ชีวิตที่พอเพียง 3878. เปลี่ยนขาดการชุมนุม



หนังสือ The Art of Gathering : Why We Meet and Why It Mattersเขียนโดย Priya Parker    บอกว่า มีลู่ทางที่จะเพิ่มคุณค่าของการชุมนุม  การประชุม  หรืองานปาร์ตี้ได้ เจ้าภาพการประชุมทุกรูปแบบไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้ 

หลักการง่ายๆ (แต่คนส่วนใหญ่มักพลาด) คือ กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน    แล้วกำหนดกติกาของการพบปะ    สถานที่พบปะที่ช่วยการบรรลุเป้าหมาย    และหาทางให้แขกได้เป็นตัวของตัวเอง   

คำแนะนำนี้อยู่บนฐานวัฒนธรรมฝรั่ง    คนไทยเอามาใช้ต้องปรับให้เหมาะแก่ฐานวัฒนธรรมไทย    เช่นเขาแนะให้จัดปาร์ตี้เพื่อนนักเรียนเก่าที่สุสาน เพื่อเตือนใจเพื่อนๆ ให้นึกถึงวันเวลาในวัยเด็ก    เราคงจะไม่จัดปาร์ตี้ในป่าช้า  

ฝรั่งมีวัฒนธรรมปาร์ตี้สำหรับช่วยให้คนทำความรู้จักกัน    ซึ่งคนไทยเราไม่คุ้น ยิ่งคนมีนิสัย introvert อย่างผมยิ่งงุ่มง่าม    แต่เขาก็บอกว่า แม้ฝรั่งเองก็มักเตรียมจัดปาร์ตี้ผิดทาง    คือหลงเน้นที่ความสวยงาม  ลืมเป้าหมายหลักของปาร์ตี้นั้น    ว่าต้องการหนุนให้มนุษย์เชื่อมโยงกัน  

หลักการคือ ต้องวางแผนทำให้การชุมนุมนั้นมีความหมายสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม    ความหมายอยู่ที่ไหน นั่นคือเป้าหมายของการชุมนุม    โดยเริ่มจากคำถาม “ทำไม” (why)    ทำไมจึงจัดการชุมนุมนั้น    แล้วจึงออกแบบการชุมนุมให้บรรลุเป้าหมายนั้น  

ตามด้วยคำถามว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จของการชุมนุมคืออะไร    ต้องการเน้นที่ปริมาณ (จำนวนผู้เข้าร่วม) หรือคุณภาพ (ความประทับใจของผู้เข้าร่วม)    เขาถึงกับแนะนำให้เอาชื่อแขกที่จะเชิญ มาขีดชื่อออก ให้เหลือแต่คนสำคัญจริงๆ เท่านั้น   

ใช้เป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) ในการเลือกเชิญแขก   และในการคัดชื่อคนออก  

เจ้าภาพต้องแสดงอำนาจของเจ้าภาพโดยกำหนดกติกา    แสดงอำนาจที่สะท้อนความเอื้อเฟื้อในฐานะเจ้าภาพ    เพื่อให้แขกได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วม    โดยกำหนดกติกา    ที่อาจดูแปลกๆ แต่ช่วยลดความแข็งตัวของปฏิสัมพันธ์ระหว่างแขกที่เข้าร่วม   

ใช้กติกาเป็นเครื่องมือปลดปล่อยให้แขกรู้สึกอิสระ ในท่ามกลางการชุมนุม    หรืออาจกล่าวว่า ใช้กติกาสร้างบรรยากาศผ่อนคลายก็ได้    เช่นกำหนดกติกาว่า ห้ามแขกรินเครื่องดื่มเอง     ต้องขอให้แขกคนใดคนหนึ่งรินให้    กติกาง่ายๆ ช่วยให้แขกรู้จักและสนิทสนมกัน

อีกคำแนะนำคือ ให้เตรียมสร้างอารมณ์แขกไว้ล่วงหน้า    เช่นก่อนกินเลี้ยงฉลองคริสต์มาสหนึ่งวัน    แจ้งแขกที่ได้รับเชิญให้ส่งรูปที่แสดงอารมณ์สนุกสดชื่น ๒ รูป    เป็นการช่วยให้แขกแต่ละคนค้นหารูป และมีความสุขสดชื่นล่วงหน้าหนึ่งวัน    ในวันงานเขาจะไปร่วมด้วยอารมณ์นั้น     

เมื่อแขกมาถึง กล่าวคำต้อนรับโดยเอ่ยชื่อแขก    เพื่อสร้างความประทับใจและความคุ้นเคย    และเมื่อแนะนำแขกให้รู้จักกัน อย่าแค่แนะนำชื่อ  ให้แนะนำเรื่องราวที่น่าสนใจของผู้นั้น   

ผู้เขียนเล่าเทคนิคการทำหน้าที่กระบวนกร (facilitator) ในงานเลี้ยงของ World Economic Forum    โดยกำหนดกติกาง่ายๆ ว่าเมื่อเชื้อเชิญใครให้ลุกขึ้นเชิญดื่ม แทนที่จะกล่าวอวยพร ขอให้เล่าเรื่องส่วนตัวสั้นๆ หนึ่งเรื่อง     กิจกรรมนี้ช่วยให้คนรู้จักกันได้ดียิ่ง     ตัวอย่างคำกล่าวในหนังสืออ่านแล้วกินใจยิ่ง    และชักนำให้ผู้กล่าวทีหลังเล่าเรื่องที่ประทับอารมณ์ต่อเนื่อง   

หลักการง่ายๆ ไม่ว่าทำอะไร คือเริ่มด้วยสิ่งน่าประทับใจ    และจบด้วยความประทับใจ

หมายเหตุ   คำว่า “เปลี่ยนขาด” ในชื่อบันทึก มาจากคำว่า disrupt    เป็นศัพท์ของราชบัณฑิต    

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ธ.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 688582เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2021 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2021 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท