อนาคตของคุณหมอที่ดี ที่ประเสริฐ...


ถ้ามีผู้ป่วยคนนึง เป็นคนต่างด้าว จำเป็นที่จะต้องผ่าตัด โดยมีค่ารักษาพยาบาลประมาณสองแสนบาท และเขาไม่มีเงินในการจ่ายค่ารักษานั้น ในอนาคต ถ้าคุณเป็นหมอเจ้าของไข้ คุณจะทำอย่างไรกับเคสนี้..?

เป็นคำถามที่มีผู้ปกครองของเด็กนักเรียนชั้น ม.๖ คนนึง มาเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง ในวันที่เด็กคนนี้ได้เข้าไปรับการสัมภาษณ์เพื่อเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยทางการแพทย์ชื่อดังของประเทศไทย เขาภูมิใจมากที่ลูกหลานของเขาตอบไปว่า...

ผมเคยไปทำโรงทานเพื่อทำภัตตาหารถวายพระ และแจกกับประชาชน ร่วมกับพ่อแม่ที่วัด และผมเห็นพ่อแม่ลุงป้าน้าอาที่ไปด้วยกัน ร่วมกันบริจาคนำเงินเสียบไม้เพื่อร่วมกันสร้างโรงพยาบาล ผมคิดว่า "สังคมไทยยังมีผู้ใจบุญอยู่มาก" รวบรวมเงินบริจาคคนละเล็กละน้อยเพื่อสร้างอาคารโรงพยาบาลที่มูลค่าหลายพันล้านบาทได้ ผมจะชวนทุกคนร่วมบริจาค หรือตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้...

หลังจากที่กรรมการสัมภาษณ์นั้นได้ฟังคำตอบ ไม่มีคำถามอะไรต่อ และผลปรากฏว่า เด็กคนนี้ได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนเป็นนักศึกษาแพทย์ในปีการศึกษานี้

เขาเล่าให้ฟังต่ออีกว่า... เด็กหลาย ๆ คนตอบว่า "ผมหรือหนูจะนำเงินส่วนตัวของหนูมาจ่ายให้เขาเอง..."

หลังจากที่กรรมสัมภาษณ์นั้นได้ฟังคำตอบ มีคำถามต่ออีกมากมาย...

สิ่งที่เล่ามาข้างต้นนั้นเป็นประเด็นที่น่าจะนำมาคิดวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมและสาเหตุใด เด็ก ๆ จึงมีคำตอบแบบนั้น

--------------------------------------

เกือบทุกครั้งที่มีคณะบุคคลต่าง ๆ เดินทางมาปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ ข้าพเจ้าจะพยายามให้เขาได้เปิดโรงทาน เพื่อสร้างการให้ การเสียสละ โดยรูปธรรม

ข้าพเจ้าไม่ต้องการอาหารจากโรงทานนั้น แต่ต้องการให้อาหารเหล่านั้นเป็นโจทย์ในการประพฤติการปฏิบัติ การภาวนา

บางคนไม่เข้าใจก็บ่นว่า มาที่นี่ไม่เห็นได้ปฏิบัติธรรมเลย ได้แต่ทำกับข้าว ทำโรงทาน ข้าพเจ้าก็อดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นมาโดยตลอด เพราะอยากให้คนที่มาทั้งหลายได้ให้ ได้เสียสละอย่างแท้จริง

การสวดมนต์ นั่งสมาธิ เป็นแค่แบบฝึกหัดเฉย ๆ 

"คนเราจะมีปัญญาได้ เราต้องเสียสละ... เราเสียสละ เราถึงจะมีปัญญา... เรามีปัญญา เราเสียสละ เราถึงจะมีความสุข..." เป็นตรรกกะง่าย ๆ ที่ข้าพเจ้าจะพยายามผ่องถ่ายให้ออกมาเป็นการประพฤติการปฏิบัติอย่างแท้จริง

โจทย์แห่งการภาวนาจึงเกิดขึ้นทั้งในรูปของการทำอาหาร ทำดอกไม้ ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า กวาดวัด ล้างห้องน้ำ...

เด็กหนุ่มคนนั้น (น่าจะอายุประมาณ17-18 ปี) ซึ่งในขณะนี้ได้รับการคัดเลือกเป็นนักศึกษาแพทย์ของมหาวิทยาลัยชื่อดัง ก็มีโอกาสติดต่อพ่อแม่มาปฏิบัติธรรมที่นี่ เพราะสถานที่แห่งนี้เปิดโอกาสให้ทุก ๆ คน ทุก ๆ กลุ่ม ทุก ๆ องค์มาปฏิบัติธรรมได้โดยไม่เสียเงิน เสียสตางค์ และการมานั้น สามารถพาพ่อแม่ กุลบุตรลูกหลานติดตามมาได้

เมื่อลูกให้พ่อแม่ทำความดี สิ่งเหล่านี้ย่อมซึมซับเข้าไปในจิตใจ

ระหว่างที่ทำ... เด็กคนนั้นมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอายตนะที่จะรับที่จะสัมผัสทุก ๆ การกระทำที่เกิดขึ้น เพราะถ้าเราเอาแต่พูด คือ มาถึงก็นั่งพูด นั่งอบรม ก็เท่านั้น เพราะการฟังบางครั้งก็ทะลุหูซ้าย แล้วออกหูขวา แต่การทำ ไม่ว่าจะทำสิ่งใด ถ้าเราทำด้วยจิตใจ ด้วยการเสียสละ กวาดวัดให้มีความสุข ทำกับข้าวให้มีความสุข ล้างห้องน้ำให้มีความสุข สิ่งเหล่านั้นจะฝังลึกเข้าไปในจิตใจ และกรั่นออกมาเป็นแนวคิดที่ชัดเจน แจ่มใสในการทำความดี

เพราะนอกจากที่กรรมการได้ฟังคำตอบเหล่านั้น ข้าพเจ้าคิดว่า... กรรมการจะเห็นสภาพครอบครัวของเด็กคนนี้ว่า อื่ม... พ่อแม่เขาพาเด็กเข้าวัดนะ พาไปปฏิบัติธรรมนะ เด็กไม่ได้พูดว่า หนูไปเที่ยวที่โน่นที่นี่มา ไปเที่ยวต่างประเทศแล้วเห็น ไปเที่ยวห้างแล้วเห็น แต่พ่อแม่หนูพามาวัดแล้วเห็น เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า พ่อแม่ของเด็กคนนี้มีศีลธรรมประจำใจ

พระพุทธองค์ทรงตรัสให้มีวันพระ ๑ วันในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อเปิดโอกาสให้เราละความชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท แต่สมัยนี้ วันพระไม่ตรงกับวันหยุด ให้เราถือเอาวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ได้ หรือวันใดที่มีโอกาส พร้อมหน้าพร้อมตา ก็ให้พากันมาวัด เพื่อสร้างนิสัยแห่งการให้ การเสียสละ

เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้เขาฉลาดในการเรียนรู้ เขาเห็นพ่อแม่ทำอย่างไร เขาก็รู้จักคิดวิเคราะห์แยกแยะดีชั่วออกมาได้

เมื่อพ่อแม่พาเขามาวัด มาเปิดโรงทาน มาร่วมกันทอดผ้าป่าร่วมโรงพยาบาล และที่นี่ก็บอกเพิ่มเติมอีกว่า การสร้างโรงพยาบาลนั้น ได้บุญได้กุศลมากกว่าการสร้างโบสถ์วิหารลานเจดีย์ เพราะถ้าเราสร้างวัด สร้างโบสถ์ วิหาร เจดีย์อะไรต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นส่วนตัวอยู่ คือ ใช้ได้เฉพาะแต่ชาวพุทธ ทว่า.. การสร้างโรงพยาบาลนั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกชาติ ทุกศาสนา ชาวไทย ชาวต่างประเทศ ยากดีมีจน สามารถใช้เป็นประโยชน์ได้หมด การสร้างโรงพยาบาลถึงเป็นมหาทาน เป็นมหาชน...

การเชิญชวนคนมาบริจาคนั้น หากเราคิดอย่างถูกต้อง โดยเราไม่ตั้งเป้าไว้ที่ "เงิน" แต่เราตั้งเป้าไว้ในการเปิดโอกาสให้ทำความดี และเงินเป็นเพียงอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการทำความดีเท่านั้น โดยเราทำอย่างโปร่งใส เริ่มต้นที่จิตใจของเราเอง เงินทุกบาท ทุกสตางค์ต้องให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่หวังลาภ ยศ สรรเสริญใด ๆ 

การสร้างความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง และการพาประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

เราไม่สามารถคิดได้เลยว่า ในห้องสัมภาษณ์ ที่แยกออกไปกว่า ๑๐ ฐาน หรือ ๑๐ ห้องนั้น กรรมการจะถามอะไร เราจะเตรียมอะไรมาคำถาม และคำถามเหล่านั้นจะถูกต้อง หรือถูกใจกรรมการหรือไม่ แต่สิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดจากความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่ผ่องถ่ายออกจากจิตใจ ที่ใส สะอาด และบริสุทธิ์

เราสามารถรับรู้ได้ ว่าความรู้ใดเป็นสิ่งที่ได้อ่าน ได้ฟังมา หรือสิ่งใดเป็นความรู้ที่หยั่งลึก โดยมีรากฐานที่มั่นคงทานจิตใจ

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า... ในอนาคต เราจะมีคุณหมอที่ดีมีคุณธรรมเกิดขึ้นอย่างน้อย ๑ ท่านอย่างแน่นอน เพราะท่านมีพ่อแม่ที่ดี มีครอบครัว สิ่งแวดล้อมที่ดี... ดีเพราะทุก ๆ คนพาทำความดี ประพฤติตนเป็นพ่อแม่ที่ดี ดีที่ประเสริฐ การพูดร้อยครั้ง ไม่เท่ากับการทำให้ดูเพียงครั้งเดียว

เมื่อนักศึกษาแพทย์คนนี้มีตัวอย่างที่ดี เขาย่อมเดินตามในแนวทางที่ดี ตามความรู้นำปัญญาที่มีมาให้ มาเสียสละ โดยรู้จักพื้นฐานแห่งการให้ของสังคมไทย ที่เดินตามทางแห่งหลักไตรสิกขา คือ ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งเป็นการพัฒนาการศึกษาและประเทศชาติอย่างยั่งยืน...

หมายเหตุ : รูปภาพประกอบจากคณะข้าราชการบุคลากรจากกรมประชาสัมพันธ์ ที่ได้มาร่วมปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้...

หมายเลขบันทึก: 688642เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2021 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2021 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท