วิเคราะห์หญ้าแพรก ดอกมะเขือ และเรือน้อย


วิเคราะห์ปมขัดแย้งและการคลี่คลายปมใน หญ้าแพรก ดอกมะเขือ และเรือน้อย

หญ้าแพรก ดอกมะเขือ และเรือน้อย ผลงานการเขียนของ ว.วินิจฉัยกุล นวนิยายสะท้อนชีวิตและอุดมการณ์ของ บัวบรรณ นักศึกษาฝึกสอน ที่มุ่งมั่นจะเป็นครูที่ดี เพื่อส่งศิษย์ไปสู่อีกฝั่งความสำเร็จ เส้นทางการเป็นเรือจ้างฝึกหัดกับการฝึกประสบการณ์นั้นกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อกลุ่มเด็กที่ได้สอน ดันเป็นเด็กที่เคยมีเรื่องกับเธอมาก่อน นำไปสู่ปมความขัดแย้งที่กลายมาเป็นอุปสรรคในการสอน เธอจึงต้องฝ่าฟันอุปสรรคปัญหามากมาย เพื่อพิสูจน์ตนเองและให้เด็กได้ยอมรับเธอ ในฐานะครูฝึกสอนคนหนึ่งที่มีความปรารถนาดีต่อเขาเหล่านั้น

เมื่อครูฝึกสอนเจอกับเด็กสุดเกรียน

ปมความขัดแย้งหลักใน หญ้าแพรก ดอกมะเขือ และเรือน้อย เป็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ (man against man) เป็นความขัดแย้งระหว่างบัวบรรณกับนักเรียน จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อบัวบรรณถูกกลุ่มของหอมไกลและฟ้าแลบแซงคิวซื้อผัดไทย ถูกกวนประสาทและพูดข่มเพราะถือว่าเป็นเด็กของโรงเรียนในสังกัดมหาวิทยาลัย นับเป็นความไม่ประทับใจแรกพบของทั้งสองฝ่าย แต่เหตุการณ์คลี่คลายได้เพราะพี่บู๊ต พี่ชายของหอมไกล ทำให้บัวบรรณนึกรู้ว่าจุดอ่อนสำคัญของเด็กกลุ่มนี้ คือพี่บู๊ต เป็นผู้ใหญ่เพียงคนเดียวที่เด็กๆให้ความเคารพยำเกรง “และแปลก ... เด็กหนุ่มสาวทั้งกลุ่มดูหงอย ลงไปผิดตาเด็กสาวฤทธิ์กคนนั้นแม้กระทืบเท้าอย่างเร้างอนแต่ก็ดูออกว่าไม่กล้าแผลงฤทธิ์ใส่ผู้ที่เข้ามาเด็กหนุ่มลูกพี่ของกลุ่มหลบตายืนหน้าบึงแต่ไม่ปริปากพูด” (หน้า ๔๐ ) ต่อมาก็เกิดเรื่องราวอีก เมื่อหอมไกลและฟ้าแลบแผลงฤทธิ์ฟาดกระบองใส่เพื่อนของเธอในงานเลี้ยง บัวรรณจึงไปตามพี่บู๊ตมาห้ามศึกเพราะเกรงว่าคนภายนอกจะมองเด็กสองคนไม่ดี จะเดือดร้อนมาถึงพี่บู๊ตได้เพราะหอมไกลฝ่าฝืนกฎโรงรียน ถ้าถูกจับได้อาจถูกไล่ออก “แล้วถ้าน้องสาวถูกไล่ออกพี่ชายจะเกณฑ์ทหารเป็นสุขละหรือ หล่อนจะต้องหาทางให้เด็กหนุ่มสาวสองคนนี้หายตัวออกไป” (หน้า ๑๐๙) จะเห็นได้ว่าแม้บัวบรรณจะไม่ชอบเด็กทั้งสอง แต่อคติก็ไม่เคยอยู่เหนือเหตุผล บัวบรรณก็เหมือนได้ช่วยทั้งคู่ทางอ้อม ความขัดแย้งของกลุ่มนี้ไม่จบลงเท่านี้ ผู้แต่งได้หน่วงเรื่องโดยการทำให้ปมปัญหาเหล่านี้ยังคงดำเนินไปบัวบรรณต้องไปฝึกสอนห้องมัธยม ๖/๓ ซึ่งเป็นห้องของเด็กเหล่านี้ เธอกังวลใจมากเพราะการต้อนรับครั้งแรกของนักเรียนในฐานะครูฝึกสอนก็ต้องทะเลาะกับเด็กนักเรียนกลุ่มเดิมที่ไม่ยอมเข้ามานั่งเรียน แถมยังจี้จุดอ่อนของเธอด้วยคำพูดที่แฝงความข่มขู่  “ น่า ... เพ่ อย่าขี้ยัวะ เด๋วหน้าแก่ ผมรู้ว่าเพ่อยากได้คะแนน ก้อพวกในห้องมันอยากเรียนก็สอนมันดี ๆ ถึงเวลาอาจารย์นิเทศมา มันก็ร่วมมือตอบดีๆไปเองอย่ามายุ่งกะพวกผมเลยนะ” (หน้า ๑๗๗ ) “เห็นมั้ย ถ้าพี่อยากได้คะแนนฝึกสอนดี ๆ พี่ไม่ต้องทำอะไรมากใครอยากเรียนพี่สอน ใครไม่อยากเรียนที่เฉยซะ ไม่งั้นนะ.. อาจารย์นิเทศมาพวกผมตลบหลังหั่นพี่แหลก พี่ได้ F แล้วจะร้องไห้ขี้มูกโป่งจริงมั้ยพวกเรา” (หน้า ๑๗๗ ) บัวบรรณเจอการดูถูกในแบบที่เธอไม่เคยโดนมาก่อน ทำให้เห็นอารมณ์ในอีกมุมหนึ่งของเธอว่าเธอไม่ได้นึกถึงเรื่องเกรดแต่เธอเองเสียใจที่ไม่สามารถควบคุมชั้นเรียนได้ “น้ำตาไหลรินลงมาบนช่องแก้มอย่างเงียบเชียบ ไม่ทันได้รู้สึก มีอควานหาผ้าเช็ดหน้ามาซับ ปะทะเข้ากับแว่นตา หล่อนต้องถอดออกแล้วซับน้ำคาอยู่คนเดียวพ่ายแพ้ยับเยิน” (หน้า ๑๗๑ ) เรื่องราวความขัดแย้งยังคงดำเนินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งกลุ่มฟ้าแลบพลาด ชู้ตบอลมาถูกบัวบรรณ ทำให้บัวบรรณได้วิธีในการเรียกความสนใจของเด็กเหล่านี้ให้มาเรียนคือการแกล้งพูด เรื่องรอยช้ำจากบอลในคาบโดยไม่บอกคนทำ เพราะรู้ว่าฟ้าแลบไม่ยอมเสียคะแนนนิยมไปง่ายๆ เด็กเหล่านั้นจึงปีนระเบียงกลับมาเรียน การเรียนการสอนจึงดำเนินต่อไปได้ บัวบรรณพยายามหาจุดอ่อนของฟ้าแลบและหอมไกล เพื่อจะนำจุดนั้นมาสร้างความมั่นใจให้ทั้งสองคน  เช่น ฟ้าแลบไม่กล้าพูด

บัวบรรณก็ให้เป็นตัวแทนไปแข่งขันด้านการพูด โดยให้ฝึกพูดกับแตงกวา  หอมไกลอยากรำ แต่ไม่เคยได้รับโอกาส บัวบรรณก็เลือกหอมไกลไปรำลาวกระทบไม้ เมื่อทั้งสองคนได้เห็นว่าครูฝึกสอนที่พวกเขาจงใจจะแกล้งมาตลอดเปลี่ยนไป หันมาใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยของพวกเขา เขาจึงเกิดความประทับใจ ไว้วางใจและค่อยๆหันมายอมรับและเคารพในตัวบัวบรรณ ทำให้การฝึกสอนเป็นไปอย่างราบรื่น

ต่างฝ่ายต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน

จุดสุดยอด (climax) ของหญ้าแพรก ดอกมะเขือ และเรือน้อย คือ ตอนที่ฟ้าแลบไม่มั่นใจที่จะขึ้นไปพูดเลยแอบหนีมาที่ระเบียง ทุกคนมาตาม ฟ้าแลบแกล้งพูดเหมือนจะกระโดดตึกแต่ก็ไม่กล้าจึงถอยกลับมา ทำให้บัวบรรณที่พุ่งตัวมาจะรวบตัวฟ้าแลบเสียหลัก พลัดตกลงไป แต่โชคดีที่มือคว้าขอบกันสาดได้ทัน จึงไม่ได้รับบาดเจ็บ เมื่อขึ้นมาได้ บัวบรรณจึงได้พูดในสิ่งที่เป็นความตั้งใจทั้งหมดด้วยน้ำเสียงเด็ดขาดให้ฟ้าแลบฟัง

“ฟ้าแลบ….ครูจะไม่ยอมให้อะไรมาขัดขวางหยาดเหงื่อแรงงานของพวกครูได้เป็นอันขาด ต่อให้เนื้อตัวถลอกปอกเปิก” หล่อนก้มลงมองแขนที่ครูดกับคอนกรีต“ ตกตึก คอหัก แขนหัก ขาหัก... ก็ยอม เธอจะต้องมีหน้าที่ทำให้พ่อแม่กับญาติๆเธอดีใจไปกันเดี๋ยวนี้”ฟ้าแลบไม่เคยเห็นครูบัวบรรณเด็ดขาดขนาดนี้มาก่อน จึงย่อนยวบลงไปทันที” (หน้า ๒๘๐ ) จากเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมาทำให้ หอมไกล ฟ้าแลบ ยอมรับและเคารพบัวบรรณด้วยใจจริง  ทุกอย่างก็เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จากความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะเอาชนะใจเด็กนักเรียนของบัวบรรณ ทำให้ทั้งฟ้าแลบและหอมไกลอยากจะทำดีตอบแทน “สิ่งที่บัวบรรณไม่รู้ก็คือความประทับใจที่หัวหน้าก๊วนทั้งชายหญิงมีต่อหล่อน มีมากพอจะทำให้ฟ้าแลบและหอมไกลคิดหาหนทางขอบคุณครูโดยไม่ได้แพร่งพรายบอกล่วงหน้าให้ครูเห็นชอบเสียก่อน“ ชดใช้ให้ครูบัวว่ะ” เป็นคำตอบของฟ้าแลบที่ให้เพื่อน ๆ เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงยอมเสียประวัติด้วยการทำดีกับครูฝึกสอน”จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่บัวบรรณจะเปลี่ยนคนที่ถือตัวอย่างฟ้าแลบให้มายอมรับตนเอง แต่บัวบรรณได้ลงมือทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจจริง ปมความขัดแย้งทุกอย่างคลี่คลายหมดสิ้น จึงทำให้ฟ้าแลบตอบแทนด้วยการรายงานโดยการแร็พในวันที่อาจารย์มานิเทศน์ ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ฟ้าแลบตั้งใจจะแสดงศักยภาพเพื่อช่วยให้อาจารย์ที่มานิเทศน์ได้ประทับใจและให้เกรด A ตอบแทนครูบัวบรรณ แม้บัวบรรณจะไม่เห็นด้วยกับการแร็พและกังวลถึงผลการเรียนที่จะเกิดขึ้น แต่ผลตอบแทนในความพยายามของบัวบรรณก็สำเร็จ บัวบรรณได้เกรด A จากวิชาฝึกสอน   เป็นสินน้ำใจตอบแทนความพยายามที่เธอทุ่มเทมาตลอดระยะเวลาที่ฝึกสอน

การคลี่คลายปมของหญ้าแพรก ดอกมะเขือ และเรือน้อย นอกจากจะเกิดจากความพยายามและความทุ่มเทของตัวละครหลักอย่างบัวบรรณแล้ว ยังเกิดจากปมความขัดแย้งที่เป็นประเด็นย่อยๆคือ ความขัดแย้ง ระหว่างบัวบรรณและพี่บู๊ต ซึ่งตลอดการดำเนินเรื่องจะพบว่าแม้บัวบรรณไม่ค่อยชอบพี่บู๊ต แม้พี่บู๊ตจะพยายามทำดีด้วยสารพัดในช่วงแรกก็แพ้คนในใจของบัวบรรณ คือ ร้อยเอกนนท์บดี แต่พี่บู๊ตก็ยังมั่นคงในความรักที่มีให้บัวบรรณ ตักเตือนด้วยความเป็นห่วงและให้ความจริงใจกับบัวบรรณอย่างสม่ำเสมอ บัวบรรณเองก็ได้อาศัยความช่วยเหลือจากพี่บู๊ตในหลายๆเรื่องเพื่อจะเข้าหาหอมไกล และ ฟ้าแลบ ได้ง่ายขึ้น การสอนของบัวบรรณจึงผ่านไปได้ด้วยดี

ปมขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องหญ้าแพรก ดอกมะเขือ และเรือน้อย เป็นปมขัดแย้งที่สมจริงเพราะเป็นปัญหาที่นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูจะต้องเจอในชีวิตจริง คือต้องเผชิญกับนักเรียนที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่ความใส่ใจและความตั้งใจจริงของคนที่เป็นว่าที่คุณครูในอนาคตว่าจะทุ่มเท เอาใจใส่เด็กนักเรียนได้มากน้อยเพียงใด ตัวละครหลักอย่างบัวบรรณได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเพียงแค่การรับฟัง เข้าใจ ความเอาใจใส่ในเรื่องราวเล็กๆน้อยๆก็สามารถสร้างความประทับใจให้นักเรียนยอมรับและเคารพว่าที่คุณครูได้อย่างเต็มใจ

หมายเลขบันทึก: 688886เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2021 08:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2021 08:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท