ชีวิตที่พอเพียง ๓๘๗๗. ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่



เพราะไปร่วมงานเสวนาวิชาการ ประวัติศาสตร์ชนชาติไทย ของ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๓  ได้พบ ศ. ดร. ผาสุก พงศ์ไพจิตร และ ดร. คริส เบเคอร์    จึงได้รับหนังสือประวัติศาสตร์ที่น่าจะถือได้ว่าเป็นหนังสือที่นักวิชาการอ่านได้ คนทั่วไปอ่านสนุก มาอ่านหนึ่งเล่ม    ผมอ่านด้วยความอิ่มเอม

หนังสือเล่มนี้ชื่อ ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่  เล่มที่ผมได้รับพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒   หลังพิมพ์ครั้งแรกเพียงเดือนเดียว   อ่านแล้วจะได้ภาพใหม่ของประวัติศาสตร์ไทย    ที่โยงภาพสังคมบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน และบริเวณคาบสมุทรสุวรรณภูมิ เมื่อ ๒ - ๔ พันปีมาแล้ว    ที่อยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆ    แล้วพัฒนาขึ้นเป็นเมือง  ในสภาพนครรัฐเล็กๆ ร่วมมือกันเป็นเครือข่ายกัน และรบกันบ้าง    เป็นสังคมที่นักรบเป็นใหญ่    แล้วค่อยๆ กลายเป็น  สงฆ์เป็นใหญ่  และพ่อค้าเป็นใหญ่    ในเรื่องการค้ามีจีนเป็นพี่เบิ้ม    โดยถือว่า อาณาบริเวณนี้อ่อนน้อมต่อจีน   

ในสมัยสุโขทัย เป็นยุคปิตุราชา    ปลายสมัยพยายามเป็นธรรมราชา มารับความเชื่อเทวราชาจากเขมรในภายหลัง

อยุธยาเด่นขึ้นมาจากการเป็นทำเลค้าขาย    แต่ก็เป็นนักรบด้วย    โดยเด่นขึ้นมาซ้อนกับยุคสุโขทัยนานเป็นศตวรรษ    เดิมผมเข้าใจว่าอยุธยามีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งผิด    พื้นที่อุดมสมบูรณ์เพาะปลูกได้ดีอยู่เหนือขึ้นไป    อย่างไรก็ตาม ในสายตาคนต่างชาติที่เข้ามาค้าขาย หรือเป็นทูต หรือมาสอนศาสนา ดินแดนนี้อุดมสมบูรณ์มาก    ผู้คนไม่ต้องทำงานมากเพื่อการดำรงชีวิตอย่างในยุโรป    ที่คนในชนบท ๓ คน ทำงานเพาะปลูก เพื่อเลี้ยงคนเมือง ๑ คน    ในสยามสมัยนั้น ไม่มีสภาพนั้น    

หนังสือเล่มนี้อ้างข้อมูลใหม่มากมาย    สะท้อนภาพประวัติศาสตร์มีชีวิต    โดยข้อมูลใหม่ส่วนใหญ่ได้จากจีน    อีกส่วนหนึ่งได้จากตะวันตก    ที่ให้ภาพประวัติศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจ    เพิ่มเติมจากประวัติศาสตร์แบบเดิมที่เป็นประวัติศาสตร์การสืบราชสมบัติ    และประวัติศาสตร์สงคราม    

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วยิ่งเห็นชัดว่า “ความจริง” ในอดีต มีหลายชุด    หนังสือเล่มนี้พยายามให้ภาพประวัติศาสตร์สังคมในสมัยอยุธยา    ที่เมื่ออ่านแล้วผมได้ภาพกษัตริย์ต่างออกไปจากเดิม   ว่าที่เป็นกษัตริย์ก็เพื่อความมั่งคั่ง    กษัตริย์อยุธยาจึงทำการค้า หรือหาผลประโยชน์จากการค้า    และที่รบกันก็เพื่อปล้นทรัพย์สมบัติ    มองในมุมหนึ่ง ทหารในสมัยโบราณก็คือโจรดีๆ นี่เอง    อ่านแล้วรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ไม่ได้เกิดในสมัยนั้น    ซึ่งก็คงเป็นได้แค่ทหารเลวเพราะรบไม่เก่ง

การรบระหว่างประเทศในสมัยอยุธยาก็เพื่อแย่งสมบัติ  ที่เป็นทั้งทรัพย์สินเงินทอง และคน    โดยเฉพาะคนที่มีความรู้และเป็นช่างด้านต่างๆ    โดยที่สภาพการเสียกรุงสองครั้งต่างกัน คือครั้งแรกพม่าแย่งสมบัติไปพอควร ยังเหลือให้อยุธยาดำรงอยู่ต่อไป    แต่ครั้งที่สองเป็นการปล้นสดม มุ่งทำลายล้าง 

อีกภาพใหม่คือสังคมสยามสมัยสี่ห้าร้อยปีก่อน    มีคนหลากหลายเผ่าพันธุ์มาค้าขาย และมารับจ้างรบหรือทำงานให้แก่กษัตริย์    คนไทยในปัจจุบันจึงน่าจะมีพันธุกรรมผสมจากแทบจะทุกมุมโลก    ในประวัติศาสตร์ไทย ไม่ค่อยเอ่ยถึงบทบาทของต่างชาติจากตะวันออกกลาง คือแขกมัวร์ (เปอร์เซีย และตุรกี)    รวมทั้งคนญี่ปุ่น ที่อพยพหนีภัยการเมืองมา

ภาพที่ชัดเจนคือบทบาทของคนต่างชาติในราชสำนัก โดยเฉพาะต่อการค้าของราชสำนัก     เราได้เห็นภาพราชสำนักนักธุรกิจ (ค้าขายทางเรือ) ที่คนต่างชาติเข้ามารับใช้ราชสำนัก    และมีอำนาจเป็นระยะๆ    โดยมีความไม่แน่นอนสูง    คือความเสี่ยงสูงมากที่จะ “เข้าข้างผิด” ในการแย่งชิงราชสมบัติ    ที่เกิดขึ้นรุนแรงมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่ว่างการสงครามระหว่างประเทศยาวนาน ๑๕๐ ปี    เริ่มจากสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ

ผมเพิ่งได้เข้าใจว่า “การฆ่าล้างโคตร” เมื่อเปลี่ยนรัชกาล ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในพม่า อย่างที่ผมเคยได้ยินนักประวัติศาสตร์ไทยเล่า และฝังใจเรื่อยมา     ในหนังสือเล่มนี้บอกว่าในช่วง ๑๕๐ ปีหลังของอยุธยา การฆ่าล้างโคตรจากการแย่งชิงราชสมบัติก็รุนแรงมาก     และเกิดเกือบทุกครั้งที่เปลี่ยนรัชกาล    ทำให้ผมนึกถึงโคลงที่แต่งโดย นมส.

 “ใครจะไว้ใจอะไรตามใจเถิด      แต่อย่าเกิดไว้ใจในสิ่งห้า

 หนึ่งอย่าไว้ใจทะเลทุกเวลา         สองสัตว์เขี้ยวเล็บงาอย่าวางใจ

สามผู้ถืออาวุธสุดจักร้าย               สี่ผู้หญิงทั้งหลายอย่ากรายใกล้

ห้ามหากษัตริย์ทรงฉัตรชัย            ถ้าแม้นใครประมาทอาจตายเอย”

( นิทานเวตาลโดยกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)

ผมชอบเรื่องราวของชาวบ้านธรรมดา     ที่เป็นไพร่ ซึ่งหมายความว่าต้องรับใช้มูลนาย    ผมเพิ่งรู้ว่าในสมัยนั้น เป็นทาสดีกว่าเป็นไพร่    เพราะเป็นทาสมีโอกาสเป็นไทได้    โดยการซื้อตัวเองคืน      

สังคมกลับทางระหว่างชาวบ้านกับจ้าวนายในเรื่องเพศสภาพก็น่าสนใจ     ในสังคมชาวบ้านผู้หญิงรับผิดชอบครอบครัว เป็นกำลังสำคัญในการหาเลี้ยงครอบครัว เป็นตัวของตัวเอง     ในขณะที่ในสังคมจ้าวนาย (คือในวังกับขุนนาง) ผู้หญิงเป็นสมบัติของสามี หรือของพ่อ    เอาไว้ยกให้ผู้มีอำนาจเพื่อสร้าง connection    สังคมสมัยก่อนผู้ชายมีน้อย    เพราะไปรบตายเสียมาก   

หนังสือเล่มนี้มี ๗ บท   บทแรกเป็นเรื่องก่อนอยุธยา     และบทสุดท้ายเป็นเรื่องหลังอยุธยา    บทที่ ๖ เรื่องเสียกรุง สะท้อนว่าความเจริญรุ่งเรืองของอยุธยา ๑๕๐ ปีหลัง เป็นบ่อเกิดของความอ่อนด้านสงคราม    และดึงดูดให้พม่าลงทุนมาตีอยุธยา เพราะรู้ว่าอยุธยาสะสมสมบัติเงินทองเพชรนิลจินดาไว้มากมายคุ้มการลงทุนทำสงคราม    โดยที่สัญญาณภัยดำเนินมาเป็นยี่สิบปี แต่อยุธยาไม่ตระหนัก    “สถาบันกษัตริย์ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม” (น. ๓๒๓)     กล่าวได้ว่า การเสียกรุงครั้งที่สอง เกิดจากอยุธยาบริหารความเจริญไม่เป็น    “สาเหตุที่กรุงแตกนั้นไมได้เป็นเพราะความขัดแย้งภายในหรือพระราชวงศ์เสื่อม   แต่เป็นความล้มเหลวที่จะบริหารจัดการผลสะเทือนต่อสังคมและการเมืองของความเจริญ” (น. ๓๗๙)

เมื่อพม่ายึดวังได้ พบว่าในวังมีปืนใหญ่อยู่ในท้องพระคลังมากมาย    ทำให้ผมคิดว่า คำกล่าวว่า พระยาตากคิดว่าเสียเมืองแน่   เพราะความอ่อนแอของพระเจ้าแผ่นดิน    จะยิงปืนใหญ่ต้องขอพระราชานุญาตก่อน    เกรงสาวชาววังจะตอใจเสียงปืน    น่าจะเป็นความจริง    คิดย้อนหลังว่า เมื่อน้ำหลาก พม่าหลบไปตั้งกองทหารบนโคกเป็นหย่อมๆ    น่าจะเป็นเป้าของปืนใหญ่ ที่จะช่วยขับไล่พม่าออกไปได้    

ยุคของอยุธยา ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นจากการเป็นเมืองท่าค้าขาย   กลายเป็นเมืองหลวง     อยู่ในสถานการณ์รบพุ่งสองร้อยปี    จบลงในรัชกาลพระเอกาทศรถ    ตามด้วยยุคสงบสุข ๑๕๐ ปี กรุงจึงแตก    กลับไปเป็นยุคศึกสงครามอีกครึ่งศตวรรษ   

ที่จริงยุคอยุธยา สังคมสยามมีลักษณะโลกาภิวัตน์มาก    คบค้ากับต่างชาติและมีคนต่างชาติมาตั้งชุมชนอยู่ ๒๐ ชาติ    คนต่างชาติเหล่านี้ผลัดกันเข้าไปรับใช้กษัตริย์ด้านการค้า และได้รับตำแหน่งใหญ่โต    แต่เมื่อเปลี่ยนรัชกาล ก็เสี่ยงที่จะถูกฆ่าล้างโคตร หากเข้าผิดข้าง    แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ชาติที่อพยพเข้ามามากคือจีน   

หลังยุคอยุธยา    มีช่วงเปลี่ยนผ่าน ๑๕ ปี    แล้วกลุ่มขุนนางเก่าอยุธยาก็รวมตัวกันครองอำนาจ    โดยสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นใหม่   ความท้าทายเปลี่ยนจากพม่าไปเป็นประเทศตะวันตก  ตามที่รัชกาลที่ ๓ ทรงทำนายไว้   

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ธ.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 688567เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2021 07:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2021 07:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท