พุทธเศรษฐศาสตร์ : เรียนรู้ ความรู้ที่ซับซ้อน...


หาก Developmental Evaluation : DE เครื่องมือเรียนรู้เรื่องที่มีความซับซ้อนและเป็นพลวัตสูง เราจะทำอย่างไรที่จะเข้าใจความซับซ้อนและนำความซับซ้อนเหล่านั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

ชีวิตของคนเราทุกคนมีความซับซ้อนตั้งแต่เรื่องวัฏจักรชีวิต การเกิดแก่เจ็บตาย ปัญหาในชีวิตนี้ที่ว่ายุ่งเหยิงก็เป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ถ้าเปรียบเทียบกับการเวียนว่ายตายเกิดที่เราได้เผชิญมาหลายร้อย หลายพันชาติ

ความยุ่งเหยิงเหล่านี้ ท่านเปรียบเสมือนเรานำปลายปากกาจรดลงไปบนกระดาษแล้วเขียนวงกลมวนไป วนไป วนไป หลายร้อย หลายพัน หลายหมื่น หลายแสน หลายล้านวง จนเรางง ไม่รู้ว่าเส้นไหนเป็นเส้นไหน ไม่รู้ต้น ไม่รู้ปลาย จนกลายเป็นความซับซ้อนอย่างหาที่จบที่สิ้นมิได้

การพัฒนาความรู้ในสังคมทุกวันนี้เปิดความซับซ้อนยิ่งเพราะทุก ๆ คนก็ต่างค้นคว้าหาความรู้ จากการเรียนก็ดี คือ นักเรียนนักศึกษาที่ทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญาในระดับและสาขาต่าง ๆ รวมถึงผู้ที่ทำงานที่ต้องการมีผลงานวิจัยเพื่อใช้ในการเสริมสร้างทางด้านวิชาการ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ค้นคว้าหาความรู้โดยเฉพาะ คือ สำนักงานวิจัยต่าง ๆ ก็นำเสนอผลงานทางวิชาการออกมาอย่างมากมาย "มหาศาล"

ความรู้ต่าง ๆ ที่เผยแพร่ออกมานี้มีคุณ มีประโยชน์ แต่ต้องเลือกกาล เลือกเวลา เลือกสถานที่ เลือกบุคคลที่จะใช้ให้เหมาะสมในทุก ๆ ขณะ

ความรู้ทุกอย่างนั้นดี แต่มิใช่จะดีกับทุก ๆ สถานที่ ทุก ๆ บุคคล

ผู้ที่รับความรู้ หรือจะนำความรู้ไปใช้ ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตนเองหรือสถานการณ์ 

เปรียบเทียบกับการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ก็ยังมีหลักการถึง ๔๐ อย่าง (กรรมฐาน ๔๐  - วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/...) เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะกับ "จริต" หรือ "นิสัย"

ดังนั้น เราต้องมีชุดความรู้หนึ่งที่จะมาเลือก คัดกรอง คัดสรร ความรู้ที่เรารับมา และจะนำไปใช้

ชุดความรู้แรกที่เราต้องมีคือ เราต้องรู้ว่า เราต้องนำมาคิดวิเคราะห์ และปฏิบัติด้วยตนเองก่อน

การคิดวิเคราะห์ คือ การทบทวนด้วยจิตที่สงบ ย้อนกลับไปถึงการดำเนินชีวิตในก้าวย่างต่าง ๆ ของตนเองที่ได้ประสบมา หรือสิ่งที่เราได้ประสบพบเจอความจริงต่าง ๆ ของบุคคลรอบข้าง ว่ามีเหตุการใดมีผลกระทบ หรือ Impact ตามความรู้ทั้งหลายที่เราได้ยินได้ฟังมานั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความรู้นั้นมี Impact ต่อก้าวย่างในชีวิตของเรา เราก็สามารถกรั่นกรองออกมาเป็นประสบการณ์ แล้วผ่องถ่ายผ่านให้เป็นความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge)

ความรู้ฝังลึกนี้เอง เป็นความรู้ที่เราควรนำออกไปใช้ "ต้องใช้ก่อนนะ" คือ ใช้ทดสอบซ้ำ ๆ ในชีวิตประจำวันของเราก่อน เพราะเหตุปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมหรือกาลเวลาในแต่ละช่วงนั้นมีผลกระทบแตกต่างกัน เมื่อใช้ เมื่อกรั่นกรองดีแล้วก็ค่อย ๆ บันทึก ค่อย ๆ นำเสนอ เพื่อให้ได้รับ Feedback จากคนที่ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง แล้วย้อนกลับมาทำกระบวนการพิสูจน์ซ้ำไปเรื่อย ๆ 

ทุกอย่างต้องใช้เวลา... ไม่มีความรู้ใดเป็นความรู้สำเร็จรูปที่จะเหมาะกับทุก ๆ คน

แม้แต่ธรรมะ พระพุทธองค์ก็ยังทรงตรัสสอนความรู้เพียงแค่ ๑ กำมือเมื่อเปรียบเทียบกับใบไม้ที่มีทั้งผืนป่า

เราต้องหยิบ เลือก คัดสรร ความรู้ที่เป็นประโยชน์จริง และประโยชน์สูงสุดเพื่อถ่ายทอดออกไป โดยผ่านจิตใจของผู้ให้ผู้เสียสละ...

ถ้าหากเราใช้ความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นกับชีวิตของตนเองก่อน จะลดความซับซ้อนลงไปได้มาก แล้วเราจะได้สัมผัสกับความเกี่ยวข้องในจิตใจที่มีผลกระทบหรือแสงกระเพื่อมสูงตามมา

ความรู้ทุกอย่างต้องการประพฤติปฏิบัติของผู้ที่รับรู้ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างแยบคายก่อนที่จะเผยแพร่สู่บุคคลอื่น

ถ้าหากนำความรู้ที่ยังไม่ได้ผ่านการปฏิบัติเผยแพร่สู่วงวิชาการ ก็เปรียบเสมือนการจรดปากกาวาดวงกลมวงใหม่ทับซ้อนลงบนวงกลมวงเก่าไปเรื่อย ๆ 

ธรรมะ ๘๔,๐๐๐ ขันธ์ สรุปย่นย่อลงมาที่สติสัมปชัญญะ

การถอดปมปัญหาหรือการใช้ความซับซ้อนทางความรู้เชิงวิชาการในปัจจุบันก็ต้องใช้สติสัมปชัญญะเป็นสำคัญ

มีสติที่จะรับรู้ คิด วิเคราะห์ กรั่นกรอง

มีสัมปชัญญะ คือ รู้ในตัวในตน ว่าคนอย่างเราต้องผ่านชีวิตอะไรมาบ้าง 

แล้วค่อย ๆ สรุปบทเรียนต่าง ๆ ตามหัวข้อ ความรู้ หรือทฤษฎีต่าง ๆ เหล่านั้น นี่แหละจะเป็นพลังในการใช้ความรู้ที่ซับซ้อนทั้งหลายเหล่านั้นได้อย่างมีพลัง...



หมายเลขบันทึก: 688570เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2021 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2021 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท