ชีวิตที่พอเพียง 3910. ทำความรู้จักสมองจากสมองที่ไม่ปกติ



หนังสือ The Disordered Mind : What Unusual Brains Tell Us about Ourselves (2018)   เขียนโดย Eric Kandel ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี ๒๕๔๓    ช่วยให้เราเข้าใจการทำงานของสมองมากขึ้น    ช่วยด้านการเรียนรู้หรือการศึกษา      

เชื่อหรือไม่ว่า กระดูกมีส่วนสัมพันธ์กับสมอง    กระดูกหลั่งฮอร์โมน osteocalcin ที่มีหน้าที่อย่างหนึ่งคือ กระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทในสมอง    ช่วยความจำ    การออกกำลังกายจึงมีคุณต่อสมองและการเรียนรู้และความจำ

ความรู้เรื่อง social brain มาจากการศึกษาเด็กที่เป็นออทิสซึม    ซึ่งเด็กปกติเมื่ออายุ ๓ ขวบจะเริ่มอ่านใจคนอื่นออก   และทำนายพฤติกรรมของผู้นั้นได้อย่างเป็นอัตโนมัติ   ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า theory of mind    แต่เด็กออทิสซึม ทำไม่ได้ หรือได้ไม่ดี ไม่เป็นอัตโนมัติ    มีผลต่อทักษะทางสังคม และการสื่อสาร    การศึกษาทางประสานวิทยาศาสตร์พบว่าสมองของเด็กเหล่านี้ผิดปกติในส่วนรับรู้ภาพและการเคลื่อนไหว   

ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เป็นสาเหตุของโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์    เช่นโรคซึมเศร้า ที่หนึ่งในสามของคนอเมริกันเคยมีอาการอย่างน้อย(สารหนึ่งครั้งในชีวิต    เกี่ยวข้องกับสมองส่วนควบคุมอารมณ์ เรียกว่า limbic system  ที่ประกอบด้วย hypothalamus(ควบคุมการตอบสนองทางกายต่ออารมณ์ เช่นหัวใจเต้นแรง เหงื่อออกที่ฝ่ามือ)  และ amygdala (ควบคุมการตอบสนองต่ออารมณ์ในทางการกระทำ)    ในคน เป็นโรคซึมเศร้า,  PTSD – Post-Traumatic Stress Disorder,  และโรควิตกกังวล สมองส่วน limbic system  ถูกกระตุ้นให้ทำงานมากกว่าปกติอยู่ตลอดเวลา     และสารเคมีในสมองไม่สมดุล    คือระดับฮอร์โมน cortisol (ฮอร์โมนความเครียด) สูงผิดปกติ    ฮอร์โมน serotonin (สารสื่อประสาท เกี่ยวข้องกับอารมณ์ การรู้คิด การเรียนรู้ และความจำ) ต่ำกว่าปกติ   

โรคจิตชนิดจิตเภท (schizophrenia) มีอาการประสาทหลอน  หลงผิด และระแวง    และอาการอื่นๆ    เกิดจากความผิดปกติของ กระบวนการ synaptic pruning ในสมอง ช่วงวัยหนุ่มสาว    เมื่อเริ่มแตกเนื้อหนุ่มสาว สมองจะมีการตัดต่อการเชื่อมต่อใยประสาท (synaptic pruning) เป็นการใหญ่    เพื่อเอาส่วนไม่จำเป็นออกไป    สู่การบรรลุวุฒิภาวะ    แต่ในคนเป็นโรคจิตเภท กระบวนการนี้ผิดปกติ คือตัดเอาการเชื่อมต่อออกไปมากเกิน ในส่วนสมองส่วนหน้า (ควบคุมการตัดสินใจ)  และส่วน hippocampus (ควบคุมความจำ)    ตอนนี้รู้แล้วว่าความผิดปกติอยู่ที่ยีน และรู้ว่าเป็นยีน C4    สารสื่อประสาท dopamine มีส่วนต่อการเกิดโรคจิตเภทด้วย    สารนี้เกี่ยวข้องกับการคิด ความจำ อารมณ์ การเคลื่อนไหว และพฤติกรรม   คนเป็นโรคจิตเภทมี โดปามีนในสมองมากผิดปกติ  

สมองมีระบบความจำ ๒ ระบบ คือ explicit memory system (จำเรื่องราวและผู้คน)  กับ implicit memory system (จำกิจกรรมทางกายเช่นเล่นเปียโน ขี่จักรยาน)    คนเป็นโรคอัลไซเมอร์และสมองเสื่อม ความจำระบบ explicit memory system เสื่อม เนื่องจากสมองส่วน hippocampus ถูกทำลาย   ทำให้จำเรื่องราวและผู้คนไม่ได้   

การเสพติดเป็นโรคทางสมอง ที่สมองส่วน “ระบบรางวัล” (reward system) ถูกครอบงำ    ไม่ว่าจะเป็นการเสพติดยา เหล้า  การพนัน เกม เซ็กส์ และการกิน    จริงๆ แล้วเป็นการเสพติด โดปามีน ที่สมองสร้างขึ้นเอง    โดยเซลล์สมองชนิดสร้างโดปามีนในสมองส่วน substantia nigra ที่แทรกเข้าไปในสมองส่วน hippocampus (ความจำ), amygdala (อารมณ์) และ striatum (สร้างนิสัย)    จะเห็นว่าสมอง ๓ ส่วนนี้ร่วมกันเป็น “ระบบรางวัล” ของสมอง    ที่จดจำความพอใจหรือความสุขที่เกิดจากกิจกรรมเสพติด ที่กระตุ้นการหลั่งโดปามีนอย่างรุนแรง     และเร่งเร้าให้เสพอีก   

สมองเป็นอวัยวะที่ทำให้เกิด “ความตระหนักรู้” (consciousness)  หรือจิตสำนึก    ความก้าวหน้าของวิชาการด้านประสาทวิทยาศาสตร์  ชีววิทยา  จิตเวช  และจิตวิทยา  ช่วยไขความกระจ่างของกลไกการเกิดความตระหนักรู้มากขึ้นเรื่อยๆ    ว่าแนวความคิดที่ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เสนอไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙  ว่า จิตของคนเรามี ๒ ส่วน    คือจิตสำนึก กับจิตไร้สำนึก    และพฤติกรรมของมนุษย์เราอยู่ใต้จิตไร้สำนีก  มากกว่าอยู่ใต้จิตสำนึก      

มีผู้เสนอทฤษฎีที่ชื่อ global workspace    ว่าสมองชั้นในของคนเรา ทำหน้าที่ unconscious global workspace มีการทำงานเก็บข้อมูลจากสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลาโดยเราไม่รู้ตัว (ไม่ตระหนักรู้)    เมื่อเราเลือกบางข้อมูลสำหรับส่งให้สมองส่วนบน ที่เป็น conscious global workspace   สมองก็ทำงานแบบมีจิตสำนึก หรือมีความตระหนักรู้    

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.พ. ๖๔


  

หมายเลขบันทึก: 689454เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2021 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2021 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

The last paragraph made me ponder and compare it with ‘สมาธิ’. Despite what most people think of “สมาธิ” (as confused states of intention, attention and interaction), สมาธิ is really about developing ‘clear perception’ (by removing ‘filters’ or blockages from sensory processes).

It is interesting in comparing meditation to this theory “สมองชั้นในของคนเรา ทำหน้าที่ unconscious global workspace มีการทำงานเก็บข้อมูลจากสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลาโดยเราไม่รู้ตัว (ไม่ตระหนักรู้) เมื่อเราเลือกบางข้อมูลสำหรับส่งให้สมองส่วนบน ที่เป็น conscious global workspace สมองก็ทำงานแบบมีจิตสำนึก หรือมีความตระหนักรู้”. Buddhistic concepts of old stands tall among modern theories. ;-)

ผมใช้มวยวัดคิดเอาเองมานานปีว่า สมองมี ๓ ระดับคือ subconscious-conscious และsuperconscious ตัวสุดท้ายทำงานร่วมกับวิปัสสนาสมาธิในการบรรลุธรรม จึงมีคำสอนว่า การบรรลุธรรมมีได้เฉพาะในสัตว์มนุษย์เท่านั้น ส่วนเดรัจฉานหรือเทวดาบรรลุไม่ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท