๑,๒๐๑. ใบไม้ที่หายไป...


" ผมช่วยเสริมเติมเต็มให้นักเรียน ถึงคุณธรรมความดี ที่ต้องหมั่นทำบ่อยๆ ซ้ำๆ สม่ำเสมอและต่อเนื่อง เปรียบเหมือนปุ๋ยหมักที่ไม่ต้องกลับกอง.. ท้ายที่สุดก็ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิต"

          เช้าวันนี้..ผมดูครูหนึ่งสอนนักเรียนที่บริเวณแปลงนา กำลังจะสาธิตอะไรสักอย่าง สื่อและอุปกรณ์เป็นคอกตาข่ายที่ประกอบขึ้นใหม่ ผมเดินไปฟังใกล้ๆด้วยความสนใจ..

      กองปุ๋ยหมักที่ครูหนึ่งกับนักเรียนช่วยกันทำไว้เมื่อเดือนที่แล้ว อยู่ไม่ไกลกันกับคอกตาข่าย ครูหนึ่งบอกนักเรียนให้ช่วยกันกลับกองฟางที่มีมูลวัวทับถมกันจนแน่น เมื่อใช้จอบขุดคุ้ยจะพบเห็นฟางที่เปื่อยยุ่ยกลายเป็นดินบ้างแล้ว

          ครูหนึ่งบอกว่า ดินก็คือปุ๋ยหมัก แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะเศษฟางยังย่อยสลายไม่หมด ต้องให้ฟางกลับไปอยู่ข้างล่าง  เสร็จแล้วนักเรียนช่วยกันรดน้ำที่ผสมด้วยน้ำหมักชีวภาพ

          แล้วทิ้งไว้ต่อไป..อีกสัก ๒ สัปดาห์ค่อยมาดูใหม่ เป็นวิธีการทำปุ๋ยหมัก..แบบกลับกอง

          จากนั้น..นักเรียนทุกคนก็หันไปที่คอกตาข่ายขนาดไม่ใหญ่มากนัก ก่อนสาธิตครูหนึ่งบอกนักเรียนว่า ต่อไปนี้จะเป็นวิธีการทำปุ๋ยหมักอีกแบบหนึ่ง ใช้ใบไม้ที่มีอยู่ในโรงเรียนทั้งหมด

          มิน่าเล่า..ช่วงนี้ใบไม้โดยทั่วไปในโรงเรียน ห่างหายไปจากสายตาอย่างมากมาย แม้แต่บ่อใบไม้เองก็เหลือน้อยเต็มที ปรากฏว่ามาอยู่ในกระสอบอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

          นักเรียนยกกระสอบที่มีใบไม้ เทลงไปในคอก และเกลี่ยให้เสมอกัน ใบไม้ติดตาข่าย จึงไม่หลุดร่วงไปไหนเลย ครูหนึ่งบอกว่าตาข่ายมีประโยชน์มากช่วยระบายอากาศได้ และช่วยทำให้การย่อยสลายดีขึ้น

          สิ่งที่ต้องใส่ต่อจากใบไม้คือมูลวัว เทไปบนใบไม้ให้ทั่วถึง แล้วตามด้วยน้ำผสมน้ำหมักชีวภาพ ขั้นตอนต่อไปทำเหมือนเดิม คือใส่ใบไม้ มูลวัว และรดน้ำให้ชุ่มฉ่ำ ทำเป็นชั้นๆเรื่อยไป

          ผมถามครูหนึ่งถึงชั้นบนสุดคืออะไร ครูบอกว่าก็ต้องเป็นมูลวัว เพราะจะทำให้มีน้ำหนักและอุ้มน้ำ และการทำแบบนี้จะได้ปุ๋ยหมักในแบบที่ไม่ต้องกลับกองนั่นเอง....

          งานยังไม่เสร็จ แต่ครูหนึ่งต้องพานักเรียนเข้าห้องเรียน ผมจึงขอเวลาในช่วงบ่าย..จะให้นักเรียน ป.๖ ได้ลงมือปฏิบัติแบบนี้บ้าง..เพราะเป็นการทำปุ๋ยหมักแบบประหยัด เรียบง่ายและได้ประโยชน์เยอะ...

          ช่วงบ่าย..ครูหนึ่งเกริ่นกล่าวกับป.๖ ถึงประโยชน์ของใบไม้ที่ไม่ควรเผาทิ้ง ส่วนมูลวัวก็หาได้เกือบทุกบ้าน ส่วนน้ำหมักชีวภาพก็ทำเองได้ไม่ยาก ซึ่งนักเรียนทุกคนก็ทำได้

          ผมสังเกตกระบวนการทำปุ๋ยหมักของนักเรียน เพื่อเรียนรู้และจดจำ ข้อสังเกตที่เห็นชัดเจนก็คือใบไม้ที่มีจนล้นบ่อ หายไปเกือบหมดเลย ลงไปอยู่ในกระสอบที่วางอยู่เรียงราย

          ก่อนนักเรียนจะช่วยกันยกไปสู่เส้นทางการทำปุ๋ยหมักในแบบที่ไม่ต้องกลับกอง ใบไม้จึงไม่ได้หายไปไหน?..แค่แปรสภาพให้เกิดประโยชน์ต่อแผ่นดินและสิ่งแวดล้อม

          สุดท้ายผมถามนักเรียนว่า นักเรียนได้อะไรบ้าง จากการทำให้ใบไม้หายไป...นักเรียนตอบว่าได้ความอดทน ได้ความขยัน และได้ทำงานร่วมกัน...

          ผมช่วยเสริมเติมเต็มให้นักเรียน ถึงคุณธรรมความดี ที่ต้องหมั่นทำบ่อยๆ ซ้ำๆ สม่ำเสมอและต่อเนื่อง เปรียบเหมือนปุ๋ยหมักที่ไม่ต้องกลับกอง.. ท้ายที่สุดก็ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิต

          ส่วนปุ๋ยหมักที่ต้องกลับกองนั้นเล่า...ก็คือการเฝ้ามองตนเอง...และปรับปรุงตนเอง ถ้าเห็นว่ายังมีสิ่งที่บกพร่อง ก็ต้องกลับตัวและปรับใจ..ใบไม้ที่หายไป..จึงช่วยสอนใจเรามิใช่น้อย

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๙  มีนาคม  ๒๕๖๔


หมายเลขบันทึก: 689414เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2021 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2021 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท