คือ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่โปรดเข้าใจว่า มันก็สามารถแปลงเป็นของสดได้ ขึ้นอยู่กับคนแปรแต่ละคนต้องจัดการเอง คนอื่นทำแทนไม่ได้

ที่น่าสนใจคือ พุทธรรมที่อยู่ในรูปของสดหรือ แรกทีเดียวพระพุทธเจ้าไม่ประสงค์จะห่อเอาไปฝากใคร แต่ภายหลังทรงเปลี่ยพระทัย ตามคำอาณาธณาของพรหม พุทธธรรมที่บรรจุอยู่ในหีบห่อ แพคเกจจิ้งแห่งภาษานี้เป็นความรู้อย่างแห้ง ไม่มีชีวิตชีวา เหมือนหัวหอมหรือเมล็ดพืชแห้งๆ เมื่อทรงหยิบยื่นให้มหาชนก็ทรงกำชับให้เอาลงดินและรดน้ำดูแลด้วยตัวเขาเอง เมล็ดพืชแห้งๆนั้นก็คือพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก หรือคนในศาสนาอื่นๆได้รับจากพระศาสดา ก็จะออกมาเป็น พระไบเบิ้ล พระอัลกุลอาน พระเวทเป็นต้น

การเอาพุทธพจน์หรือคำสอนนั้นมาใช้กับชีวิตจนเกิดความงอกงาม ก็เหมือนกับต้นหอมที่งอกขึ้นมาจากหัวแห้งๆนั้นมีชีวิตชีวา เราอาจจะกล่าวได้ว่าสาระของพุทธธรรมหรือคำสอนในลัทธิศาสนาต่างๆคือ reality ของโลกและชีวิต หากได้สัมผัส เราก็จะสงบเย็น รู้เห็นมากเท่าใดก็สงบมากเท่านั้น แต่ตัว reality นี้ขนย้ายไม่ได้เพราะเป็นนามธรรม สิ่งที่ขนย้ายได้คือรูปธรรมเช่นตัวหนังสือ จึงทรงใช้ภาษาเพื่อการขนย้ายความจริงที่ทรงไปรู้ไปเห็นเพื่อแจกจ่ายกับชาวโลก เราอยู่บ้าน อยู่เมืองไทยห่างไกลจากอินเดีย แต่เพราะเรามีพระไตรปิฎก หรือมีคัมภีร์ของศาสนานั้นๆของตนเอง  วันใดวันหนึ่ง เราอาจจะแปรของแห้งที่อยู่ในหีบห่อทางภาษาเหล่านี้ให้กลายเป็นของสด ที่มีรสชาติ ด้วยการนำมาลองปฏิบัติตามนั้น อันอาจเชื่อได้ว่าเป็นรสเดียวกันกับกับที่พระพุทธองค์และเหล่าสาวก ได้ลิ้มรสเมื่อสามพันปีมาแล้วนั่นเอง

แหล่งอ้างอิง
1. พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
2. ศ.ดร.สมภาร พรมทา, พุทธปรัชญากับญาณวิทยา,โลกและภาษา.
3. John Locke, An Essay Concerning Human Understanding


ธันรบ วงศ์ษา

หมายเลขบันทึก: 689842เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2021 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2021 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท