Self -Talk : Talking to Strangers รู้หน้าไม่รู้ใจ การอ่านใคร ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด


22 ธันวา 63 ถึง 26 มกรา 2564

เกือบสองเดือนเต็มที่เราใช้เวลากับหนังสือเล่มนี้ Talking to Strangers ศิลปะแห่งการอ่านคน 

ชื่อเรื่องดูเหมือน หนังสือแนวบริหารจัดการ หรือหมวดจิตวิทยาประยุกต์ แต่เอาเข้าจริง โหย เล่มนี้ ครบเครื่องทั้งจิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ แพทยศาสตร์ อ่านเล่มเดียวนี้ ได้มุมมองรอบด้านแบบสหวิชาชีพไปพร้อมกัน มัลคอล์ม แกลดเวลล์ คนเขียนนี่สุดยอดเลยนะ กว่าจะมาเป็นเล่มนี้ได้ต้องเก็บข้อมูลอะไรมากและลึกพอจริงๆ

หนังสือหนาเลยทีเดียว สามร้อยกว่าหน้า และเป็นหนังสือที่อ่านยากพอควร เพราะการวางเรื่องแบบมีสตอรี่ มีกรณีศึกษา แล้วผูกโยงกับแนวคิด ทำให้ต้องอ่านเชื่อมโยง ใช้จินตภาพแล้ววิเคราะห์ตาม 



ถึงจะอ่านยาก แต่ก็ไม่น่าเบื่อ เพราะแต่ละตัวอย่างที่ยกมานี่ โดนๆทั้งนั้น ตั้งแต่เคสที่ดูเหมือนเล็กๆ (แต่ก็เล็กบรรลือโลก คือมีมวลชนสนใจเป็นข่าวดัง) จนถึงเคสระดับประเทศต่อประเทศ ความหลากหลายของกรณีศึกษานี่ดึงดูดเรามาก

หนังสือใช้การเดินเรื่องแบบเรื่องเล่าที่เร้าความสนใจ ให้สืบค้น ตั้งแต่ :

การจับกุมคนเล็กๆด้วยความไม่เป็นธรรม โดยถูกครอบงำจากความโน้มเอียงที่เชื่อว่าเราเข้าใจคนอื่นโดยง่าย

การไต่สวนผู้ต้องหาอย่างคลาดเคลื่อนในชั้นศาลของอัยการและผู้พิพากษา

การฆ่าตัวตายของกวีหญิงรางวัลพูลลิซเชอร์ที่บ่งชี้แบบแผนเฉพาะของสตรีในการเลือกปลิดชีวิตนเอง

การล่วงละเมิดทางเพศปาร์ตี้ของนักศึกษาที่สัมพันธ์กับสุราและการตีความหมายการสื่อสารที่ผิดพลาด

การทดสอบความจำของผู้ก่อการร้ายและหน่วยรบพิเศษ หลังเจอความกดดันอย่างหนัก แล้วพบว่าคลาดเคลื่อนพอกัน

ไปจนกระทั่งถึงการที่ไม่สามารถจับสัญญาณการแฝงตัวของสายลับในหน่วยข่าวกรองได้

และความผิดพลาดใหญ่หลวงอันเกิดจากการเชื่อมั่นเกินไปว่าเราสามารถเข้าใจผู้อื่นโดยไม่ยากจากการพบปะระหว่างผู้นำอังกฤษกับฮิตเลอร์ , นักสำรวจชาวสเปนกับกษัตริย์มอนเตซูมา เม็กซิโก , นักมานุษยวิทยาฝรั่งกับชนพื้นเมืองในโบลิเวียและปาปัวนิกินี

ส่วนตัวคิดว่า คุ้มที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ต้องค่อยๆอ่าน แล้วใคร่ครวญตาม เลยอ่านวันละนิดๆเรื่อยมาตั้งแต่ปลายธันวาปีก่อน แล้วสองวันก่อนหน้าที่จะเขียนบันทึกนี่ก็ทุ่มเวลาลุยอ่านจนจบเลย ไม่รับเอางานอะไรมาใส่หัวมากชวงนี้ เพราะอยากจดจ่อกับการเขียน Reflection ตามที่ได้รับปากอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ที่กรุณาแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้


“”””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

การพูดความจริงแต่ดูเหมือนโกหก (เพราะประสาทกิน)

การที่เขาแสดงการอ่อนน้อมแต่จริงๆแล้วเขาหมายถึงว่าเขามีอำนาจเหนือกว่า (เพราะวัฒนธรรมการสื่อสารของกลุ่มชาติพันธุ์มีความต่างกัน)

การแสดงสีหน้าหวาดกลัว แต่กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มมองว่านี่คือการข่มขู่

ในขณะที่ความหวาดกลัวลึกๆในบางสถานการณ์ คนกลับสงบนิ่ง เหมือน “ใจดีสู้เสือ”

สุรา ความเครียดและกดดันอย่างหนัก ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์นั้น

มีผลต่อความทรงจำและการให้ปากคำที่เกี่ยวกับช่วงเวลานั้นพร่ามัว จนถึงเชื่อถือไม่ได้

ถ้าเราใส่ใจ ศึกษาการฆ่าตัวตายให้ลึกพอ เราจะพบว่ามีสไตล์ มีแบบแผนการฆ่าตัวตายของคนที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริบททางสังคมวัฒนธรรม สถานที่ เวลา นโยบายของรัฐ รวมถึงเพศสภาพและ ภูมิหลังประสบการณ์คนๆนั้น

การนิ่งเฉยของจารชนเมื่อถูกสอบพิรุธสะท้อนถึงการยอมรับ แต่ความเชื่อมั่นว่าเราเข้าใจอวัจนะภาษาและการแสดงออกของคนโดยง่าย ทำให้ผู้นำหน่วยข่าวกรองมองข้ามไปจนเกิดความเสียหายใหญ่หลวง

การพบปะระหว่างผู้นำประเทศเพื่อสร้างความคุ้นเคย เพราะคิดว่าเราจะเข้าใจเขามากขึ้น แต่พอพบแล้ว ด้วยความมั่นใจว่าคนเราชัดเจน ตรงไปตรงมา ทำให้หลงมองข้ามการทำความเข้าใจตัวตนที่แท้ของเขา และด่วนสรุปว่าเขาเป็นอย่างที่เราตีความ จนยิ่งพบยิ่งเข้าใจเขาคลาดเคลื่อนไปใหญ่ จนเกิดสงครามทำคนตายไปหลายสิบล้านคน (เศร้า)

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอในชีวิตประจำวัน รวมถึงเหตุการณ์บันลือโลกที่ยกมาเป็นกรณีศึกษามากมายหลายระดับในหนังสือเล่มนี้

มนุษย์เราไม่ได้มีอะไรตรงไปตรงมา ให้อ่านได้เข้าใจตรงๆเสมอไป


‘’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’

พออ่านหนังสือเล่มนี้มาถึงตอนท้ายๆ ทำให้เรานึกถึงสิบกว่าปีก่อน ตอนไปสัมมนาวิชาการที่เกาหลีใต้ กำลังจะออกจากสนามบินอินชอนที่นั่น จู่ๆเจ้าหน้าที่ก็เรียกแยกออกมาจากคณะเพื่อสอบถามเรื่องการมา และก็ค้นเราสารพัด เราก็บอกชี้แจงหลักฐานหลายอย่างด้วยความสุภาพ แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็ดูเหมือนไม่เข้าใจ กว่าจะปล่อยเราออกจากห้องที่สนามบินก็ร่วมสามชั่วโมง

หัวหน้าคณะนักวิชาการที่พาเรามา บอกกับเราตอนได้รับการปล่อยตัวว่า ท่าทาง สายตา ที่เราใช้ตอนลงเครื่องแล้วมาสนามบิน มันอาจไปตรงกับบุคลิกลักษณะอะไรบางอย่างที่เขาสังเกต หรือดันซวย ไปมีรูปพรรณสัณฐานไปตรงกับคนที่เขาตามหา เขาเลยสงสัยคิดว่าเราเป็นสายลับ

อืม!!! คิดในเชิงบวกว่าเออ เราก็คงเท่ห์ดี เตะตา ไม่มีใครอยากมาหาเรื่องละกัน

แต่อย่ามายิงผิดตัวเป็นใช้ได้นะ

นึกๆไปเหมือนเคส Sandra Bland ที่เปิดฉากตอนต้นเล่มเลย เพียงแต่เราไม่มีแบ็คกราว์นซึมเศร้าและบาดแผลทางใจอันหนักหน่วงอย่างเธอเท่านั้น

“””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

หนังสือเล่มนี้ให้ข้อสรุปที่น่าสนใจไว้สามสี่ประเด็น อันนี้ไม่ spoil นะ เพราะอ่านไปสี่ห้าหน้าก็รู้แล้ว แต่จะรู้ถึงระดับ “ตระหนัก” และมี Passion ในการเปลี่ยนตัวเองได้นี่ แนะนำว่าต้องอ่านทุกบท เพราะแต่ละบทก็มีเรื่องเล่า มีเคสที่ชวนติดตาม และมีเอกลักษณ์ในตัวของบทนั้นๆเอง

ผู้แต่งให้ระวังอันตรายจากความคิดสุดโต่งของเราสองด้าน

ด้านแรก แนวโน้มตามธรรมชาติของเราที่พร้อมจะเชื่อคนอื่น สมมติฐานที่ว่าเราสามารถเข้าใจคนได้ทะลุปรุโปร่ง การคิดว่าคนเรารู้หน้ารู้ใจ

ด้านที่สอง การทำงานแบบไม่โฟกัส นอกจากจะทำให้ผลผลิตต่ำแล้ว ยังทำให้ง่ายต่อการที่เราจะใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ

และเมื่อสองด้านนี้มารวมตัวกันยิ่งเพิ่มพิษร้าย ทวีคูณ

ผู้เขียนให้คำแนะนำว่านอกจากจะต้องระวังสองข้อข้างต้นแล้ว เราควรพูดคุยกับคนอื่นโดยตระหนักในข้อจำกัด ระมัดระวังและถ่อมตัวไว้ก่อน รวมถึงใช้ข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ผู้คนอย่างมีบริบทเชื่อมโยงกับมิติเชิงซ้อนต่างๆ . จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เราผิดพลาดจากการอ่านผู้อื่นได้น้อยลง (แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ผิดพลาดเลย)

จริงๆในสาขามานุษยวิทยาที่เรามีพื้นอยู่ก็เน้นในเรื่องเหล่านี้มาก คือเน้นการทำความเข้าใจชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ผ่านมุมมองของพวกเขาเอง โดยใช้วิธีคิดกระบวนระบบ (System Thinkink) ที่มองประสบการณ์เป็นพื้นที่แห่งสัญญะเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจระบบวิธีคิด (Mindset) ของชนกลุ่มนั้นๆ นักมานุษยวิทยาจึงต้องอุทิศตัวต่องานภาคสนาม และทำความเข้าใจไม่เฉพาะต่อปราฏการณ์ผิวเผิน หากแต่ต้องซึมซับชีวิตชนเหล่านั้นในทุกๆมิติ โดยมีการจัดบันทึกอย่างเป็นระบบ และวิเคระห์โดยไม่เอาวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อของตนเองหรือคนกลุ่มอื่นๆไปตัดสิน

ในเล่มนี้ ผู้แต่งก็ยกตัวอย่างการศึกษาของนักมานุษยวิทยาไว้หลายเคส โดยเชื่อมกับสังคมวิทยาด้วย (อันนี้เรารู้สึกดีที่เลือกเรียนสาขาที่คนไม่คอยเรียน เพราะมานุษยวิทยานี่หินมาก จบยาก หางานก็ยาก แต่มันมีพลังในการอธิบายปรากฏการณ์สังคม และถ้ารู้จักประยุกต์ก็จะนำไปใช้ได้กว้างขวางมาก )ทำให้เรารู้สึกง่ายต่อการทำความเข้าใจเนื้อหาหนักๆในหนังสือเล่มนี้ ในขณะเดียวกันผู้แต่งก็เอามานุษยวิทยาเชื่อมโยงกับหลักฐานจากสาขาวิขาอื่นๆได้อย่างกลมกล่อมด้วย เป็นการเพิ่มน้ำหนักข้อยืนยันข้างต้น ที่เราพึงตระหนักเสมอ และชวนให้คิดว่า เราศึกษาแบบมานุษยวิทยาอย่างเดียวไม่พอ ต้องหมั่นเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ เอาศาสตร์ต่างๆมาเชื่อมให้เกิดพลังต่อการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้ด้วย

หนังสือเล่มนี้ ตอกย้ำวิธีคิดแบบมานุษยวิทยาที่เรามักจะเน้นให้นักศึกษาก็ดี ทีมงานก็ดีฟังอยู่เสมอๆว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมา หรือแม้แต่ไปลงพื้นที่พบชุมชนมาว่านั่นเป็นเรื่องจริงเสมอไป โอเคล่ะ เราสนใจมุมมองของชาวบ้าน คนด้อยโอกาส คนชายขอบเป็นหลัก แต่ต้องศึกษาให้รอบด้าน จากมุมมองหลายๆฝ่าย แล้ว cross check รวมถึงระมัดระวังความเห็นอกเห็นใจแบบอยากเข้าไปช่วยสงเคราะห์ (Symphathy) เขา ที่จะทำให้เรายิ่งทำยิ่งเลอะ

“”””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

แล้วเราจะพัฒนาตัวเองให้พ้นจากข้อจำกัดและกับดักในการอ่านคนอื่นที่เรามีอยู่ได้อย่างไร ตรงนี้เองที่แกลดเวลล์ไม่ได้พูดถึงนัก คือ แกลดเวลล์บอกแต่หนทาง แต่ไม่บอกวิถีทาง โดยส่วนตัว เราคิดว่าต้องพัฒนาตัวเองทั้งด้านนอกและด้านในไปด้วยกัน ด้านนอกคือศึกษาหาความรู้รอบด้าน พบปะครูบาอาจารย์ เสาะหากัลยาณมิตร ตลอดจนจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ผู้คนได้อย่างกว้างขวาง ส่วนด้านใน คือ การรู้จัก Slow down สร้างสภาวะ “จิตนุ่มนวล ควรแก่งาน” จนสัมผัสสิ่งละเอียดอันเป็นเสมือนรหัส หรือลายแทงในการทำความเข้าใจตัวตนลึกๆของคนๆนั้น ในขณะเดียวกันก็มองเห็นตัวเอง วิเคราะห์ตัวเองว่ามีส่วนร่วม มีบทบาทอย่างไรในปฏิสัมพันธ์นั้นๆด้วย

นี่อาจจะเรียกว่า “ปัญญา” แบบพุทธก็ได้กระมัง (ถ้าไม่กระมังก็กะละมัง 55)

ในขณะเดียวกัน บางบทของเล่ม ก็พูดถึงผลกระทบจากความเครียดจัดที่ส่งผลต่อสภาวะการจดจำในสมองที่ร้ายพอๆกับผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่มมากเกินไปจนทำให้เกิดสภาวะภาพตัด (Black Out) จำเหตุการณ์บางช่วงไม่ได้หรือจำผิดเพี้ยน อันนี้เป็นข้ออธิบายที่ดีเลยว่าทำไม เวลาเรามีปฏิสัมพันธ์กับใคร จึงต้องสร้างสภาวะและสนามการเรียนรู้ที่เป็นมิตร ผ่อนคลาย ในขณะเดียวกันก็ตื่นตัว เท่าทันกับหลุมพรางจากความเชื่อ มุมมองในการอ่านคนที่เราต่างเคยชิน ไอ้อย่างหลังนี่ คือ advance ของ dialouge เลยนะ เราว่า


ขอบคุณอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ที่แนะนำหนังสือดีๆที่ต้อง Slow Down ใช้เวลาใคร่ครวญ อ่านและซึมซับสกัดการเรียนรู้เล่มนี้มาให้

เพราะถ้ามัวแต่ทำงานดุ่ยๆ ไม่จัดสรรเวลา ไม่มีวินัยและ comittment ต่อการอ่านหนังสือเปิดมุมมองแบบนี้แล้ว

คนอย่างเราก็อาจจะพลาดโอกาส upskill จากสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ แถมอาจจะสร้างความเสียหายอันเกิดจากความยึดติดว่าเรารู้แล้วๆได้มากมาย

หมายเลขบันทึก: 688581เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2021 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2021 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท