พุทธเศรษฐศาสตร์ : มันต้องแลกด้วยชีวิต...


จากห้องเรียนของสาขาวิชาพัฒนบูรณาการศาสตร์ ในการบรรยายความรู้เรื่องพุทธเศรษฐศาสตร์ โดย ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ของบ่ายวันนั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ต้องศึกษาวิเคราะห์ วิจัยเชิงลึก ไม่ใช่แค่เพียงหลังชนฝา แต่ต้องแลกมาด้วย "ชีวิต..."

จากเด็กจบปริญญาตรีใหม่ ๆ ที่ได้มีโอกาสทำงานในสำนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเงินเดือน เดือนละ ๔,๐๐๐ บาท (เงินเดือนปริญญาตรีสมัยนั้น ๖,๓๖๐ บาท) แต่เชื่อไหมว่า เงินเดือน ๔,๐๐๐ บาทนั้นแทบไม่ได้ใช้เพราะ มีพี่ ๆ ที่เรียนปริญญาโทที่เป็นลูกศิษย์ของท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ที่เป็นที่ปรึกษาพี่ ๆ ปริญญาโทเหล่านั้น มาจ้างโน่นจ้างนี่ให้เราทำตลอด ทั้งคีย์ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล จนกระทั่งช่วยทำจนเกือบครบ ๕ บท

การได้รับโอกาสจากท่านรองอธิการบดี ให้นั่งฟังทุกครั้งที่มีพี่ ๆ ปริญญาเข้ามารับการปรึกษา และได้โอกาสเข้าไปนั่งฟังการวิพากย์วิทยานิพนธ์ ณ สำนักงานบัณฑิตวิทยาลัย ชีวิตของ "มือปืน" จึงสดใสขึ้นมาโดยบัดดล...

ตอนนั่งฟังพี่ ๆ ทำวิทยานิพนธ์กันทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่มมันก็ตื่นเต้นดีนะ เพราะเราก็เพิ่งเคยได้ทำตอนเรียนปริญญาตรีมาเล่มเดียว แต่การทำงานอยู่ที่นั่นปีกว่า ๆ ได้ฟังแล้ว ได้ฟังเล่า รวมถึงได้ทำงานวิจัยของสำนักวิจัย ซึ่งเป็นภาระกิจหลักที่ท่านจ้างเราไปทำงาน รวมถึงช่วยงานที่ท่านรับงบประมาณมาจาก สกว. สกอ. จึงทำให้ได้โอกาสสั่งสะสมฝึกปรือวิชาการมาเป็นจำนวนมาก

จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเรียนต่อปริญญาโท ก็ได้เป็นที่พึ่งพาของเหล่าพี่ ๆ ที่ต้องใช้เรียนรู้โปรแกรม SPSS (Statistical Package for Social Science)

ซึ่งเราก็มีโอกาสนี้ เพราะช่วงชีวิตของเราได้อยู่กับอาจารย์ที่ดี ที่ท่านถือว่าเป็นนักวิจัยที่เก่งมาก และมีโอกาสไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ซึ่งในขณะนั้น คอมพิวเตอร์ยังไม่ทันสมัยเท่ากับในปัจจุบัน ท่านจึงสอนเราทำ คือวิเคราะห์ข้อมูลในระบบ DOS (Disk Operating System)

การคีย์ข้อมูลแบบสอบถามใน DOS ก่อนที่จะดึงข้อมูลไปใช้โปรแกรม SPSS สามารถประหยัดเวลาลงได้ครึ่งหนึ่ง คือ ลดการกดคีย์บอร์ดลงได้ จาก 2 ครั้ง เป็น 1 ครั้ง คือกดแค่ครั้งเดียว

เพราะการคีย์ข้อมูลใน DOS เราสามารถกดเลข 0 หรือ 1 ติดกันไปได้โดย โดยไม่ต้องกด space bar หรือ ปุ่มลูกศร เพื่อขยับ cells ให้ย้ายไปในแต่ละ column ซึ่งง่ายและไวกว่ามาก

ซึ่งสบายมาก กับการอดนอนคืนละสามถึงสี่ชั่วโมง ในแต่คีย์ข้อมูลแบบสอบถามให้กับพี่ ๆ แต่ละคน ซึ่งก็ได้สตางค์มีกินขนมวันละหลายร้อน จนถึงเกือบพันบาท (เงินเดือนตอนนั้น ๔,๐๐๐ บาท)

Note : แต่มีสิ่งที่เราเห็นได้มากกว่าเงินตอนนั้น คือ คนตอบไม่ได้ตั้งใจตอบเลย หรือดูให้ดี ๆ มันก็ปากกาแท่งเดียวกัน รอยขีดถูกก็เหมือน ๆ กัน อื่ม...! 

ชีวิตก็วนเวียนไปแบบนั้นนับแรมปี กระดาษแบบสอบถามหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่นหน้า ก็วนเวียนเข้ามาให้จิ้มๆๆ คีย์ๆๆๆ แล้วก็เห็นวงจรเดิม ๆ ขีด ๆ เขี่ย ๆ มา หรือไม่ก็ขีด ๆ กันมาเอง แต่พอนำไปวิเคราะห์ทางสถิตินี่ โอ้โห เลขจุดทศนิยมเดียวนี้ คิดวิเคราะห์กันสมองแทบแตก แล้วแถมนำไปเป็นผลงานวิจัยที่เผยแพร่ออกไปเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมไทยอีกต่างหาก

จากเด็กคีย์ข้อมูลตัวเล็ก ๆ ในสำนักวิจัย ก็มีโอกาสได้ใช้ประสบการณ์นี้ในการสอนวิชาวิจัยในขั้นต่อไป

เมื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าไปสอนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก็ได้รับโอกาสในการสอนวิชา "วิจัย" แล้ววงจรก็วนเข้าสู่ Loop เดิม คือต้องไปมองหน้ากระดาษแบบสอบถามแบบนั้นซ้ำๆ และซ้ำๆ

และโอกาสในวงการวิชาการก็เปิดกว้างมากขึ้น เมื่อสมัยนั้นมีโครงการกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาล จึงทำให้นักวิชาการต้องทำวิจัยเกี่ยวกับผลที่ตามมาของโครงการนั้น

การเดินทางไปรับฟังการบรรยาย การอบรมในฐานะอาจารย์และผู้วิจัยเกี่ยวกับโครงการของรัฐ จึงได้เริ่มต้นขึ้น

จากการวิจัยเชิงปริมาณ ก็เริ่มต้นก้าวเข้ามาสู่การวิจัยเชิงคุณภาพ จนกระทั่งถึงโครงการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งต้องวิจัยแบบ PAR (Participatory Action Research) 

ตอนนั้นก็สนุกสนานและตื่นเต้นกับความรู้อะไรต่าง ๆ ที่ได้มาใหม่ ๆ จนกระทั่งได้มีโอกาสไปร่วมคณะวิจัยอิสระภายในชุ่มชน หรือกลุ่ม NGO ที่รับเงินมาจากรัฐบาล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็ได้เห็นทัศนคติใหม่ ๆ จากองค์กรทั้งในระบบและนอกระบบ

จนกระทั่งมีวันหนึ่ง จำได้ว่านั่งอยู่ในห้องประชุมภายในมหาวิทยาลัย ก็มีคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ เดินทางมาบรรยาย แล้วก็เชิญพี่น้องประชาชนจากหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งประสบความสำเร็จทางด้านการปลูกข้าว ได้ถูกเชิญมาให้นักวิชาการสัมภาษณ์ภายในห้องนั้น แล้วนักวิชาการจากทุกแขนงก็มอบความฝัน มอบโครงการให้กับชาวบ้านผู้ปลูกข้าวหมู่บ้านนั้น (คือเขาสำเร็จก่อนที่จะทำวิจัยนะ) เพื่อที่จะไปทำวิจัยถ่ายทอดความรู้อะไรต่าง ๆ อีกมากมาย ตามความคิดของนักวิชาการ

"อย่าเลยครับ ให้ผมได้อยู่บ้าน ทำงานของผมเถอะ"

เป็นคำตอบของผู้นำชาวบ้านที่มาในวันนั้น

เพราะตั้งแต่ที่เรื่องข้าวของเขาประสบความสำเร็จ คือ เขาก็ปลูกข้าวของเขาปกตินั่นแหละ แต่หน่วยงานในชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด นำข้าวของเขาไปประกวดและได้รับรางวัลมา ก็เหมือนกับเป็นปลาชิ้นใหญ่ให้นักวิชาการทั่วประเทศไทย กระโจนเข้าใส่เหมือนกับเป็นขนมหวาน

ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป เพราะเขาต้องคอยต้อนรับนักวิชาการ เชิญเขาไปโน่นไปนี่ จนไม่เหลือวิถีชีวิตเดิม

วันนั้นเราก็มีโอกาสได้ย้อนกลับมาคิด ว่าสิ่งที่เราเข้าไปทำนั้นมันมีประโยชน์จริงไหม ไปสร้างความฝัน สร้างทฤษฎีอะไรใหม่ ๆ โดยเฉพาะทฤษฎี "ร่ำรวย" รวยเงิน รวยความรู้ให้กับชุมชน สุดท้ายก็เข้าสู่วัฏจักรเศรษฐศาสตร์จักรกล คือ"ทำงาน หาเงิน แล้วเอาเงินไปแลกความสุข..."

สิ่งที่เขาเป็นอยู่ทุกวันเขาก็มีความสุขดีอยู่แล้ว พออยู่ พอกิน พอเพียง...

ที่เรามาทั้งหมดนี้ จะเชื่อมโยงให้เห็นว่าในห้องเรียนพุทธเศรษฐศาสตร์วันนั้น ในใจของข้าพเจ้าเกิดอะไรขึ้น..?

เมื่อได้ฟังบรรยาย ตอนนั้นคิดว่า "เจ๋งมาก" เป็นความรู้ที่ดี นี่แหละเป็นทฤษฎีที่จะทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากวงจรแห่งเศรษฐกิจเชิงนโยบายที่กำลังเป็นอยู่

แต่ทว่า... มันขาดอะไรอยู่นะ "มันยังไม่ถึงใจ..."

ตอนที่เป็นอาจารย์ เป็นนักวิชาการ ก็ได้โอกาสไปฟังบรรยายเรื่องการวิจัยทั่วประเทศ ก็ได้คิดถึงการวิจัยแบบหนึ่งคือ การวิจัยแบบฝังตัว...

อื่ม... มันต้องพิสูจน์

แต่การพิสูจน์ตามหลักการวิจัย ถึงแม้ว่าจะฝังตัวก็เป็นแค่การทดลอง เปรียบเสมือนมีขาสองขา ก็ก้าวลงไปขาหนึ่ง อีกขาหนึ่งก็ยังเป็นนักวิชาการอยู่ ถ้าผิดพลาดก็กดรีสตาร์ทใหม่ได้ แล้วความรู้ที่ได้มามันจะถึงใจเหรอ..?

มันต้องแลกด้วยชีวิต...

ถ้าคิดจะกระโดดลงไปในบ่อ ก็จงกระโดดลงไปทั้งสองขา ถ้าจะตายก็ต้องยอมตาย เพราะถ้าไม่ตายก็มิได้ความรู้ที่แท้จริง

ชีวิตกว่า ๑๔ ที่กระโดดลงบ่อเพื่อค้นหาความรู้ทางพุทธเศรษฐศาสตร์ที่ต้องกระโดดลงมาทั้งชีวิตนี้ มีโอกาสมากมาย ที่ต้องได้รับ ได้สัมผัส เพราะความตายนั้นตายจริง ๆ ... "วันที่พ่อของข้าพเจ้าละสังขารไป วันนั้นพ่อของข้าพเจ้าตายจริง ๆ นะ"

เราไม่ได้แค่ทำจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ การให้มาซึ่งความรู้ที่ถึงใจนั้นมันต้องแลกด้วยชีวิต

ถ้าหากจะลองใช้ชีวิตที่ไม่มีเงินสักวัน สักเดือน ก็จะได้รู้ ได้สัมผัสอย่างหนึ่ง แต่มาลองทำสักสิบปีดูสิ

หรือตัวอย่างที่มีการล็อคดาวน์ ห้ามประชาชนออกจากบ้านช่วงที่ covid ในประเทศไทยระบาดใหม่ ๆ ลองค้นลึกไปในจิตใจของตนเองดูว่า ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร เมื่อคลายล็อคดาวน์แล้วเป็นอย่างไร ห้างแทบระเบิด ตามชายทะเลก็เต็มไปด้วยผู้คนที่อัดอั้นตันใจกันมานาน แล้วลงมาล็อคดาวน์ตัวเองสักสิบปี แบบไม่มีเงินใช้ ไม่มีบันเทิงอะไรให้ดู แล้วจะรู้ถึงความเหมือนที่แตกต่างกัน

"ต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ"

ข้าพเจ้าหยุดเขียนบทความใน gotoknow มาหลายปี เพราะเนื่องด้วยมีภาระกิจประจำ แต่ด้วยเหตุผลจากการแพร่ระบาดของ Covid 19 ทำให้ภาระกิจประจำนั้นเบาบางลง จนกระทั่งครูบาอาจารย์มาบอกว่า "ต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ" คือ ท่านมองเห็นว่า ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์เสมอ สมองและจิตใจต้องพัฒนาอย่าให้ขาด ท่านจึงมามอบหมายงานอันเป็นโอกาสในการถ่ายทอดสิ่งที่พบในบ่อน้ำบ่อใหญ่ที่กระโดดลงมานับสิบปี

สิ่งที่พบ... การเขียน การคิด ต้องพัฒนาจริง ๆ เมื่อหยุดไปนาน ๆ ก็เหมือนกับสนิมขึ้น แต่นั่นแหละ ต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ ...

คนเราจะหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องพัฒนาในการให้ การเสียสละ

ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ เราต้องนำลมหายใจนี้มาทำความดี นำสิ่งที่มีอยู่ในตัวในตน ออกมาคิด มาวิเคราะห์ แล้วสืบเสาะค้นหาสาเหตุที่แท้จริง หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ คิดเพื่อให้ ทำเพื่อเสียสละ ทำทุกวัน ๆ จนชำนาญ เป็น "วสี" ด้วยการมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง ให้เป็นไปตามครรลองให้พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพื่อสืบสานแนวทางจากการพ้นภัยจากวัฏฏสงสารอย่างแท้จริง...

หมายเลขบันทึก: 688616เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2021 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2021 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท