ของเล่น : ในความหมายที่ต่างออกไป


            ของเล่น เป็น 1 ในเรื่องสั้นจากหนังสือ ในโลกเล่า ที่ได้เข้าชิงรางวัลซีไรต์รอบสุดท้าย ประจำปี 2563 ผลงานของ วัฒน์ ยวงแก้ว และเป็นเจ้าของรวมเรื่องสั้น “บันไดกระจก” ที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ในปี 2554  เขามีความสามารถโดดเด่นโดยเฉพาะการเขียนเรื่องสั้น ซึ่งกวาดรางวัลจำนวนมากจากหลายเวที ไม่ว่าจะเป็นรางวัลพานแว่นฟ้า,รางวัลช่อการะเกด,รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด,รางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ,รางวัล “เปลื้อง วรรณศรี”,รางวัลปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น โดยรางวัลเหล่านี้ถือเป็นเครื่องการันตีว่าเขาเป็นนักเขียนที่มากความสามารถและมีคุณภาพ

          เรื่องราวความรักระหว่าง “ผม”  และ “เธอ” ที่เริ่มต้นด้วยความไม่ชัดเจนในสถานะ เธอมีความชอบที่ใครหลายคนอาจจะไม่เข้าใจ การคลั่งไคล้ผู้ทรงปัญญาอย่างมาก เช่น พูดคุยกับนักเขียนบนชั้นหนังสือ ทุกครั้งหลังกลับจากการฟังกิจกรรมทางปัญญา เธอก็จะร่วมรักกับ “ผม” โดยมองเห็นเขาเป็นคนที่เธอไปเจอมา วันหนึ่งเขาถามเธอถึงนักเขียนที่เห็นบนชั้นหนังสือ เธอก็หาคำตอบให้เขาและต้องการเจอนักเขียนคนนั้น เมื่อเธอได้เจอนักเขียน พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง จนถึงวันที่เธอรู้ว่านักเขียนมีครอบครัวแล้ว เขาไม่ได้จริงจังกับเธอ เธอผิดหวังมากและไม่อ่านหนังสืออีกต่อไป หลังจาก “ผม” เตือนสติเธอ ทำให้เธอมีความคิดต่อตัวเขาและงานวรรณกรรมเปลี่ยนไป

  โครงเรื่อง ของเล่นแสดงให้เห็นถึงการให้คุณค่าต่อสิ่งต่าง ๆ ของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งเธอคบกับผู้ชายแบบไม่มีความชัดเจน ดังนั้นทั้งเขาและเธอไม่มีสิทธิ์เรียกร้องสิ่งใด เพียงแค่รับความสนุกและความสุขจากกัน ด้วยรสนิยมความชอบส่วนตัว เธอชื่นชอบและให้ความสำคัญกับผู้ทรงปัญญาเป็นพิเศษ พื้นที่ของบ้านเธอจึงเต็มไปด้วยหนังสือ พูดคุยกับหนังสือที่บ้านราวกับมีชีวิตจิตใจ เพราะเธอให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้มาก ทุกครั้งที่เธอกลับมาจากการฟังกิจกรรมทางปัญญา เธอก็จะร่วมรักกับ “ผม” แม้เธอจะมองเห็นเขาเป็นคนอื่น แต่เขาก็รับได้ เพราะทำให้เธอมีความสุข เรื่องราวจะยังคงดำเนินต่อไป หากเขาไม่ถามถึงนักเขียนคนที่เจอบนชั้นหนังสือ เพราะถือเป็นการจุดชนวนความสนใจเกี่ยวกับนักเขียนที่เธอคลั่งไคล้มาก ด้วยความชอบงานเขียนแนวเดียวกัน เธอจึงอยากเจอนักเขียนคนนี้เป็นพิเศษ หลังจากได้พบกัน พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง จนวันหนึ่งเธอรู้ความจริงว่าเขามีครอบครัวอยู่แล้ว เขามองเธอเป็นเพียงของเล่นที่ให้ความสนุกชั่วคราว เธอเศร้าเสียใจอย่างมาก เพราะสิ่งที่ให้ความสำคัญมากไม่เป็นอย่างที่หวัง เธอจึงเลิกให้คุณค่าต่อสิ่งเหล่านั้นโดยการไม่อ่านหนังสืออีกต่อไป หลังจากที่ “ผม” เตือนสติเธอ เพราะทนไม่ได้ที่เห็นเธอเศร้า ส่งผลให้เธอมีมุมมองความคิดใหม่ทั้งต่อตัวเขาและงานวรรณกรรม กล่าวคือ เธอให้ความสำคัญ เห็นคุณค่าความรู้สึกของคนรอบข้าง และไม่ให้ตัวตนที่แท้จริงของนักเขียนมาเป็นอุปสรรคในการอ่านหนังสือ

  ความน่าสนใจเริ่มตั้งแต่การที่ผู้เขียนใช้บทกวีในการเปิดเรื่อง ดังข้อความ 

“...ด้วยเรือบดลำน้อย ๆ อันแบบบาง ฉันพยายามที่จะพามันข้ามทะเลแห่งความปรารถนา
และลืมไปว่า ฉันเองก็กำลังเล่นของเล่นอยู่เช่นเดียวกัน” (วัฒน์ ยวงแก้ว,2562,293)
 

          จากบทกวีข้างต้น ถือว่าเป็น การเปิดเรื่องที่ชวนให้ติดตามและกระตุ้นความใคร่รู้ของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี บทสนทนานี้ใช้กล่าวถึงใคร ใครกำลังเล่นของเล่นและของเล่นชิ้นนั้นคืออะไร ตามด้วยการแนะนำตัวละครผ่านเหตุการณ์ที่ทิ้งปมเอาไว้ว่าตัวละครทั้ง 2 ตัวมีความขัดแย้งเรื่องอะไร ถึงขั้นที่จะต้องคุยให้ได้ เพราะอีกฝ่ายไม่สามารถอดทนได้อีกต่อไป การดำเนินเรื่องเป็นการเล่าเรื่องแบบย้อนกลับ โดยเล่าผ่านมุมมองของตัวละคร “ผม” ที่มีต่อ “เธอ” เริ่มจากเกริ่นถึงเหตุการณ์ที่ตัวละคร “ผม” และ “เธอ จะต้องพูดคุยกันเพื่อคลี่คลายบางเรื่อง ดังข้อความ “…ผมท่องออกมาจากก้นบึ้งจิตวิญญาณ เพื่อเรียกสติและตัวตนของเธอกลับคืนมา เพราะเราจำเป็นต้องคุยกัน ผมไม่อาจทานทนได้อีกต่อไป” (วัฒน์ ยวงแก้ว , 2562,293) ก่อนจะย้อนกลับมาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด ตั้งแต่ตอนที่พวกเขาตกลงเริ่มความสัมพันธ์ครั้งนี้ ถือว่าเรื่องราวดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีความสมจริง เพราะพฤติกรรมของตัวละครมีเหตุผลรองรับและสามารถพบเห็นได้ในชีวิตจริง เช่น ความชอบที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเรื่องของรสนิยมแต่ละบุคคล การพูดคุยกับหนังสือราวกับมีชีวิต เป็นเพราะให้ความสำคัญและมองสิ่งนั้นมีคุณค่า ก็เหมือนกับการพูดคุยกับของเล่นในวัยเด็ก พฤติกรรมการคบกันแบบเล่น ๆ ไม่มีความชัดเจนในสถานะ การนอกใจ เป็นต้น และด้วยภาษาที่เรียบง่าย ผู้อ่านสามารถจินตนาการเห็นภาพตามได้อย่างชัดเจน

      ปมความขัดแย้งของเรื่อง ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ กล่าวคือ การที่ “เธอ” จำกัดความสัมพันธ์กับ “ผม” ว่าเป็นการคบที่ไม่ผูกมัด ไม่จริงจังและไม่มีสถานะ ดังนั้นไม่ต้องคาดหวังสิ่งใดจากกันนอกจากความสนุก ความสุขที่จะได้รับก็เพียงพอ ดังข้อความ 

เธอบอกว่า ให้ความสัมพันธ์ของเราเป็นเหมือนเรือกระดาษ
ที่ลอยออกสู่ทะเลกว้าง ไม่คาดหวังฝั่งฝันใด เพียงเพื่อซึมซับความสุขจากสายลม
และเก็บเกี่ยวความรื่นเริงจากแรงเหวี่ยงของเกลียวคลื่น” (วัฒน์ ยวงแก้ว,2562,294)

           และความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจนนี้ก็ได้สร้างความขัดแย้งภายในจิตใจให้กับตัวละคร “ผม” เห็นได้จากเขารู้สึกเจ็บปวดที่เธอมองเห็นเขาเป็นคนอื่นยามร่วมรัก หรือการที่เธอพาคนอื่นมาร่วมรักที่ห้อง ดังข้อความ “ความเจ็บปวดที่ไม่เคยนึกฝันเกิดขึ้นวันหนึ่ง เธอขอร้องให้ผมออกจากห้องไปสักพัก นักเขียนคนนั้นจะมาหา” (วัฒน์ ยวงแก้ว,2562, 307) เขาสับสนว่าควรจะดีใจที่เธอมีความสุข หรือควรจะเสียใจที่เธอให้ความสำคัญกับคนอื่นมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเลือกที่จะอยู่กับเธอ เพราะเขาก็มีความสุข ดังข้อความ “ผมควรดีใจไปกับเธอ ผมยิ้มพยักหน้า เป็นความจริงแน่แท้ ผมมีความสุข” (วัฒน์ ยวงแก้ว,2562,307) ผู้เขียนหน่วงเรื่องด้วยการให้ตัวละคร “เธอ” ได้ทำความรู้จักกับนักเขียนที่เธอคลั่งไคล้ เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเขาและให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นลดน้อยลง ทั้งสองพัฒนาจนมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง และนักเขียนจะมาที่ห้องเพื่อร่วมรักกับเธอ จนกระทั่งเขากลับไปก็จะเป็นคราวของ “ผม” เรื่องราววนซ้ำเป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยไป ราวกับว่าเธอได้เจอของเล่นชิ้นใหม่ที่น่าสนุก น่าสนใจมาก กว่า ส่วนของเล่นชิ้นเก่าอย่างเขาอาจได้รับความสนใจบ้างบางเวลาตามแต่เธอต้องการจะเล่น

          จุดสุดยอดของเรื่อง คือ ตอนที่ “เธอ” รู้ว่านักเขียนคนนี้มีครอบครัวแล้ว และเขามองเธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศ หรือของเล่นที่เล่นให้สนุกชั่วคราว ถือเป็นจุดที่ทำให้การดำเนินชีวิตของตัวละครเปลี่ยนไป เพราะจากที่เคยรับบทเป็นคนเล่นก็กลายมาเป็นของเล่นเอง เธอหมดศรัทธาต่อนักเขียน ส่งผลให้เธอเลิกอ่านหนังสือซึ่งเป็นสิ่งที่เธอเคยให้คุณค่ามาก เห็นได้จากที่นักเขียนบนชั้นหนังสือค่อย ๆ จางหาย และตัว “ผม” ก็ถูกลดความสำคัญลงเช่นกัน เห็นได้จากที่เธอไม่ได้ร่วมรักกับเขาอีกเลย ดังข้อความ “เธอร้องไห้ จ่อมจมอยู่กับความเศร้า ปล่อยให้ทั้งโลกภายนอกและโลกภายในหลุดกรอบการรับรู้ รวมถึงตัวผมด้วย เธอไม่อ่านหนังสืออีกแล้ว บรรดานักเขียนบนชั้นหนังสือค่อย ๆ เจือจาง เลือนหาย เฉกเช่นเดียวกับตัวผม เราไม่ได้ร่วมรักกันอีกเลยตั้งแต่วันนั้น” (วัฒน์ ยวงแก้ว,2562,310) 

          ตัวละคร “ผม” คลี่คลายปมความขัดแย้ง โดยการแสดงความในใจที่มีทั้งหมดต่อ “เธอ” เตือนสติด้วยบทกวี ดังข้อความ “...ด้วยเรือบดลำน้อย ๆ อันแบบบาง ฉันพยายามที่จะพามันข้ามทะเลแห่งความปรารถนา และลืมไปว่า ฉันเองก็กำลังเล่นของเล่นอยู่เช่นเดียวกัน” (วัฒน์ ยวงแก้ว,2562,293)  ซึ่งสามารถตีความได้ว่า ตัวคนเราเล็กน้อยและเปราะบางเหมือนเรือบด แต่ก็ยังดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ปรารถนามากมายดั่งทะเลกว้าง โดยลืมคิดว่าการแสวงหานี้เป็นเหมือนการละเล่นหนึ่งของชีวิต ที่หากจริงจังกับการเล่นมากจนเกินไป ก็อาจหา ความสุข ไม่ได้เลยละเธอไม่ควรเลิกศรัทธาในงานวรรณกรรม เพียงเพราะตัวตนที่แท้จริงของนักเขียนไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ซึ่งควรจะให้ความสนใจในคุณค่าที่จะได้รับมากกว่า ดังข้อความ “แม้คุณจะสูญเสียศรัทธาในตัวนักเขียนคนนั้นหรือต่อให้สูญเสียศรัทธาในตัวนักเขียนทุกคนบนโลก แต่ไม่ควรเสียศรัทธาในเนื้อแท้ของวรรณกรรม อย่างน้อยบรรดาชีวิตบนชั้นหนังสือ หรือตัวผมเอง เรายังร่วมสุขเมื่อคุณยิ้ม และร่วมทุกข์ในวันที่คุณร้องไห้ และเราจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป” (วัฒน์ ยวงแก้ว,2562,311) ส่งผลให้เธอมีมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไป และผู้เขียนปิดเรื่องด้วยการจบแบบสุขนาฏกรรม คือ หลังจากที่ตัวละคร “ผม” ได้ปรับความเข้าใจกับ “เธอ” ทำให้เธอรู้ว่าสิ่งใดควรให้ความสำคัญและเห็นคุณค่า ดังนั้นเธอจึงเลิกมองเขาเป็นของเล่น หันมาให้ความสนใจต่อความรู้สึกคนรอบข้างมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย เนื่องจากได้รับความจริงใจและการเห็นคุณค่าจากกันอย่างแท้จริง เห็นได้จากการที่เธอร่วมรักกับเขาโดยที่ไม่มองเห็นเขาเป็นคนอื่น ดังข้อความ “เราสบตากัน เนิบช้า ลึกซึ้ง ในความหมายที่แตกต่างจากที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง” (วัฒน์ ยวงแก้ว,2562 ,312) อีกทั้งเธอยังกลับมาเห็นคุณค่าของงานวรรณกรรมตามเดิม เห็นได้จากการที่นักเขียนมีตัวตนบนชั้นหนังสือดังข้อความ “บรรดานักเขียนบนชั้นหนังสือเริ่มปรากฏรูปร่างชัดเจนขึ้นอีกครั้ง” (วัฒน์ ยวงแก้ว,2562,312)

          ผู้เขียนนำเสนอแก่นเรื่อง โดยสื่อให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่ทำทุกอย่างเหมือนกับการเล่นของเล่น การรู้ว่าเวลาใดเราควรจะจริงจังกับการเล่น หรือควรเล่นกับเรื่องจริงจัง จากเรื่อง ของเล่น ทำให้เห็นว่าควรจริงจัง ไม่ล้อเล่นหรือมองข้ามความรู้สึกของคนอื่น บางเรื่องเราก็ควรยอมรับและไม่ยึดติด เช่น การที่ตัวตนของนักเขียนไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ก็ไม่ควรเลิกอ่านงานวรรณกรรม เพราะเราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงตัวตนของใครได้ สิ่งที่ควรทำคือยอมรับและให้ความสนใจต่อคุณค่าที่จะได้รับจากเนื้องานมากกว่า ซึ่งชื่อเรื่อง ของเล่นเป็นเหมือนกุญแจสำคัญที่นำมาสู่การหาความหมายโดยนัยที่ผู้เขียนแฝงเอาไว้ผ่านพฤติกรรมตัวละคร โดยทั่วไป “ของเล่น” หมายถึง สิ่งที่ใช้เล่นเพื่อความสนุกสนานและเพลิดเพลิน ผู้เขียนได้นำมาใช้เปรียบคนเป็นของเล่น ได้แก่ ตัวละคร “ผม” เนื่องจากไม่ได้รับความชัดเจนในสถานะจากอีกฝ่าย มักถูกมองข้ามความรู้สึก เขาจึงเป็นเหมือนของเล่นที่ให้ความสนุกชั่วคราว และตัวละคร “เธอ” ก็มีสถานะเป็นของเล่นเช่นกัน เพราะนักเขียนที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งด้วยนั้นมีครอบครัวอยู่แล้ว และเขามองเธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศที่ให้ความสุขชั่วคราวเท่านั้น 

         จะเห็นได้ว่าทั้งสองกรณีสามารถพบเห็นได้จากชีวิตจริงในสังคม กรณี “ผม” ยอมกลายเป็นของเล่นก็เพราะรัก ส่วนกรณี “เธอ” เป็นของเล่นโดยที่ไม่ได้เต็มใจ สุดท้ายก็จบด้วยการเลิกรากันไป ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดของเล่นนี้ สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมที่มนุษย์มีความเห็นแก่ตัว  การเอาเปรียบกันและกันทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม การสนใจแต่ความสุข ความสนุกที่ตนจะได้รับเท่านั้น เมื่อคนเราสนุกและมีความสุข ก็มักจะมองข้ามสิ่งต่าง ๆ ลืมให้ความสำคัญกระทั่งความรู้สึกของคนอื่น บางครั้งอาจถึงขั้นทำผิดศีลธรรม พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย จึงทำให้เห็นการเอาเปรียบกันเป็นทอด ๆ วนเป็นวัฏจักร ในขณะคนเราเอาแต่เศร้าเสียใจ โทษคนอื่นที่ทำให้เรากลายเป็นของเล่น บางครั้งคนเหล่านี้ก็ลืมมองย้อนดูตัวเองว่าเราก็กำลังเล่นของเล่นอยู่เช่นกัน 

          เมื่อพิจารณาโครงเรื่องและแก่นเรื่อง จะเห็นได้ว่ามีความต่อเนื่อง สอดคล้องกันอย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเรื่อง การดำเนินเรื่อง การผูกปม การหน่วงเรื่อง จุดสุดยอด การคลี่คลายปมและการปิดเรื่อง นอกจากนี้ชื่อเรื่องยังมีความสอดคล้องกับเนื้อหา เป็นเหมือนกุญแจนำไปสู่ความคิดสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อผ่านพฤติกรรมตัวละคร ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกก็มีความสมจริง เนื่องจากสามารถหาเหตุผลรองรับได้ และพบเห็นได้จากชีวิตจริง การใช้ภาษาก็เรียบง่าย ชัดเจน ทำให้จินตนาการตามได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้อ่านจะได้เห็นถึงธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ และได้รับแง่คิดดี ๆ เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ถือว่าเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ผู้อ่านไม่ควรพลาด


รายการอ้างอิง
วัฒน์ ยวงแก้ว. ในโลกเล่า. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผจญภัย. 2562.

    หมายเลขบันทึก: 687788เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2020 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2020 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท