พุทธเศรษฐศาสตร์ : วิถีแห่งการผลิต


ต้องเริ่มผลิตสิ่งที่ดีจากจิตใจที่ดี ตั้งใจไว้ว่าให้ผู้รับได้รับสิ่งที่ดี ให้เค้ามีความสุข

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักผลิตมาเพื่อแสวงหาเพื่อจะได้ จะมี จะเป็น ฉันใด พุทธเศรษฐศาสตร์นั้นไซร้ผลิตมาเพื่อ "ให้" อย่างไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ

คนเราเกิดมาเป็นมนุษย์ถือว่าเป็นผู้ประเสริฐ เกิดมาเพื่อให้ เพื่อเสียสละ

เรามีร่างกาย มีลมหายใจ ก็มีไว้เพื่อให้ เพื่อเสียสละ

ดังนั้น การผลิตที่ออกมาจากร่างกายของเรา วาจาของเราที่เป็นรูปธรรมนั้น ต้องเกิดขึ้นจากใจของผู้ให้เต็มที่ เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

เริ่มต้น... ต้องเริ่มผลิตสิ่งที่ดีจากจิตใจที่ดี ตั้งใจไว้ว่าให้ผู้รับได้รับสิ่งที่ดี ให้เค้ามีความสุข

การจัดการโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่รอบข้างอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทรัพยากรที่สำคัญก็คือร่างกายของเรา ตื่นขึ้นมาแต่เช้าเริ่มต้นด้วยการผลิตเพื่อให้ "ทาน"

ตามธรรมเนียมของพุทธบริษัทที่เป็นประชาชนทั่วไปซึ่งต้องยึดหลักไตรสิกขา คือ "ทาน ศีล ภาวนา"

ตื่นแต่เช้าพระคุณเจ้าก็อำนวยความสะดวกให้เรา โดยเดินมาที่หน้าบ้านเรา และท่านก็เลือกเวลาก่อนที่เราจะออกไปทำงาน

นับตั้งแต่ตะวันขึ้น พระภิกษุสามเณรก็ปฏิบัติศาสนกิจ โดยออกรับบิณฑบาต เพื่อเปิดโอกาสให้ญาติโยมได้ทำความดีโดยการถวายทาน

จุดมุ่งหมายของการบิณฑบาตสำหรับพระที่ออกบิณฑบาตนั้น นอกจากที่จะได้รับภัตตาหารเพื่อใช้เป็นพลังงานในการปฏิบัติศาสนกิจก็คือ การอำนวยความสะดวกในการเปิดโอกาสให้ญาติโยมประชาชนได้ทำความดีตั้งแต่ที่หน้าบ้านของตนเอง

ข้าวเพียงหนึ่งทัพพี แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการ "ให้"



วิถีพุทธ คือ วิถีแห่งการให้

เราจะเห็นได้จากเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ในประเทศของเรา หรือประเทศต่าง ๆ หากมีคนไทยอยู่ที่ไหน ที่นั่นจะมีการ "ให้" เสมอ

"ตู้ปันสุข" เป็นวิถีแห่งการให้ที่เห็นได้อย่างเป็น "รูปธรรม"

น้ำใจไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมื่อเห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยาก เราจะได้เห็นเสมอ ๆ ในสังคมไทยของเรา

นี่เอง เป็นการฝึกพื้นฐานของจิตใจเริ่มตั้งแต่การให้ข้าวเพียงหนึ่งทัพพี

นิสัยแห่งการให้อยู่ในจิตใจของคนไทยเสมอ

เราฝึกบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ความดีก็จะฝังอยู่ในจิตใจของเรา

เมื่อออกจากบ้าน เราเจอใคร เราก็ให้รอยยิ้ม เมืองไทยจึงได้ชื่อว่าเป็น "สยามเมืองยิ้ม" 

การให้ทานนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องให้เป็นข้าวของเงินทอง เพียงเรานำเอาร่างกายของเรามาให้ มาเสียสละ มอบรอยยิ้มให้คนรอบข้าง มอบวาจาที่ดี ๆ ให้แก่กันและกัน และสิ่งที่สำคัญก็คือ "การให้อภัย"

การใช้ชีวิตที่ต้องดิ้นรน แสวงหาตามเศรษฐกิจกระแสหลัก มีทั้งการแก่งแย่ง ชิงดี ชิงเด่น ชิงงาน ชิงเวลา ต้องมีการกระทบกระทั่งกันสารพัดสารเพ เมื่อเรากระทบกับใครหรือสิ่งใด เพียงแต่เรา "ให้" เท่านั้นนั่นแหละคือเราได้สร้าง "อภัยทาน"

การให้อภัยจึงเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องผลิตออกมาให้ได้จากใจ กาย และวาจา

เริ่มต้นจากใจที่ไม่โกรธเคืองบุคคลอื่น แสดงออกมาทางร่างกายคือสีหน้าและแววตา จากนั้นก็พูดว่า "ไม่เป็นไร"

ขอบคุณ ขอใจ ขอโทษ ขออภัย เป็นสิ่งที่ต้องฝึกพูดไว้ให้เป็นนิสัยแห่งการให้

เราต้องผลิตคำพูดที่ดี ๆ ออกจากปากของเรา

ฝึกสร้างสีหน้าและแววตาที่ไม่โกรธเคืองเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน 

การเป็นมนุษย์ถือว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ... เราจะประเสริฐได้เราต้องมีจิตใจของผู้ให้ ผู้เสียสละ

ถ้าเราโกรธ ร่างกายของเราเป็นมนุษย์ก็จริง แต่จิตใจของเราก็เท่ากับเป็นยักษ์ เป็นมาร

เมื่อจิตโกรธ ร่างกายของเราก็จะผลิตสารเคมีที่มีฤทธิ์ออกมาทำร้ายร่างกายของเราเอง

แต่ถ้าจิตใจของเราดี เราก็จะมีสารเคมีที่ดีมาหล่อเลี้ยงร่างกายนี้ให้อยู่ยืน

วิถีแห่งการผลิต เริ่มที่คิด เริ่มที่ให้

วิถีแห่งการผลิต ก่อกำเนิด จากจิตใจ

เป็นวิถีแห่งการให้ การเสียสละ

การให้แท้ ต้องไม่หวัง ผลย้อนกลับ

การให้แท้ ต้องไม่นับ ผู้รับผล

การให้แท้ ต้องก่อเกิด แก่ผองชน

การให้แท้ ต้องฝึกฝน จนชำนาญ


การผลิต ที่ดีแท้ คือการให้

ผลิตใจ ที่ผ่องใส ประภัสสร

ผลิตกาย ที่อ่อนน้อม ประนมกร

ผลิตคำ ที่ไถ่ถอน ซึ่งตัวตน



ให้อภัย แก่ผองเพื่อน เกิดแก่เจ็บ

ให้อภัย ต่อคำเท็จ คำสรรเสริญ

ให้อภัย สรรพสิ่ง ที่เผชิญ

ให้อภัย ต้องดำเนิน จนตัวตาย


หากผลิต ขอให้คิด สิ่งที่ดี

ตามวิถี แห่งพุทธะ ศาสตร์อันเลิศ

ผลิตดี ผลิตตรง เศรษฐศาสตร์เดิน

ไม่มีเกิน ไม่มีขาด นั้นพอเพียง




เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ สู่ "เศรษฐจิต"

คือสร้างจิต แห่งพุทธะ คือการให้

ให้ความสุข ให้สิ่งดี ให้อภัย

ให้ปวงชน ให้ชาวโลก พบสุขจริง

สุขที่แท้ คือความสุข ของผู้ให้

เป็นดวงใจ ที่อิ่มเอม เกษมสันต์

ขอเพียงท่าน มีการให้ ทุกคืนวัน

เพียงแบ่งปัน ให้แก่เพื่อน แก่เจ็บตาย...

หมายเลขบันทึก: 688364เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2021 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2021 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท