พุทธเศรษฐศาสตร์ : รู้เท่าทัน "ความรู้..."


เมื่อหลายปีก่อนเคยคุยกับเด็กหนุ่มชาวไทยใหญ่คนหนึ่ง (อายุประมาณ 15 ปี) ที่มาทำงานก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่ เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนตอนที่อยู่บ้านในฝั่งพม่า ไม่เคยกลัวผี เพิ่งมากลัวผีตอนมาทำงานอยู่เมืองไทย เพราะว่าไปดูหนังผีนี่แหละ…


ระบบการเรียนรู้ของคนเป็นการกำหนดทางเดินของคนในสังคมทุกวันนี้ เพราะถ้าสังคมให้เรารู้สิ่งใด และเรารู้ว่าคนส่วนใหญ่เขาเดินไปทางไหน เราก็จะเดินไปตามสิ่งนั้น เข้าตำรา "พวกมาก ลากไป..."
สังคมตามเศรษฐกิจกระแสหลัก นิยมเงิน นิยมวัตถุ จึงบอกเราและสอนสั่งพวกเราทั้งหลายว่า ทุกคนต้องเรียนเพื่อให้ได้งานที่ดี งานที่ดีตามนิยามคืองานที่สามารถทำเงินให้เราเป็นจำนวนมาก เมื่อเรามีเงินมาก เราก็สามารถนำเงินไปแลกซื้อกับความสุขได้..!

งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข..?
คนส่วนใหญ่จึงทุ่มเททั้งชีวิตไปเพื่อ "เงิน"


การถูกกล่อมเกลาทางความคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เป็นการสร้างวิถีชีวิตของมนุษย์ให้ดำเนินไปตามกระแสแห่งกิเลส โดยสร้างความอยาก ความต้องการ ซึ่งอยู่ในรูปของ "ความหวัง..."

หวังว่าเรียนจบแล้วจะมีความสุข
หวังว่าได้งานที่ดีแล้วจะมีความสุข
หวังว่ามีเงินแล้วจะมีความสุข...


มีผู้ช่วยผู้พิพากษาที่เพิ่งสอบติดใหม่ ๆ และระหว่างอยู่ในขั้นตอนการฝึกอบรมเพื่อเป็นผู้พิพากษา คนหนึ่งเคยพูดกับข้าพเจ้าว่า "ผมเคยคิดว่า เมื่อผมสอบติดแล้ว ผมจะมีความสุข..."
เขาได้เล่าต่ออีกว่า ตอนผมรู้ใหม่ ๆ ว่าสอบติดนั้น ผมก็ดีใจนะ แต่เมื่อคิดต่อไป ผมยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก ตั้งแต่คิดหาที่เช่าบ้าน การเดินทางต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร เพื่อมาเข้าคอร์สอบรม และฝึกงานอีกเป็นปี ๆ..."

ความหวังที่ไม่มีวันสิ้นสุด...
เมื่อได้งานแล้ว ต่อไปก็ต้องมีรถ มีบ้าน มีครอบครัว มีลูก มีครอบครัว
เราใช้ความสุขอย่างการได้อย่างหนึ่ง เพื่อชดเชยความทุกข์อีกอย่างหนึ่ง จึงเป็นชีวิตที่สุข ๆ ทุกข์ ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

มิเท่านั้น... เช่น เรามีรถคันหนึ่งแล้ว ตอนออกมาใหม่ ๆ ก็ดีใจ ตื่นเต้น พอใช้ไปสักพัก เห็นรถคันอื่นดีกว่า ใหม่กว่า รถที่เคยทำให้เรามีความสุข ก็กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์

ความพอใจ พอดี และพอเพียงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
พระพุทธองค์ท่านจึงทรงตรัสว่า "ความสุขใด จะเสมอด้วยความสงบนั้น ไม่มี..."
ความสงบนั้นมิใช่เราจะต้องเดินทางเข้าไปในป่า ไปร่องเรืออยู่กลางทะเล เหมือนกับที่สังคมสอนเราว่า เราต้องไปท่องเที่ยวนะ เราถึงจะมีความสุข ความสงบมิใช่อย่างนั้น

แต่ความสงบที่แท้จริง คือ สงบจากความอยาก ความต้องการ ที่จะทำให้จิตใจของเราฟุ้ง กระเจิดกระเจิง 
เห็นรถหรู ๆ ก็ฟุ้ง เห็นบ้านหลังโต ๆ ก็ฟุ้ง เห็นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ออกมาก็ฟุ้ง เหมือนฝุ่นหรือควันที่ฟุ้งกระจายไปตามลมคือกระแสแห่งกิเลสที่พัดพาไป 
เมื่อใจของเราเบา ใจของเราก็ฟุ้งไปเรื่อย เช่นนี้เอง จิตใจของเราจึงไม่มีวันที่จะได้สัมผัสกับความสงบเลย

เราต้องมีจิตใจหนักแน่น เข้มแข็ง มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ชีวิตของเราถึงจะดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง
เราต้องมีเครื่องคัดกรองความรู้ที่จะเข้ามาในจิตใจของเรา และต้องเข้าใจว่า ความรู้สิ่งใดที่เรารู้นั้นจะเป็นมโนภาพแห่งจิต สร้างภาพเสมือนขึ้นมาให้เรายึดถือและเดินตาม

สำหรับเรื่องของเด็กหนุ่มชาวไทยใหญ่ ที่ข้าพเจ้ายกขึ้นมาเขียนในตอนแรกนั้น คนไทยหลาย ๆ คนก็รับรู้เรื่องผีจากหนังผีกันเป็นปกติ ว่าผีต้องโผล่ออกมาจากตรงนั้นตรงนี้ โผล่มาตามหน้าต่าง ยืนอยู่ที่ปลายเตียง ต้องแลบลิ้น ปลิ้นตา ฯลฯ ถ้าหากย้อนคิดกลับไปดี ๆ ว่า ความคิดเรื่องผีเหล่านั้นมาจากไหน...

แต่อีกหลาย ๆ ครั้ง เมื่อข้าพเจ้าเจอกับวัยรุ่นหนุ่มสาว... สำหรับผู้หญิงข้าพเจ้าก็จะบอกกับเขาว่า "ผีน่ะ ไม่น่ากลัวเท่าผู้ชายหรอกนะ..."
เรากลัวผีมากี่ปี บางคนกลัวมาทั้งชีวิต ถามจริง ๆ ว่า เคยเจอผีไหม หรือถ้าเจอ ผีจะทำความทุกข์ให้เราได้นานขนาดไหน
แต่ถ้าเป็นผู้ชาย ที่สร้างมโนภาพแห่งความรักเพื่อให้เราหลง เราจะต้องทุกข์ไปจนวันตาย
ย้อนกลับมาถึงความคิดในสังคมที่บอกสอนเราเสมอว่า เราต้องแต่งงาน ต้องมีครอบครัว เราแต่งงานจะมีความสุขนะ.. ผู้หญิงไม่แต่งงานขึ้นคานนะ.. ถ้าเราไม่แต่งงาน ตอนแก่ตัวลงแล้วใครจะมาเลี้ยงเรา...
 
แต่งงานแล้วมีความสุขไหม..?
ยัง ๆ ต้องมีลูก ถึงจะมีความสุข...
มีลูกแล้วมีความสุขไหม..?
ยัง ๆ ต้องให้ลูกโตซะก่อน ถึงจะมีความสุข...
ลูกโตแล้วมีความสุขไหม..?
ยัง ๆ ต้องให้เข้าได้งานที่ดี ๆ ก่อน...
ได้งานที่ดีแล้วมีความสุขไหม..?
ยัง ๆ ต้องให้เขาตั้งตัวได้ก่อน...


"การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป..."
ไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้นกับเรา เมื่อนั้นก็เปรียบเสมือนเราก้าวขาข้างหนึ่งไปสู่ความทุกข์

ความเกิดนั้น มิใช่การเกิดแต่ทางร่างกาย แต่การเกิดทางความคิดนี่แหละ คือความทุกข์อันใหญ่หลวง

การเกิดทางความคิดเกิดได้อย่างไร ก็เกิดจากการเรียน การศึกษา การสั่งสมทางสังคมทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม 
นี่เองเราทั้งหลายจึงมิอาจพ้นจากสังสารวัฏแห่งความทุกข์ได้ เพราะเราต้องรับสิ่งต่าง ๆ เข้ามาทั้งจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ลงมาสู่ใจอยู่ตลอดกาล ตลอดเวลา

ดังนี้เอง ธรรมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จึงย่นย่อลงมาที่ "สติ สัมปชัญญะ"
เราต้องมีสติ สัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอในการที่จะรับรู้สิ่งต่าง ๆ ทางสังคม
สติ จะเป็นเครื่องคัดกรอง สิ่งที่เราควรรู้ หรือมิควรรู้
สัมปชัญญะ จะช่วยคิด วิเคราะห์ พิจารณา สิ่งที่เรารู้นั้นว่าเราจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร หรือแม้แต่สิ่งที่มิควรรู้ ถ้าหากเราคิดพิจารณาให้ดี ก็จะกลายเป็นประโยชน์ 

การดำเนินชีวิตในสังคมทุกวันนี้ เราจำเป็นต้องมีสติสัมปชัญญะที่แข็งแรง แข็งแกร่ง
เราต้องมีสัมมาสมาธิ อันเป็นสมาธิที่เป็นธรรมชาติในชีวิตประจำวัน
แล้วดวงตาของเราจะสว่างขึ้นโดยพลัน ตานอกของเราก็จะสามารถมองเห็นได้อย่างเฉียบขาดและชัดเจน ตาในก็จะใส สว่าง บริสุทธิ์ แล้วชีวิตของเราก็จะสมบูรณ์มีคุณค่า ตามเหตุตามปัจจัยที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง...
หมายเลขบันทึก: 688622เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2021 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2021 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท