รัฐธรรมนูญเป็นคัมภีร์แม่บทในการปกครองประเทศ : ปัญหาศาลรัฐธรรมนูญ


รัฐธรรมนูญเป็นคัมภีร์แม่บทในการปกครองประเทศ : ปัญหาศาลรัฐธรรมนูญ

*** ข้อมูลนี้รวบรวมไว้เมื่อปลายปี 2556

รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็น "คัมภีร์แม่บทในการปกครองของประเทศ"

มีทฤษฎีหลักการตามหลักสากลตามทัศนะของ อ.รศ.พัฒนะ เรือนใจดี  10 ประการ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ดู จักรินทร์ ทองบพิตร ผู้ดำเนินรายการ สถานีโทรทัศน์รัฐสภา  สัมภาษณ์ รศ.พัฒนะ เรือนใจดี เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2556
ประเด็นปัญหา 
"ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยต่อคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่มา สว.เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556"
สส. สว. จำนวน 312 คน ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ (มติ 5 ต่อ 4) ในการวินิจฉัยแก้รัฐธรรมนูญที่มา สว.ขัดรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ สส.สว.ไม่ยอมรับคำวินิจฉัย (ตัดสิน) ของศาลรัฐธรรมนูญ อาจเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพราะ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นกรณีการปฏิวัติใช้กำลังที่ไม่ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ข้อหากบฏ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรพิเศษไม่ใช่อำนาจตุลาการ แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็น "องค์กรอิสระ" (ไม่ใช่สถาบันตุลาการ ที่ใช้อำนาจตุลาการ) 

เหมือนศาลรัฐธรรมนูญ (5 คน) ขับรถตู้พาหลงทางกันหมด เข้าซอยก็ซอยตัน ทางแก้คือ ต้องเปลี่ยนคนขับใหม่ กลายเป็นว่าประเทศนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ นิติติรัฐ กีบนิติธรรมไม่เหมือนกัน รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของหลักการตามระบอบประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญ อ้าง มาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญ (หลักนิติธรรม) ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยไม่มีหลักนิติธรรม มีแต่หลัก "นิติรัฐ" คือ การปกครองโดยกฎหมาย หรือ มีหลัก The Rule of Law ในเรื่อง "ความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย" 

รัฐสภามีหน้าที่ควบคุมรัฐบาล เรียก "Judicial Control" แต่บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญให้มี "ศาลรัฐธรรมนูญ" (องค์กรอิสระ) มาควบคุมรัฐบาล ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะ ศาลรัฐธรรมนูญนี้ มีอำนาจหน้าที่เพียง "การควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น และ ไม่ใช่ให้อำนาจมาควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" และ ศาลรัฐธรรมนูญจะมา "ล้วงลูกรัฐสภา" ไม่ได้ แถมยังจะให้ ป.ป.ช. มาถอดถอนอีก จะทำให้ "ป.ป.ช. เป็นศาลรัฐธรรมนูญ 2" จึงมิใช่กรณี "ฝ่ายนิติบัญญัติ" ทะเลาะกับ "ฝ่ายตุลาการ" แต่อย่างใด แต่เป็นกรณี "Maljudicial" ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้อง เพราะไม่เข้าตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ และ เป็นอำนาจของรัฐสภา ที่จะแก้ไขได้ตามมาตรา 291

รัฐธรรมนูญไม่มีบทบังคับ เหมือนกฎหมายอาญา อำนาจสภาในรัฐธรรมนูญอย่างเก่งก็แค่การอภิปรายรัฐบาล (ฝายบริหาร) แต่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ "ถอดถอน" ได้  ไทยลอกการถอดถอนมาจากฝรั่งเศส เพราะ ฝรั่งเศสมี "คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ" เยอรมันมี "ศาลตุลาการรัฐธรรมนูญ"

พรรคประชาธิปัตย์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 93-98 ได้  แต่พรรคเพื่อไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้

ประเด็นโต้แย้งคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้อง สส.ล่าชื่อให้ถอดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน เมื่อไม่มีอำนาจรับคำร้อง  เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้วก็ต้อง "ยกคำร้องไป"  หรือ กรณีฟ้องศาลยุติธรรมก็เช่นกัน เมื่อศาลรับคำฟ้อง ไต่สวนแล้ว ศาลก็ยกฟ้อง เพราะ  "เป็นเรื่องการเมือง" ไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม

ข้อวิพากษ์ : 


แต่กรณีของประเทศไทยจะได้สักครึ่งหนึ่งตามหลักการสากลหรือไม่ เพราะในส่วนของไทยมีการ "แปลงสาร???" อาทิเช่น

ทฤษฎี Fusion of Power (การหลอมอำนาจ) ก็เอามาปนกับ Separation of Power (การแบ่งแยกอำนาจ) ทำให้หลักการแบ่งแยกอำนาจมันดูลักหลั่น

อำนาจตุลาการ มีอำนาจ "Judicial Review" หรือ "Judicial Activism" หรือ แปลเป็นไทยว่า "ตุลาการภิวัตน์" ตามหลักของ Common Law เพียงใด เพราะ ตุลาการภิวัตน์มีแนวโน้มตีความขยายฐานอำนาจของตนให้มากขึ้น

ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจตุลาการในนามพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์เพียงใดหรือไม่ เพราะ ไทยมี "อำนาจตุลาการ" แยกต่างหากส่วนหนึ่งแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลในความหมายของการแบ่งแยกอำนาจ (อำนาจบริหาร,นิติบัญญัติ,ตุลาการ) เพียงใด??? เพราะ ศาลรัฐธรรมนูญเป็น "เพียงองค์อิสระ" ตามรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ชื่อว่า "ศาล" เท่านั้น  มิใช่การใช้อำนาจตุลาการตามหลักทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Power) แต่อย่างใด

เมื่อหันมาดูโครงสร้างและที่มาขององค์คณะ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ไทยแล้ว มีเพียง 9 คน มาจากไหนบ้าง ค่อนข้างสับสน 

ลองไปศึกษาดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ อ.เดโช สวนานนท์ และที่ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ได้รวบเล่มไว้

และดูความเห็นของคุณทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ นักศึกษานักวิเคราะห์รัฐธรรมนูญฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และ ดูความเห็นของคณะนิติราษฎร์ เกี่ยวกับ "ศาลรัฐธรรมนูญ"

ซึ่งคณะนิติราษฎร์เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ 

ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เสนอให้ทำอารยะขัดขืนศาลรัฐธรรมนูญ 


ความเห็น

[1] Niti Law Pichet : 21 พฤศจิกายน 2556  

มีคนถามว่าเห็นอย่างไร กับคำตัดสินศาล รธน ส่วนตัวนั้นเห็นว่า 

"ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นเพื่อให้ใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญมอบให้ เพื่อทำหน้าที่รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจหน้าที่นั้นไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบรัฐธรรมนูญและหลักการนิติรัฐประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจซึ่งมีผลเป็นการเพิ่มถ้อยคำที่ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 

การใช้อำนาจที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่สาธารณชนว่าเข้าเป็นฝ่ายทางการเมืองเพื่อทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง การใช้อำนาจที่มีผลขยายเขตอำนาจของตนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การใช้อำนาจตีความรัฐธรรมนูญที่ส่งผลประหลาดและผิดพลาดอย่างแจ้งชัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจที่มีผลเป็นการยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ทั้งที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ไม่ว่าจะในขั้นตอนใด 

จากพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายแดนอำนาจของตนออกไป จนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิง ศาลรัฐธรรมนูญถูกก่อตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญก็เพื่อรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่วัตถุประสงค์และภารกิจดังกล่าวกลับไม่บรรลุผลและถูกทำลายไปโดยศาลรัฐธรรมนูญเอง 

นอกจากนี้ การได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะไม่ยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อันเป็นลักษณะสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเสรีประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำได้ยากในทางปฏิบัติ และหากเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ยังไม่เพียงพอต่อการปฏิรูปองค์กรที่ทำหน้าที่รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ"

ปล.ขออภัยในความเห็นต่าง

[2] กิจบดี ก้องเบญจภุช : 24 พฤศจิกายน 2556

นักกฎหมายที่ดีต้องไม่มีสีเสื้อ 

ตั้งแต่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ก็มีนักกฎหมายออกมาวิภาควิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
สำหรับผู้เขียนเองเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ดีมากไม่เอนเอียง มีหลักในการพิจารณาชัดเจน

ประการแรก: มีนักกฎหมายบางท่านเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณา แต่สำหรับผู้เขียนเห็นว่ามีอำนาจ เนื่องจากศาลไทยมีอยู่สี่ศาลคือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพิพาทดังกล่าวไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง หรือศาลทหาร เพราะเป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติ (รัฐสภา) จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วจะให้ศาลใดพิจารณา รัฐสภาจะอยู่เหนือกฎหมายได้อย่างไร

ประการที่สอง: ศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบไม่สุจริต เช่นทำเอกสารปลอม หรือเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน หรือองค์ประชุมไม่ครบ ฯ จะเห็นว่า ถ้ารัฐสภาซึ่งเป็นผู้บัญญัติกฎหมายแต่ใช้อำนาจออกกฎหมายโดยไม่สุจริตได้ ก็เท่ากับว่าอยู่เหนือกฎหมาย อย่างนี้จะเป็นระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร

ประการที่สาม: การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุบพรรคเพื่อไทย ก็เพราะเห็นว่าความผิดเป็นเพียงกระบวนการไม่ชอบ แต่มิได้เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองจึงไม่ยุบพรรคก็ถูกต้องแล้ว

ประการที่สี่: หลักสำคัญที่ศาลนำมาใช้ก็คือ หลักของความสุจริต หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักของความยุติธรรม หลักประโยชน์ของชาติ ฯลฯ หากผู้มีอำนาจไม่ว่าอำนาจใดใช้อำนาจอย่างไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ยุติธรรม และใช้อำนาจ เพื่อตนเองและพวกสังคมจะอยู่อย่างไร
ประการที่ห้า: ในเรื่องนี้หาก ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดและฟ้องศาลเป็นคดีอาญาก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะ ส.ส.และ ส.ว.ไม่ควรอยู่เหนือกฎหมาย ทำผิดก็ต้องถูกลงโทษได้เช่นเดียวกับประชาชน

ผู้เขียนเห็นว่านักกฎหมายเห็นต่างกันได้ แต่ต้องอยู่บนความสุจริต อย่าตีความกฎหมายตามสีเสื้อ หรืออยู่ฝ่ายใดก็ตี ความเข้าข้างฝ่ายนั้นอย่างหน้ามืดตามัว โดยขาดสำนึกของนักกฎหมาย พี่น้องคนไทยจะฆ่ากันตาย

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นอาจารย์สอนกฎหมายเกี่ยวเรื่องนี้โดยตรง ขอร้องนักกฎหมายว่าพวกเราอย่าให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นไปตามสีเสื้อเลยครับ ประชาชนสับสนและจะทำให้เกิดสงครามกลางเมือง จะไม่มีใครได้อะไรเลยนอกจากความตาย และนักกฎหมายได้ประโยชน์บนซากศพ 

อ้างอิง

รศ พัฒนะ เรือนใจดี กรณี ศาล รธน, จักรินทร์ ทองบพิตร ผู้ดำเนินรายการ สถานีโทรทัศน์รัฐสภา เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2556,

กิจบดี ก้องเบญจภุช, นักกฎหมายที่ดีต้องไม่มีสีเสื้อ, 25 พฤศจิกายน 2556, https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=465958063512549&id=100002950778968 

Niti Law Pichet, มีคนถามว่าเห็นอย่างไร กับคำตัดสินศาล รธน., 21 พฤศจิกายน 2556,  https://www.facebook.com/pj.nong/posts/612853555428147 

บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ, หลักการแบ่งอำนาจ, สถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=หลักการแบ่งอำนาจ

ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์, "แฟนพันธุ์แท้การเมืองไทย" ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ 2550, นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
, อัปเดตล่าสุด 14 สิงหาคม 2550 เวลา 00:00:00, http://hilight.kapook.com/view/14348

ข้อเสนอนิติราษฎร์: ยุบศาล รธน. และจัดตั้ง 'คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ', ประชาไท / ข่าว, 15 กรกฎาคม 2555, https://translate.google.com/translate?hl=en&sl=th&u=https://prachatai.com/journal/2012/07/41567&prev=search&pto=aue  

จอม เพชรประดับ (ผู้ดำเนินรายการ), เสวนารัฐธรรมนูญ 2550 แก้หรือเก็บ? รศ.ดร.วรเจตน์ ดร.พีรพันธุ์, วันอังคารที่ 29 มกราคม 2556 ณ ห้องบอลรูม A โรงแรมเดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท, วิทยากร ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล,
ถ่ายทอดสดโดย Prainn Rakthai (MP3), 1 กุมภาพันธ์ 2556, http://www.mediafire.com/?5q1mqi67uhx6zd0  

"อุกฤษ มงคลนาวิน" ปลุกอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร อารยะขัดขืน คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ (อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 1 พฤษภาคม 2556, https://www.facebook.com/notes/supapong-wanitpongpan//ศาสตราจารย์-ดร-อุกฤษ-มงคลนาวิน-ปลุกอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร-อารยะขัดขืน-คำวินิจฉั/10151712498474985/ 

& It's my way. 1 พค. 2556 ตอนที่ 2, http://daydreams0.blogspot.com/2013/05/01052556-2.html  

พท.ค้านคำวินิจฉัยศาลรธน.ขู่ถอดตุลาการ, โพสต์ทูเดย์,  21 พฤศจิกายน 2556, https://www.posttoday.com/politic/news/260386 

หมายเลขบันทึก: 687200เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2020 01:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2020 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท