Developmental Evaluation : 23. DE โมเดล ประเวศ วะสี



DE คือเครื่องมือเรียนรู้เรื่องที่มีความซับซ้อนและเป็นพลวัตสูง    นำไปสู่การปรับตัว ในระดับสังคมหรือประเทศ เราก็ต้องการกลไกนี้ด้วย  

เช้าวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ ผมเข้าร่วมประชุมมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ    ได้ฟังความฝันเพื่อสังคมไทยสองเรื่องจาก ศ. นพ. ประเวศ วะสี   เรื่องหนึ่งคือ โครงการสร้างประเทศน่าอยู่ผ่านการออกแบบและการจัดการ    ที่เมื่อฟังหลักการและรายละเอียดแล้ว     ผมนึกถึงชื่อ DE ฉบับ ศ. นพ. ประเวศ วะสี    เพราะท่านใช้พลังของการประเมินด้วย    เป็น ๑ ใน ๖ พลังของการจัดการ    

ท่านเสนอว่า ๓ มูลนิธิที่อยู่ด้วยกันในพื้นที่ ๒ ไร่ในซอยพหลโยธิน ๒๒ ตรงข้ามเซ็นทรัลลาดพร้าว ควรร่วมกันดำเนินการสร้างประเทศน่าอยู่    ผ่านการสร้างกลุ่มเซลล์สมอง โดยทำ ๓ กิจกรรมคือ

  • การรับรู้ความจริง    สำรวจข้อมูลความจริง     ผมตีความว่าเป็นการรวบรวม data
  • เอามาวิเคราะห์หาความหมาย   ผมตีความว่า เปลี่ยนเป็น information
  • สังเคราะห์เป็น working/relevant knowledge เพื่อการใช้งาน

ท่านขยายความออกเป็น ๖ ขั้นตอน     ได้แก่

  • สำรวจข้อมูล
  • หาความหมาย
  • สังเคราะห์นโยบาย    เสนอข้อตัดสินใจเชิงนโยบาย
  • สื่อสารสู่ผู้เกี่ยวข้อง  ให้เข้าใจจนปฏิบัติได้
  • ติดตามการปฏิบัติ  
  • ประเมินผลการปฏิบัติ เพื่อเป็นข้อมูลป้อนกลับสู่ขั้นตอนแรก    เป็นวงจรพัฒนาประเทศผ่านการอกแบบและการจัดการ

ท่านแนะนำให้ใช้ชื่อทีมดำเนินการว่า กลุ่มสนับสนุนการจัดการร่วมพัฒนา     อย่าใช้คำว่าส่งเสริม และคำว่านโยบาย    เพื่อหลีกเลี่ยงท่าทีของผู้รู้ดี  หรือเพื่อแสดงท่าทีถ่อมตัว    โดยต้องมีภาคีจากภาคธุรกิจ  และพื้นที่ (นายอำเภอ - พชอ.)

ผมมองว่า สามารถประยุกต์หลักการและวิธีการของ DE เข้าไปได้ในทุกขั้นตอน    โดยมีหลักการสำคัญคือมีการกำหนด stakeholders ให้ครบถ้วน   ร่วมกันระบุประเด็นที่ต้องการพัฒนา     ร่วมกันระบุข้อมูลที่ต้องเก็บ และระเบียบวิธีเก็บและวิเคราะห์สังเคราะห์    ร่วมกันวิเคราะห์สังเคราะห์หาความหมายจากหลากหลายจุดยืน    ร่วมกันเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย    และร่วมกันประเมินผลการปฏิบัติ  

ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔   ทีม ๔ มูลนิธินำโดย นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประชุมปรึกษาหารือแนวทางดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ที่ นพ. สมศักดิ์ เรียกว่า “กลไกร่วมพัฒนา”      โดย ๔ มูลนิธิได้แก่ (๑) มูลนิธิ HITAP  (๒) มสช.  (๓) มส. ผส.  และ (๔) มูลนิธิสดศรีฯ   โดยที่ทั้ง ๔ มูลนิธิทำงานพัฒนาสังคมผ่านกระบวนการความรู้ ในประเด็นที่แตกต่างกัน  

เป็นการประชุมที่บรรยากาศสร้างสรรค์สูงยิ่ง     โดยมีแรงผลักดันจาก นพ. ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรีฯ นำเอาพลัง ไอที มาใช้    ทำเป็น IT platform เพื่อเชื่อมโยง (wiring) สมองคน    เกิดเป็น “สมองส่วนหน้า” (prefrontal lobe) ให้แก่สังคม    โดยคุณหมอก้องเกียรติ มุ่งทำ AI Learning Loop ที่เริ่มจาก Ecosystems (stakeholder) mapping – critical issue – systems analysis – community / network – policy process – outcome แล้วป้อนกลับเป็นวงจรเรียนรู้    แต่คุณหมอสมศักดิ์กับผมมองว่า ต้องเชื่อมโยง AI (Artificial Intelligence) เข้ากับ HI (Human Intelligence)    และผมมีความเห็นว่า ต้องหาทางให้ข้อมูลไหลมาจากหลากหลายวงการ    ไม่คับแคบอยู่ในวงการเดียว    

เท่ากับว่า เราช่วยกันสร้าง IT Learning Platform ที่เอาไปใช้กับประเด็นใดก็ได้ ในสังคม     เพื่อเชื่อมโยงความรู้จากการปฏิบัติ    สู่การตีความ ทั้ง IT ช่วยตีความเบื้องต้น    และคน (stakeholders) ร่วมกันตึความจากต่างมุมมอง     เพื่อการเรียนรู้และยกระดับสังคมร่วมกัน   

โดย ศ. นพ. ประเวศ ระบุให้มี “การออกแบบและการจัดการ ด้วย”    ซึ่งผมตีความว่า  เป็นการออกแบบและจัดการ “พื้นที่ส่วนกลาง”    ให้ภาคีต่างๆ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ     เอาการปฏิบัติของตนเองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน           

เป็น DE เพื่อการพัฒนาสังคมในอุดมคติ

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ม.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 688568เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2021 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2021 07:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท