โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง อบจ.


โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง อบจ.

18 ธันวาคม 2563

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]   

บทเรียนโค้งสุดท้ายของสนามแรก

(1) มาถึงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นไปอย่างเข้มข้น ยังพอมีประเด็นจับฉ่ายจิปาถะสร้างสีสันให้เล่าขานกันเพื่อต่อยอดการเลือกตั้งท้องถิ่นสนามต่อไป เรียกว่า ขอคลุกวงในยุ่งๆ เข้าไว้แม้บางเรื่องมองเป็นเรื่องเล็กน้อยประเด็น เนื่องจากเป็นเวที “ประเดิมการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรก” หลังจากพักหายไป 7-8 ปี [2]

(2) การเลือกตั้งในครั้งนี้มิได้มีนัยยะสำคัญใดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจนัก เนื่องจากกฎหมายท้องถิ่นยังมิได้มีการแก้ไข แม้จะประกาศแก้ไขช่วงหลังก็ยังคงรูปแบบ “การรวมศูนย์อำนาจของรัฐราชการ” เสียมากกว่าเน้นการกระจายอำนาจ ตามมาตรา 250 [3]แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ได้บัญญัติลดระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะในท้องถิ่นเท่านั้น มิได้มีบทบัญญัติที่เน้นให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นแต่อย่างใด ประกอบกับกฎหมายจัดตั้ง อปท.ที่ได้แก้ไขใหม่ก็มิได้มีลักษณะมุ่งเน้นการกระจายอำนาจ ยังคงอำนาจ และอำนาจแฝงของราชการส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาคไว้มากมาย การใช้อำนาจรวมศูนย์เป็นการให้อำนาจแก่ผู้กำกับดูแล อปท.เสียมากกว่า การเลือกตั้ง อบจ. ในครั้งนี้จึงมิได้สะท้อนปรากฏการณ์กระจายอำนาจมากนัก เป็นเพียง “เวทีประเดิมเพื่อหยั่งเสียง” ของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ จึงมีการหาเสียงและแข่งขันกันอย่างไม่ยอมเสียศักดิ์ศรี

(3) ท้องถิ่นไม่ก้าวไกล เพราะรัฐบาลกลางหวงอำนาจ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดแก่ท้องถิ่นแม้จะเดินหน้าก็ไม่ได้จะถอยหลังก็ติดขัด การแช่แข็งท้องถิ่นเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ เพราะไม่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนเจ้าของอำนาจได้ตัดสินใจบริหารท้องถิ่นของตนเองมาอย่างยาวนาน จนเกินกว่าวาระ 4 ปีของผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น (สถ.ผถ.) เป็นปรากฏการณ์ที่เลวร้ายมากในหลังช่วงการกระจายอำนาจที่เบ่งบานช่วงปี 2542-2546 นับเวลาได้ 17-21 ปี กระทรวงมหาดไทย เป็นตัวปัญหาของการกระจายอำนาจ เรียกว่า “แสงสว่างแห่งการกระจายอำนาจริบหรี่” [4]

(4) ขอแถมยุคนี้รัฐไม่เห็นคุณค่าท้องถิ่น แต่ยามตกอับก็ให้ช่วย นโยบายลดบุคลากรภาครัฐ (ข้าราชการพลเรือน) ของรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้น รัฐได้มองตำแหน่งข้าราชการที่ว่างใน อปท. ไว้แล้ว ไม่ต้องกลัวว่า อปท.จะถูกยุบหายไปหมดเพราะเป็นแหล่งระบายกำลังพลภาครัฐได้ แต่การทำให้ อปท.อ่อนแอ ทำให้ท้องถิ่นมีงบประมาณน้อย มันสวนทางนโยบายในอนาคตที่ต้องเกิดต้องมี แต่เดิมเมื่อ 7-8 ปีก่อนมีการกล่าวถึงการปรับปรุงรูปแบบ อบจ. ว่าสมควรควรยุบหรือไม่อย่างไร เพราะ อบจ. ไม่มีพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง มีความซ้ำซ้อนเชิงพื้นที่ แต่อ้างเชิงภารกิจว่ามีอำนาจหน้าที่ที่เหนือกว่าที่ อปท.เล็กๆ ทำไม่ได้ แต่ถือว่าก็ซ้ำซ้อนหน้าที่อยู่ดี

(5) หากมองว่าพรรคการเมืองพรรคใดที่คุมจังหวัดได้ ในมิตินี้ อบจ.ก็เป็น “ถุงฟอกเงินของ ส.ส.” ในการแปรงบประมาณงบสู่ท้องถิ่นได้จำนวนมาก เพราะ ในจังหวัดใหญ่ๆ อบจ. มีงบประมาณสูงถึงปีละ 2-4 พันล้านบาท [5] และประกอบกับตามประกาศมาตรฐานทั่วไปของคณะกรรมการกลางข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ได้กำหนดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ใหม่ [6] บังคับให้ อบจ.ต้องทำในด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีอำนาจกว้างขวางมากขึ้นในภาพรวม หลังจากที่ได้ถูกปฏิเสธอำนาจนี้มานาน

(6) เทคนิคประการหนึ่งของผู้สมัครมีประเด็นพิจารณาคือ การสมัครให้ได้เสียก่อนด้วยการแย่งชิงเบอร์ที่ตนปรารถนา แล้วต่อมามีทีมที่รู้กฎหมาย และเข้าใจการทำงานการเมืองมาช่วยวางแผนหาเสียง งานหลักๆ ประการสำคัญคือ การลดทอนทีมคู่แข่ง เช่น การแย่งชิงของผู้สมัครในการสัมผัสประชาชนผู้ใช้สิทธิ เพราะ อบจ.หลายแห่งห่างไกลผู้ใช้สิทธิ ที่ผ่านมา ส.อบจ.มีกิจกรรมกับชาวบ้านน้อย เรียกว่า “สภารับเหมา” บ้าง [7] หรือ “สภาจัดสรรโครงการ” บ้าง 

(7) คะแนนที่ผู้สมัครได้จะแสดงถึงศักยภาพของผู้สมัครใน “การสื่อสารถึงผู้ลงคะแนน ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้เขาเลือกตนเอง” ที่ผู้สมัครต้องทำใน 2 ประการคือ (7.1) การตรวจติดตามดูขั้นตอนของระเบียบกฎหมาย และการทำงานของเจ้าหน้าที่และกรรมการฯ ในกระบวนการต่างๆ เช่น การลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลคะแนน ว่าโปร่งใส หรือไม่อย่างไร (7.2) มีกระบวนการตอบโต้ด้วยการร้องเรียน หรือ การอุดช่องโหว่แก้ไขตนเอง กรณีถูกกล่าวหาร้องเรียน

การสอดส่องการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและการซื้อสิทธิขายเสียง

(1) กกต.รณรงค์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่อง “การซื้อเสียง” หรือทำผิดกฎหมายเลือกตั้งต่างๆ ด้วย “การแจ้งเหตุ” [8] ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน - 20 ธันวาคม 2563 หรือทาง “แอพพลิเคชั่นตาสับปะรด” [9] เพื่อแจ้งเหตุการณ์ทุจริตเลือกตั้งตามพื้นที่ต่างๆ ด้วยการยืนยันเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่อาจทำให้ประชาชนหลายคนเกรงกลัว ไม่เชื่อมั่นในการรักษาความลับของทางราชการเท่าใด ด้วยหนังสือลับ ลับมาก หรือคำสั่งลับต่างๆ ของหน่วยงานราชการมักปรากฏอยู่ตามสื่อโซเซียลบ่อยครั้ง หากเป็นการรับแจ้งโดยไม่ระบุตัวตนหรือโดยบัตรสนเท่ห์ดังเช่นหน่วยตรวจสอบการทุจริตต่างๆ เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. อาจสร้างแรงจูงใจให้แก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมได้มากกว่า

(2) อำนาจหน้าที่โดยตรงในการจับผิดเป็นของ “ผู้ตรวจการการเลือกตั้งประจำจังหวัด” (ผตล.) การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. ใช้หลัก 4 ประสานจับทุจริต [10] คือ (2.1) ผตล. (2.2) ชุดเคลื่อนที่เร็ว (2.3) จนท.รัฐ และ (2.4) ประชาชน เรียกว่าเป็นการประสานสิบทิศในการลดข้อครหาว่า “คนกันเองไปตรวจจับคนกันเอง” ลงในระดับหนึ่ง ข้อพิรุธในการซื้อสิทธิขายเสียง การให้สัญญาว่าจะให้อาจตรวจพบได้ง่าย ในพื้นที่ที่แข่งขันกันสูงๆ นอกจากนี้ ความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือความมีส่วนได้เสียในการเลือกตั้งที่ทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างผู้สมัครก็สำคัญ ในการหาช่วยหาเสียง หรือการแสวงประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ราชการ ทั้งนายก อปท. สมาชิกสภา อปท. พนักงาน ลูกจ้าง และบุคลากรอื่นใดของท้องถิ่นก็ตาม อาจเกิดข้อร้องเรียนกันได้ เพราะ ทราบว่า จากบทบัญญัติของกฎหมายที่รุนแรง และมีรางวัลสินบนนำจับและรางวัลผู้ชี้เบาะแสที่สูง ทำไมให้มีการจ้องร้องเรียนกัน แบ่งฟาก ห้ำหั่นกัน เสียมากกว่า ทั้งนี้กฎหมายต้องมิใช่เสือกระดาษ

(3) การกระทำผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่เลือกตั้งฯ แยกใน 2 ประการคือ (3.1) การเผอเรอประมาทไม่ตั้งใจไม่รอบคอบ กับ (3.2) การจงใจกระทำผิด เพราะเป็นหัวคะแนน มีรางวัลตบท้าย หรือเป็นพวกพ้องฯ การหาเสียงไม่ค่อยคึกคักนัก ด้วยเหตุคนสมัครมองไม่เห็นทางได้คะแนน หรือแม้บางรายจะทุ่มเทหาเสียงมากก็ตาม เพราะ ผู้สมัครคิดว่าตนเองไม่ได้มีอิสระ เช่นมีกองหนุน บ้านใหญ่ ฯ หากผู้สมัครเปลี่ยนข้างเมื่อใด ฉายางูเห่าก็มาเยือนได้

ข้อสงสัยกังขาคาใจรวมข้อระวัง

(1) เหตุที่ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า แน่นอนว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ เช่น นิวโหวตเตอร์ [11] นักเรียนนักศึกษา หรือคนทำงานต่างจังหวัดที่ไม่สะดวกกลับภูมิลำเนาไปเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่มีวันหยุดเพียง 2 วัน เพราะต้องรีบกลับไปเรียนหรือทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ในวันจันทร์ ที่เห็นชัดเจนก็คือ เจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบดูแลการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่หลายคนมิใช่คนพื้นที่แต่ต้องไปประจำหน่วยเลือกตั้ง เมื่อไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ด้วยเหตุใด ก็ต้องแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น [12] ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านด้วยตัวเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายใน 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้งหรือหลังวันเลือกตั้งได้ เพราะอาจทำให้เสียสิทธิ์ทางการเมืองหลายประการ

(2) จะถือว่าเป็นการกีดกันหรือลดทอนสิทธิในการลงคะแนนหรือไม่ เช่น หากบุคคลได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ นอกพื้นที่จนไม่สามารถเดินทางไปเลือกตั้งได้ กรณี กปน.เพิ่มชื่อได้และใช้สิทธิเลือกนายก อบจ.แล้ว แต่ไม่ได้เลือก ส.อบจ. เพราะอยู่คนละเขตกัน ที่สร้างภาระให้ กปน.ต้องไปแจ้งเหตุที่ไม่ไปเลือกตั้งอีก ด้วย [13] เพราะ “เลือกขาเดียว” คือเลือกนายกอย่างเดียว จึงไม่เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตย คงมิใช่การแก้ปัญหาเรื่องบัตรเขย่ง เมื่อ อปท.ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า โอกาสผิดพลาดที่เกิดจาก “บัตรเขย่ง” จึงมีโอกาสน้อย หรือ กรณีคนย้ายที่อยู่ข้ามจังหวัด หากย้ายไปที่ใหม่ไม่ถึง หนึ่งปี ก็ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งที่เก่าและที่ใหม่เป็นการตัดสิทธิ์ไปโดยปริยาย เพราะตามหลักกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดไว้เพียง 90 วันเท่านั้น สิทธิเลือกตั้งถูกตัดเพราะเรื่องถิ่นที่อยู่ ถือว่าเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมขัดรัฐธรรมนูญเพียงใด

(3) ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0310.4/ว 7446 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2563 เรื่อง การเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และหนังสือประทับตราแทนการลงชื่อกรมการปกครอง ที่ มท 0310.4/ว 33083 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2563 มีประเด็นการยุบหมู่บ้านที่มีประชากรน้อยกว่า 25 คน ที่ส่งผลถึงเขตเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และ การเลือกตั้ง อบต.ที่กำลังจะเกิดขึ้นในรอบการเลือกตั้งครั้งหน้า จังหวัดต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2564 แล้วรายงานกระทรวงมหาดไทยภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 [14] เรื่องนี้ เมื่อสองสามปีก่อนเคยมีการทักท้วงแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการใด รวมทั้งการยุบรวม อบต. ที่มีประชากรไม่ถึง 2000 คน [15] ก็ไม่มีการดำเนินการใดเช่นกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า เรื่องตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในราชการส่วนภูมิภาคจะผูกมัดด้วยเงิน กทบ. และเงินโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ผ่านอำเภอ จังหวัด กระทรวงมหาดไทยจึงทำให้ยุ่งเข้าไว้เพื่ออยู่นาน เป็นหลักประกันทางออกในตำแหน่ง นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอไปอีกยาว

(4) แม้ กกต. จะมีคำเตือน กปน. รวม 28 ข้อปฏิบัติก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้มีข้อพึงระวังอีกมากมาย เช่น ระวังคนพิการสามารถให้คนอื่นกาแทนได้ [16] แต่กรรมการ กปน.ต้องถามคนพิการใส่ให้เบอร์ไหน แล้วกาให้ตามความประสงค์ เจ้าหน้าที่ กปน.อย่าเสียสัตย์

(5) กปน. ที่เป็นข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น และลูกจ้าง รวมลูกจ้างเหมา มีแนวทางปฏิบัติในการจ่ายเงินค่าตอบแทน โดยเฉพาะ “ลูกจ้างเหมา อปท.” ที่ปฏิบัติงานให้แก่ อปท. แต่ได้รับการแต่งตั้งเป็น กปน. ว่าจะจ่ายเงินค่าจ้าง ตรวจรับการจ้าง หักเงินค่าจ้าง หรือต้องจัดหาคนมาแทนในช่วงที่ไปปฏิบัติหน้าที่ กปน. ทั้งในวันอบรม และ ในวันเลือกตั้งอย่างไร

ภารกิจงานการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ยังไม่เอกเทศ

(1) การประสานการปฏิบัติระหว่าง กกต. และ กองการเลือกตั้ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังคงปรากฏให้เห็นความซ้ำซ้อนของภารกิจเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประสานกองการเลือกตั้งเพื่อรายงานการเปิดหีบ ปิดหีบ นับคะแนนการเลือกตั้งในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการติดตามการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด

(2) ท้องถิ่นจังหวัดทั่วประเทศเพียงจำนวน 20 กว่าจังหวัดเท่านั้นที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จึงอาจทำให้พลาดในระเบียบข่าวสารสำคัญไป สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดจำเป็นที่จะต้องมอบหมายเจ้าหน้าที่ใน สถจ.ติดตามอย่างใกล้ชิด ถือเป็นความซ้ำซ้อนและเพิ่มภาระงานให้แก่เจ้าหน้าที่ อปท.ในพื้นที่อย่างเลี่ยงไม่ได้

(3) ยิ่งนานวันดูเหมือนความซ้ำซ้อนระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะทำทุกเรื่องที่เกี่ยวกับ อปท.คงไม่ต่างกับการยกงานของทุกกระทรวงทุกกรมมาไว้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เช่น ภารกิจทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นทั้งสิ้น ตั้งแต่งานทะเบียน คนสูงอายุ คนพิการ แม้แต่งานจัดการขยะ ฯลฯ ล้วนเกี่ยวข้องกับ อปท.ทั้งหมด

(4) ภารกิจงานต่างๆ ในปัจจุบันจึงซ้ำซ้อนและยื้อแย่งกันไปมาเสมือนการเล่นชักเย่อกันของราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนกลาง และราชการส่วนท้องถิ่น บนข้ออ้างเดิมๆ ว่า ท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อม สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้มีหน่วยราชการ “ตัวจริงเสียงจริง” ในส่วนภูมิภาคที่ทำหน้าที่ประสานสิบทิศ รวมถึงการจัดการเลือกตั้งด้วย แท้จริงแล้วก็คือ “กรมการปกครอง กับ กกต. และ อปท.” ส่วนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนั้น ไม่มีหน้าที่ใด

 

การเลือกตั้ง อบจ. ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 นี้ ถือเป็นบทพิสูจน์การทำหน้าที่ของประชาชนในฐานะพลเมืองผู้มีสิทธิ์เลือกผู้แทนของตน แม้ว่าการกระจายอำนาจจะยังไม่มีท่าทีดีขึ้นในเร็ววัน แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงศักยภาพและใช้สิทธิ์ที่ตนมี ที่ถูกแช่แข็งมาเนิ่นนานกว่า 7 ปี สุดท้ายแล้วต่างคนต่างมีหน้าที่ของตนเอง หน้าที่ของพลเมืองดีคือ การมีส่วนร่วมในการปกครองเพื่อส่งเสริมการปกครองตามวิถีทางประชาธิปไตย และการไปเลือกตั้งถือเป็นหน้าที่สำคัญของพลเมืองไทย การเลือกตั้ง อบจ.ในครั้งนี้ จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องทำให้ดีที่สุด เลือกคนดีคนมีความสามารถไปเป็นผู้แทน เพื่อดูแลพื้นที่ของตน เพราะอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนนั่นเอง 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharapron Maneenuch & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 18 ธันวาคม 2563, https://siamrath.co.th/n/205329 

[2]อบจ.จำนวนมากมีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2555 จำนวน 41 แห่ง (คิดเป็น 53.94%) กรณีนายก อบจ.ครบวาระ รวม 28 แห่ง ลาออก จำนวน 12 แห่ง เสียชีวิต จำนวน 1 แห่ง ดู การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2555, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ดู เปิด 'บิ๊กดาต้า' 20 ธ.ค. ฐานข้อมูล 'เลือกตั้งอบจ.', กรุงเทพธุรกิจ, 18 ธันวาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/912657?

[3]มาตรา 250  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

[4]ศึกเลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค. ไม่เห็นแสงสว่างกระจายอำนาจ

ดู ผ่าสนามเดือด เลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค.: วีระศักดิ์ เครือเทพ โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร, ไทยโพสต์, 13 ธันวาคม 2563, https://www.thaipost.net/main/detail/86679& จับสัญญาณเลือกตั้ง อบจ. : ตอบโจทย์, ร่วมสนทนาโดย ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว, ดร.อรทัย ก๊กผล, ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ThaiPBS, 11 ธันวาคม 2563, https://youtu.be/icZJPm3Xm8A

[5]ดู เลือกตั้งท้องถิ่น : ปรากฏการณ์ใหม่-ข้อมูล-สถิติน่าสนใจในศึกเลือกตั้ง อบจ. 63, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย, 6 ธันวาคม 2563, https://www.bbc.com/thai/thailand-55186329

& วิเคราะห์สนามเลือกตั้งนายก อบจ.โคราช ใครจะเข้าวินดูแลงบต่อปี 4,000 ล้านบาท, 17 ธันวาคม 2563, https://siamrath.co.th/n/205168

[6]ดู ประกาศ ก.จ. เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการวิธีการบริหารและการปฏิบัติงานของข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ลงวันที่  30 กรกฎาคม 2563 ส่งตามหนังสือประทับตราแทนการลงชื่อสำนักงาน ก.จ. ที่ มท 0809.2/ว 137 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/10/24370_1_1603270029270.pdf

& กรณีของเทศบาล ตามหนังสือสำนักงาน ก.ท. ที่ มท 0809.2/ว 165 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2563, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/12/24638_1_1608009960181.pdf

[7]ศึกเลือกตั้งนายกอบจ.โคราชเดือด! “หมอแหยง”แฉกลโกงซื้อเสียงหัวละ 2-3 พัน จี้กกต.ตรวจสอบ, ผู้จัดการออนไลน์, 20 พฤศจิกายน 2563, https://mgronline.com/local/detail/9630000119943

นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา หาเสียงว่า ...เพื่อเสนอนโยบายการจัดตั้งสภาประชาชน ให้ประชาชนทุกเขตทุกอำเภอได้มีสิทธิ์มีเสียงในการเข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ อบจ.ปีละ 4,000 ล้านบาท ให้สามารถใช้พัฒนาจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสที่สุด สลายภาพลักษณ์ สภาฮั้ว ของกลุ่มผู้รับเหมา…

[8]ดู กกต. รับแจ้งเบาะแสการกระทำอันไม่สุจริตในการเลือกตั้ง ส.อบจ. และนายก อบจ. มีเงินรางวัลเป็นล้าน, ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กกต., 1 ธันวาคม 2563

& เลือกตั้ง'อบจ.โคราช'ส่อวุ่น!ผู้สมัครโวยรูปบนหน่วยเลือกตั้งหาย, ไทยโพสต์, 16 ธันวาคม 2563, https://www.thaipost.net/main/detail/86997

& กางโทษ 5 กระทง 'ความผิดบัตรเลือกตั้ง', กรุงเทพธุรกิจ, 17 ธันวาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/912652 

กองปราบเปิด'ไซเลนเซอร์'ค้น41จุดทั่วประเทศก่อนเลือกตั้ง'นายก'อบจ.', 18 ธันวาคม 2563, https://siamrath.co.th/n/205333

[9]กกต.ชวนโหลดแอปพลิเคชัน 'ตาสับปะรด' แจ้งทุจริตเลือกตั้ง, กรุงเทพธุรกิจ, 17 ธันวาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/912811

แจ้งทุจริตเลือกตั้ง ส่งได้ทั้งข้อความ ภาพ วิดีโอ พร้อมติดตามสถานการณ์และป้องปรามการทุจริตเลือกตั้ง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

[10]"กกต."จับมือ 4 ฝ่ายจับตาทุจริตเลือกตั้งท้องถิ่น20ธ.ค.นี้, โพสต์ทูเดย์, 15 ธันวาคม 2563, https://www.posttoday.com/politic/news/640351

[11]New Voter กรณีเลือกตั้ง อบจ.คือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้มีโอกาสเลือกตั้ง อบจ.ครั้งแรก มีอายุตั้งแต่ 18-26 ปี เพราะ อบจ.มีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ล่าสุดในปี 2555

[12]มาแล้ว! เอกสารแจ้งไม่ไป 'เลือกตั้ง อบจ.' กรอกอย่างไรให้ถูกต้อง!, กรุงเทพธุรกิจ, 16 ธันวาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/912591

[13]หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด่วนที่สุดที่ ลต 0013/ว 1212 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้ง

[14]ด่วน! เช็คหนังสือ 'มหาดไทย' แจ้งจังหวัดเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบต., กรุงเทพธุรกิจ, 15 ธันวาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/912452

[15]เช่น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2560 เรื่อง การยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลวังเหนือ กับเทศบาลตำบลวังเหนือเป็นเทศบาลตำบลวังเหนือ เป็นไปตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 41 จัตวาให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการประกาศยุบรวมสภาตำบลทั้งหมดและองค์การบริหารส่วนตำบลใด ที่มีจำนวนประชากรไม่ถึง 2000 คน โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันภายใน 90 วันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 270 ง วันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 หน้า 8

[16]ระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 137 ก วันที่ 17 ธันวาคม 2562, https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=6805  

ข้อ 153ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจัดให้มีการอำนวยความสะดวกในการออกเสียงลงคะแนนแก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง โดยการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเองตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้คนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือให้ญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจเป็นผู้ทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น และให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งบันทึกการกระทำดังกล่าวลงในรายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง (ส.ถ./ผ.ถ. 5/3) ทั้งนี้ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

เทียบดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 92บัญญัติให้มีการอำนวยความสะดวก สำหรับการออกเสียงลงคะแนนของคนพิการ และผู้สูงอายุ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียง ลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

กรณีไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่น หรือ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทน โดยความยินยอม และเป็นไปตามเจตนาของคนพิการ หรือผู้สูงอายุนั้น ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท