ชีวิตที่พอเพียง 3833. สร้าง Growth Mindset แก่ผู้ปฏิบัติงาน


ในการประชุม online ขอคำแนะนำการดำเนินงาน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้สูงอายุที่มารับการผ่าตัด (SiPG – Siriraj Integrated Perioperative Geriatric Excellent Research Center) ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล    โดยเลขานุการศูนย์ รศ. พญ. อรุโณทัย ศิริอัศวกุล และทีมงาน เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๓    ผมตาสว่าง ว่า SiPG  คือเครื่องมือสร้าง Growth Mindset ให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง

ระบบการให้บริการทางการแพทย์  มีการแบ่งส่วนงานย่อยๆ มากมาย    เพื่อทำงานแต่ละส่วนให้ดีที่สุด  ถูกต้องตามหลักวิชาการมากที่สุด    เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับบริการที่ดีที่สุด    นี่คือเส้นทางความเจริญก้าวหน้าของกิจการต่างๆ ทั้งด้านการผลิต และด้านบริการ    ที่พัฒนาแนวนี้มาตั้งแต่สี่ห้าร้อยปีมาแล้ว จนถึงปัจจุบัน    คือแนว specialization    ซึ่งเมื่อถึงปัจจุบันก็พบความอ่อนแอของระบบ เรียกว่า fragmentation  หรือ silo   

แนวทางพัฒนาของยุคปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นแนว “บูรณาการ” (integration)    ซึ่งก็คือแนวของ SiPG ที่มุ่งทำหน้าที่ชักชวนหน่วยงานต่างๆ ใน รพ. ศิริราช ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัด    ให้ทำวิจัยร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพของบริการ    โดยที่เมื่อราวๆ สามปีก่อน อ. หมออรุโณทัย มาเสนอแนวความคิดเพื่อขอคำแนะนำจากวง R2R Core Team    

ด้วยความมานะอดทนของ อ. หมออรุโณทัย ที่ไปคุยกับผู้ใหญ่หรือแกนนำของแต่ละหน่วยงานด้วยความยากลำบาก    เพราะแต่ละหน่วยงานต่างก็มีวิธีทำงานที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว อ. หมออรุโณทัยต้องทำหน้าที่ไปขายฝันให้เห็นว่า ยังมีช่องทางทำให้ผู้รับบริการสะดวกยิ่งขึ้น  และคุณภาพของบริการทางการแพทย์ก็ดีขึ้นด้วย    เริ่มจากการร่วมกันตั้งโจทย์  และร่วมกันทำวิจัย    ในเวลาสองปีเศษ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการกว่า ๑๐ เรื่อง     และงานของ SiPG ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น    เพราะเห็นผล กับตา ว่าเมื่อหน่วยงานทำงานอย่างบูรณาการกัน    ผลลัพธ์ก็ดีขึ้น

ที่จริงมีเรื่องราวเชิงเทคนิคหรือรายละเอียดของการทำงานสร้างบูรณาการของระบบอีกมาก    แต่บันทึกนี้ขอชี้ประเด็นที่ใหญ่กว่านั้น    คือเรื่องกระบวนทัศน์ หรือชุดความคิด (mindset) ของผู้คน

เราพูดกันว่า Growth Mindset สำคัญยิ่งสำหรับเด็ก    ระบบการศึกษา และการเลี้ยงดูที่บ้าน ต้องไม่หลงสร้าง Fixed Mindset ให้แก่เด็ก    ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังมิจฉาทิฏฐิติดตัวเด็กไป    ทำให้มิติคุณสมบัติของมนุษย์ด้านความอดทนมานะพยายามถูกปิดกั้น    เป็นผลร้ายไปตลอดชีวิต

ผมมีข้อสังเกตว่า Growth/Fixed Mindset มีอิทธิพลต่อวงการต่างๆ ตลอดชีวิตคน    มีอิทธิพลต่อหน่วยงาน    แม้วงการที่เป็นที่เคารพยกย่องก็ไม่ปลอดจากอิทธิพลของ Growth/Fixed Mindset    ในบางกรณีคนเก่งอาจมีความคิดแบบยึดมั่นถือมั่นรุนแรง ไม่ยอมรับฟังความคิดที่แตกต่าง    ไม่ยอมเรียนรู้วิธีการที่แตกต่างจากที่ตนคุ้นเคย    ในโรงเรียนแพทย์เราพบคนแบบนี้บ่อยๆ     เมื่อก่อนผมตีความว่าเพราะคนแบบนี้อีโก้จัด

แต่เมื่อมารู้จัก Growth Mindset/Fixed Mindset  จึงรู้ว่าเป็นความยึดมั่นถือมั่นอีกแบบหนึ่ง    ที่คนเรายึดมั่นได้ทั้งแบบยึดมั่นตัวเอง  หรือยึดมั่นวิธีการที่คุ้นเคย    ไม่มีทักษะตั้งคำถามว่า จะมีวิธีทำงานให้ดีกว่านี้ได้ไหม  ทำอย่างไร    ผมมองว่า คนที่มี Growth Mindset จะมีนิสัยแสวงหาสิ่ง/วิธีการ ดีกว่า อยู่ตลอดเวลา     ซึ่งเชื่อมโยงกับความสร้างสรรค์ (creativity)     และในวงการอุตสาหกรรมและธุรกิจ จะมีคำ CQI – Continuous Quality Improvement    และญี่ปุ่นเรียก Kaizen   ที่องค์กรจะฝึกพนักงานจนเกิดเป็นนิสัยของคน และเป็นวัฒนธรรมองค์กร   

เมื่อกว่าสามสิบปีมาแล้ว  สมัยผมทำหน้าที่คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    ผมมุ่งหาทางวางรากฐานวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นองค์กรคุณภาพ    ผ่านการพัฒนาบุคลากรขนานใหญ่    ผสานกับ quality development platform   คือ QCC – Quality Control Circle    ตอนนี้ผมเกิดความเข้าใจว่า เป็นการสร้าง Growth Mindset ให้แก่สมาชิกขององค์กร

และเกิดความเข้าใจว่า  ระบบราชการบ่มเพาะ Fixed Mindset ให้แก่ผู้คน ทั้งในระบบราชการ และแก่ประชาชน     เพราะเน้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบตายตัว  

เรื่อง Growth/Fixed Mindset มันครอบงำสังคมได้มากกว่าที่เราคิด

วิจารณ์ พานิช  

๑๖ ต.ค. ๖๓

      

หมายเลขบันทึก: 687274เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2020 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2020 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การทำงานถึงจะมีกฏระเบียบ แต่การยืดหยุ่นเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท