ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๐๕. จิตสงบ



 หนังสือ The Quiet Mind : The firsthand account of a CIA agent who traveled the Eastern world in search of mindfulness (1971)   เขียนโดย John E. Coleman ผู้เข้ามาพำนักในประเทศไทยช่วงคริสตทศวรรษ 1950 – 1960 ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ของ ซี.ไอ.เอ.  เริ่มสนใจเรื่องจิตใจจากการไปร่วมกับคณะศึกษาพลังลี้ลับทางจิต    ได้เห็นการสะกดจิตที่ทำให้คนสองคนสื่อสารกันได้ทางโทรจิต    ท่านได้ตระหนักว่าจิตที่สงบเป็นจิตที่มีพลัง

จึงเริ่มออกแสวงหาวิธีทำจิตให้สงบ    ที่สหรัฐอเมริกา เขา ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ESP – Extra Sensory Perception ที่ต้องการใช้พลังของจิตที่สงบในการรับรู้พิเศษ    และสนใจเรื่องราวของพระสมณโคดม ที่สามารถรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง    เข้าใจที่มาของทุกข์และแนวทางปลดปล่อยกิเลสเพื่อจิตอิสระ    เขาต้องการแสวงหาวิธีสู่การพ้นทุกข์ถาวร ... นิพพาน

กลับมาที่กรุงเทพ เขาไปฝึกสมาธิที่วัดมหาธาตุ    ด้วยวิธีอาณาปานสติในท่านั่งขัดสมาธิ    แต่จิตของเขาไม่สงบลงเลย ได้แต่ความเมื่อยขบ     

ระหว่างทางไปพักผ่อนที่ยุโรป  เขาแวะที่พม่าเพื่อเรียนฝึกวิปัสสนา ในหลักสูตร ๑๐ วัน กับ อูบาขิ่น    เพื่อฝึกรับรู้จิตใจภายในของตนเอง    เนื่องจากเขาพุ่งความสนใจไปที่ทฤษฎี มัวแต่จดบันทึก    การปฏิบัติของเขาจึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ภาวะจิตสงบไม่เกิด  

เพราะไม่หนำใจกับประสบการณ์กับอูบาขิ่น    เขาเดินทางต่อไปเสาะคุรุต่อที่อินเดีย    โชคดีที่ได้พบท่านกฤษณมูรติ  ได้เรียนรู้มิติทางจิตวิญญาณจากท่าน    ว่าศาสนาและปรัชญาทั้งหลายขับเคลื่อนด้วยความกลัว    และไม่มีทฤษฎีใดที่จะช่วยให้เราเข้าใจความเป็นจริงได้    จะเข้าใจได้ผ่านการปฏิบัติเท่านั้น    ไม่ว่าตำราหรือคำสอนใดก็ช่วยไม่ได้    การปฏิบัติของตัวเราเองเท่านั้นที่จะช่วยให้เราบรรลุการรู้แจ้งต่อความเป็นจริง     ท่านบอกว่า ความเป็นจริง (สัจจะ) อยู่ในตัวเราเอง   

ผมขอขยายความว่า นอกจากปฏิบัติแล้ว เราต้องใคร่ครวญสะท้อนคิดสิ่งที่เราพบเห็นจากการปฏิบัตินั้นด้วย    จึงจะเกิดปัญญาจากการปฏิบัติ    และเราจะบรรลุปัญญาขั้นสูงได้ จิตต้องสงบปลอดจากสิ่งรบกวน   

 ในฤดูร้อนของปีหนึ่ง  เขาหนีร้อนจากกรุงเทพไปยังเมืองดาร์จีลิง เมืองตากอากาศทางตอนเหนือของอินเดีย    ได้พบคุณเชอร์ปา เท็นซิง ผู้ร่วมพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นครั้งแรกกับเซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลารี    เชอร์ปา เท็นซิงบอกว่า เขาฟันฝ่าอุปสรรคความยากลำบากตอนปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ด้วยศรัทธาต่อพุทธศาสนานิกายทิเบต   

ด้วยความสนใจ เขาเดินทางต่อไปยังเมือง Gantok เพื่อร่วมเทศกาล พุทธนิกายทิเบต พบว่ามีแต่พิธีกรรม    เพื่อเข้าใจปฏิบัติการทางจิตวิญญาณแนวตันตระ เขาบินต่อไปที่เมืองกัฐมันฑุ    ไปพบการรวมพลังเพศชายและหญิงผ่านการร่วมเพศ เพื่อปูทางสู่การหลุดพ้น           

  เขาเริ่มเบื่อพุทธศาสนาแนวพิธีกรรม    จึงไปเรียนรู้จากท่านพุทธทาสที่สวนโมกข์    ที่ Coleman ระบุว่า สอนศาสนาแนวดั้งเดิม และแนวเซน    และเชื่อเหมือนกฤษณามูรติ ว่าการรู้แจ้งมาจากการปฏิบัติของตนเอง     เขาไปนอนค้างที่สวนโมกข์หลายวัน    ท่านให้หนังสือไปอ่านตั้งหนึ่ง เพื่อลองปฏิบัติด้วยตนเอง    แล้วมาคุยกัน   ช่วยให้จิตของเขาสงบขึ้น    และทำให้เขาสนใจแนวเซน

จึงเดินทางไปโตเกียว ไปเรียนรู้จากท่าน D.T. Suzuki    และได้รับคำแนะนำว่า เซนไม่ยึดปรัชญาหรือกระบวนการทางปัญญาใดๆ    แต่เชื่อในการปฏิบัติ    เพื่อให้บรรลุการรู้แจ้งฉับพลันด้วยตนเอง (satori)    ท่านแนะนำ Coleman ให้ไปเรียนรู้ชีวิตนักศึกษาเซนที่วัด Shokoku ในเกียวโต    เขาไปพบว่า เป็นวัดที่มีความเป็นอยู่ง่ายๆ    นักศีกษามีการฝึกฝนอย่างเข้มงวดจริงจัง ใช้เวลา ๑ ปี   

หลังจากนั้น เขาแต่งงานและยิ่งสนใจศาสนาตะวันออก    ไปอยู่ที่ลอนดอน และเข้าคอร์สฝึกที่ Spiritual Regeneration Movement ที่เมืองเคนซิงตัน    ศูนย์นี้สอนตามแนวของ Maharishi Mahesh Yogi    พบว่าวิธีการช่วยผ่อนคลาย แต่ไม่ช่วยให้จิตสงบ

หลังจากนั้น ไปเข้าฝึกสมาธิกลุ่ม (group meditation)   ของกลุ่มนับถือคริสต์นิกาย เควเก้อร์    ซึ่งจากพิธีกรรมที่เขาเล่า น่าจะเพื่อรับฟังกัน และสร้างความเป็นชุมชน มากกว่าเพื่อสงบจิตใจ   

เขายังไปเข้าฝึกสมาธิกับพระในศาสนาคริสต์นิกาย Benedictine   ซึ่งก็ไม่ช่วยให้เขาบรรลุจิตสงบ    เขาจึงตัดสินว่า  วิธีการแนวตะวันออกเท่านั้นที่จะช่วยให้จิตสงบได้    จึงกลับไปฝึกที่ศูนย์ฝึกวิปัสสนาของอูบาขิ่นที่ย่างกุ้ง     เริ่มจากการทำจิตให้สงบ และเคลื่อนสู่วิปัสสนา    ทำอยู่หลายวัน จนวันหนึ่งเกิดความรู้สึกร้อน และไม่สบายกายเป็นอย่างยิ่ง เป็นยู่หลายวัน จนในที่สุดเกิดความเข้าใจว่า    ความทุกข์นั้นเกิดจากใจเราไปรับเข้ามาถือเป็นอารมณ์    หากรับรู้เฉยๆ ก็ไม่ทุกข์    เมื่อเข้าใจเช่นนี้ จิตก็สว่างวาบ   

เขากลับไปอยู่ที่อังกฤษและตั้งศูนย์ฝึกวิปัสสนาแนวอูบาขิ่นที่นั่น   ซึ่งก็คือแนวท่านโคเอ็นก้าในปัจจุบันนั่นเอง       

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.พ. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 689314เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2021 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2021 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความทุกข์นั้นเกิดจากใจเราไปรับเข้ามาถือเป็นอารมณ์ หากรับรู้เฉยๆ ก็ไม่ทุกข์ เมื่อเข้าใจเช่นนี้ จิตก็สว่างวาบ

การรับรู้เฉยๆ ต้องฝึกจึงจะไม่ทุกข์นะคะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท