ประเด็นยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ


ประเด็นยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ

20 พฤศจิกายน 2563

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

      (1) ที่จริงแนวคิด ยุทธศาสตร์ชาตินี้มีมานานแล้ว มีการศึกษาในสถาบันทหารมานานแล้ว จนกระทั่งมาบังเกิดผลสำเร็จในยุค คสช. โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับท้องถิ่นนั้น เพิ่งเริ่มได้คิด หรือเพิ่งจะคิดได้ แม้ตามแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้น ไม่มี “ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น” ก็ตาม ประเด็นคือ “สมควรยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” หรือไม่ อย่างไร

(2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 65 [2]อธิบายเรื่องยุทธศาสตร์ชาติไว้ ว่า หมายถึง “เป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ... ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้” และ ในวาระเริ่มแรกตามบทเฉพาะกาลมาตรา 275 [3] บัญญัติให้ “ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ” จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงทำให้เกิดการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ตาม มาตรา 5 [4]มาตรา 6 [5] และบทเฉพาะกาลมาตรา 28 (4) [6] แห่ง พรบ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ “ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบปี” ซึ่งยุทธศาสตร์นั้นต้องประกอบด้วย (1) วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ (2) เป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว (3) ยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ

(3) ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติมีทั้งหมด 6 ด้าน คือ (1) ด้านความมั่นคง (2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ หนึ่งในแนวยุทธศาสตร์ชาติเด่นสำคัญก็คือ  “ศาสตร์แห่งพระราชา” ทั้งนี้ตาม ประกาศราชกิจจานุเบกษาเรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) หรือ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 [7] ด้วยสโลแกน “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

          (4) อนึ่งนักวิชาการมีข้อสังเกตคำว่า “Populism” [8] หรือ “ประชานิยม” ที่เริ่มใช้คำนี้กันเมื่อปี พ.ศ. 2544 พบว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 มาตรา 35 (7) [9] นิยามคำว่าประชานิยมหมายถึง “การบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

(5) หลายประเทศใช้นโยบายประชานิยมใส่ไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ เป็นที่สังเกตว่า การใช้นโยบายประชานิยมในต่างประเทศมีมานานแล้ว ในตุรกี หรือกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ได้แก่ อาร์เจนตินา ปานามา ชิลี เวเนซุเอล่า นักประชานิยมคนดังเช่น มาร์กอส หรือ ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ หรือ ปูติน แห่งรัสเซีย [10] ยิ่งปัจจุบันนโยบายนี้ใช้ในกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป [11] ด้วย

ยุคแห่งความผันผวนเปลี่ยนแปลง Disruptive Technology [12]

          (1) ความผันผวนเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากตามกระแสโลกโซเซียล (Social Network) ทุกคนมิอาจปฏิเสธได้ว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งในโลกชีวิตประจำวัน โลกเศรษฐกิจนั้น ทำให้คนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันถูก Disrupt ออกไป

(2) การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่เนิ่นนานถึง 20 ปี เริ่มเกิดคำถามว่า เราจะคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างไร ในเมื่อทุกอย่างได้ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์ในโลกปัจจุบันแล้วว่า ทุกอย่างมันได้เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็วแบบปีต่อปี สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจเดลิเวอรี่และธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีนเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนอย่างสูง รวดเร็ว และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนยุคปัจจุบัน ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต้องพัฒนาและเข้าช่วงชิงตลาดค้าขายแบบออนไลน์ อุตสาหกรรมต่างๆ ตระหนักและพัฒนาปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

(3) จากสถานการณ์นี้เกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึงปี และมิใช่เพียงวิกฤติโควิด-19 เท่านั้น ที่ผ่านมาเราประสบกับโลกยุค Disruptive Technology อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น การที่หนังสือพิมพ์หันมาเปิดเว็บไซต์นำเสนอสร้างสรรค์ข่าว แผ่นซีดี นาฬิกาปลุกตั้งโต๊ะ ตู้โทรศัพท์สาธารณะ หรือแม้แต่ปุ่มกดโทรศัพท์มือถือที่หายไป ที่กล่าวมามันยืนยันถึงความเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ประสบการณ์จากต่างประเทศ

          (1) การวางยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาวดังกล่าว มิใช่มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่ปรากฏให้เห็นในต่างประเทศ เช่น มาเลเซียวางแผน “Vision 2020” (30 ปี) [13] ตั้งแต่ยุคนายกฯ มหาเธร์ ปี 1991 ญี่ปุ่น มีแผนยุทธศาสตร์การเจริญเติบโต เรียกว่า “Japan vision 2050” [14] ประกาศใช้ในปี 2005 สิงคโปร์ มีแผนเรียกว่า “Sustainable Singapore 2030” (20 ปี) [15] ประกาศใช้ปี 2018 เกาหลีใต้ มีแผน “Vision 2025” [16] ประกาศใช้ปี 1999 ฝรั่งเศส มีแผนพัฒนาประเทศ 10 ปี [17] มีข้อมูลอ้างอิงว่ายุทธศาสตร์ชาติเด่นใน 5 ประเทศ [18] คือ จีน โปรตุเกส เอสโตเนีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แม้แต่สหรัฐอเมริกาว่ากันว่า ก็มียุทธศาสตร์ชาติเช่นกัน

          (2) ในยุทธศาสตร์ชาติเชิงลบ มีผู้ยกตัวอย่างความล้มเหลวของ แผนยุทธศาสตร์ [19] “Burmese Way to Socialist” ปี 1962 ของจอมพลเนวิน แห่งสหภาพพม่า หรือ แผนยุทธศาสตร์ “Bolivarian Mission” ปี 2000 ของประธานาธิบดีชาเวซ แห่งเวเนซูเอล่า

(3) อย่างไรก็ตาม ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศของแต่ละรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงักในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนรัฐบาล และในหลายครั้งปรากฏว่า รัฐบาลเปลี่ยน นโยบายเปลี่ยน รัฐบาลใหม่มักจะไม่สานต่อนโยบายของรัฐบาลเก่า อีกทั้ง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีดังกล่าว มิได้เขียนขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ประชาธิปไตยเต็มใบ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวเกิดในภาวะสังคมการการเมืองที่ขาดความชอบธรรม อาจเกิดผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนผู้ฝักใฝ่ในประชาธิปไตยว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์และมรดกของคณะรัฐประหารที่ต้องอยู่กับสังคมไทยไปอีกนานถึง 20 ปี เป็นที่วิพากษ์ของสังคมทั้งที่ก่อนหรือหลังการจัดทำยุทธศาสตร์แล้ว เช่น ข้อวิตกว่า “แผนยุทธศาสตร์ชาติดาบสองคม ผิดทิศหลงทาง กลายเป็นโซ่ตรวนล่ามชาติ หยุดพัฒนาไปอีกหลายสิบปี ชี้แผน 20 ปีนานไปไร้ยืดหยุ่นเสี่ยงถูกภาคธุรกิจครอบภาครัฐ” หรือ “แผนยุทธศาสตร์ไม่ว่าในระดับใด หากเป็นแผนระยะยาว ต้องใส่กลไกให้เป็นแผนที่มีการเรียนรู้และปรับตัว หากเป็นแผนที่แข็งทื่อตายตัว จะสร้างหายนะ” เพราะ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรเป็นแผนที่เรียนรู้และปรับตัว” เป็นต้น

          (4) ด้วยความเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน “เรามิได้ปฏิเสธยุทธศาสตร์ชาติ” แต่ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดห้วงระยะเวลาไว้อย่างยาวนาน อาจเป็นสิ่งที่ล้าสมัยที่จะคอยเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ เพราะ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ถือเป็นแผนชาติประเภทหนึ่งเช่นกัน โดยเฉพาะการเขียนยุทธศาสตร์ที่ปราศจากนโยบายที่เป็นรูปธรรมออกมารองรับ

(5) ตรงกันข้ามในหลายกรณียุทธศาสตร์กลับสวนทางกับยุทธศาสตร์เดิมที่วางไว้อย่างสิ้นเชิง ดังเช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนด “การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ” [20] เป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐที่ยึดหลัก “ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” ซึ่งหากอ่านในยุทธศาสตร์คงเข้าใจตรงกันว่า คงมีการกำหนดนโยบายเพื่อประชาชนและสร้างความมีส่วนร่วมกับประชาชนมากขึ้น แต่ทว่าที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นนโยบาย การตั้งคณะกรรมการ และมาตรการต่างๆ กลับเอื้อให้ข้าราชการมีส่วนร่วมมากกว่าประชาชน และไม่เน้นกระจายอำนาจ แต่กลับดึงอำนาจกลับคืนสู่ส่วนกลาง มากกว่าจะมุ่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเสมือนการขายฝันที่ไม่มีผลต่อการปฏิบัติ ยุทธศาสตร์นี้ เน้นความเห็นชอบจาก คสช. ที่มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่มิได้มีส่วนร่วม

(6) การเรียกร้องให้มีการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงมีประชาชนจำนวนมากออกมาขานรับข้อเสนอดังกล่าว อย่างน้อยก็เป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนว่า ประชาชนยังคงเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนเผด็จการ และไม่ต้องการมรดกใดๆ จากระบอบเผด็จการไว้ดูต่างหน้าเพื่อตอกย้ำอดีตที่อัปยศอีก

ข้อสังเกตของคนท้องถิ่นในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

(1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นแผนระยะยาวที่ชี้ทิศชี้ทาง ป้องกันความสับสนในการพัฒนา บอกความปรารถนาของชาติที่จะเป็นที่จะพัฒนาในช่วง 20 ปี คงมิใช่แผนโกหก (goal 6) [21] ภายใต้บริบทไทยควรทบทวนให้บ่อยไม่สมควรยกเลิกทั้งฉบับ หาไม่แล้วการพัฒนาประเทศอาจขาดทิศทางเหมือน 80 ปีที่ผ่านมา

(2) มองมุมกลับสมควรยกเลิก ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ไว้เพียง 10 ปีก็เพียงพอแล้ว เพราะเป็นยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่ถูกกำหนดขึ้นไว้ภายใต้ “รัฐบาลอำนาจนิยม” คสช. จุดอ่อนประการสำคัญก็คือ เป็นการริเริ่มจัดทำโดยภาคราชการ การพัฒนาอาจดีขึ้นหากไม่มีการควบคุมทิศทางในรายละเอียดไว้ เพียงเพื่อให้รัฐบาลเดินทางถูกดีกว่าการเสริมแรงม้าให้สูง การกำหนดอนาคตชาติดังกล่าวจึงไม่สง่างาม ขาดความชอบธรรมไม่เป็นประชาธิปไตย ในเรื่อง “ความชอบธรรม” [22] (Legitimacy & Legality & The Rule of Law) ซึ่งปัจจุบันคำว่า “ความเป็นธรรม” (Equity or Fair) จะมีแนวโน้มในความหมายเดียวกับคำว่า “ความยุติธรรม” (Justice)

 (3) ยกตัวอย่างยุทธศาสตร์เพื่อให้เห็นภาพ แม่ค้าในตลาด คิดเพียงวันนี้ เดือนนี้ หจก.คิดเพิ่มมาอีกคือแผนปี บริษัทคิดแผนระยะยาว 5 ปี 10 ปี แต่เดิมแผนชาติ คิดไม่ต่างจาก แม่ค้าเขียงหมูในตลาด ทำให้ประเทศพัฒนาแบบไร้ทิศไร้ทาง การพัฒนาขึ้นอยู่กับนักการเมือง มีรัฐบาลแต่ละชุดก็เปลี่ยนนโยบายไปเรื่อย แทบจะตรงข้ามกันหมดกับรัฐบาลชุดก่อน สภาพัฒน์วางแผนระยะยาวไว้ ก็แทรกแซงมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของแผน ไม่ปฏิบัติตามแผน มีการเปลี่ยนแนวทางแผนไปเรื่อยๆ ประเทศจึงไปไม่ถึงไหน

(4) คุณประโยชน์และโทษมีอยู่ในสองมิติ พิมพ์เขียว (Blue Print) เป็นแผนระยะยาวต้องไม่ลงรายละเอียดมาก ไม่ผูกขาด (Monopoly & Absolutely) เพราะประชาคมโลกตามไม่ทันสังคม Disruptive โลกโซเชียล โลกยุคแห่งข่าวสาร (Unlimited Information) ออนไลน์ที่ไร้ขีดจำกัดมันถึงทั่วกันหมดไปทั่วโลกในพริบตา เรียกว่าเป็น Globalization & New world orders เหมือนๆ กันหมดในทุกซอกมุมโลก โลกดิจิตอลอาจหายไปได้ หากควอนตั้มมาถึง [23]

(5) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มีรายละเอียด ผูกขาด อาจไม่เหมาะสม จึง “ควรยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ควรกำหนดช่วงเวลาการพัฒนาใหม่ เช่น ช่วง 10 ปี หรือมีระยะเวลาการปรับยุทธศาสตร์ในระยะ 2-3 ปี มิใช่ 5-10 ปี การกำหนดห้วงระยะเวลาไว้ยาวนาน มันหมายถึงการก้าวข้ามพ้นช่วงวัย (Generation) ของคนบางกลุ่มบางรุ่นไปเลยทีเดียว อาจเกิด “Lost Generation” [24] คือ การพัฒนาต่างๆ หยุดชะงักไปนานหลายปี มันข้ามพ้นช่วงช่วงวัยทำงานที่ดีที่สุดของคน (20-30 ปีในแต่ละช่วง Generation) จึงไม่สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่เป็นที่พอใจของ “คนรุ่นใหม่” (Younger Generation : Gen Y Gen Z) เพราะแผนต้องมีการเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โลกตลอดเวลา

(6) หากยุทธศาสตร์เป็นเพียงการเน้นพิธีกรรม และการประชุมจะไม่สะท้อน แก้ปัญหาใด ไม่เน้นการมีส่วนร่วมและความสำเร็จของประชาชนในส่วนรวม คือเผด็จการอย่างสำคัญ ความเพ้อฝัน ระบบขับเคลื่อนให้เป็นจริงทำไม่ได้ กลไกรัฐพิกลพิการ กลวงใน ไม่สะท้อนความเป็นจริง สร้างกรอบบังคับไว้เป็นเพียงเชิงวิชาการฝันเฟื่องลมๆ แล้งๆ ต้องเอาบริบทหรือสภาพความเป็นจริงของสังคม มาตั้งเป็นโจทย์แก้ การเขียน ที่สำคัญสังคมไทยเป็น “รัฐราชการ” [25] ที่ราชการผูกขาดเป็นใหญ่แถมเป็น “ระบบอุปถัมภ์” [26] มีกรอบความคิดคิดแบบยึดติดมาก เอาแค่ความหมายว่า “การปกครองท้องถิ่นคืออะไร ใครต้องมีหน้าที่อะไร” ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจน แล้วประชาชนชาวบ้านจะรู้อะไรได้

หวังว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคงมิใช่ การวาดวิมานในฝัน ที่ขับเคลื่อนเป็นจริงได้ยาก เพราะขาดพลัง ขาดคุณภาพ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แถมยังกำหนดไว้ไม่ตรงตามความต้องการของประชาชน และกระแสความผันผวนของโลกโซเซียล

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharapron Maneenuch & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 20 พฤศจิกายน 2563,

[2]มาตรา 65รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

การจัดทำ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วยยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

[3]มาตรา 275 ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีกฎหมายตามมาตรา 65 วรรคสอง ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ

[4]มาตรา 5 วรรคหนึ่ง“ให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันอันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบปี

[5]มาตรา 6ยุทธศาสตร์ชาติอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(1) วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ

(2) เป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว กำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมาย

(3) ยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ

เป้าหมายการพัฒนาประเทศตาม (2) อย่างน้อยต้องมีเป้าหมายในด้านความมั่นคงของประเทศด้านคุณภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน และด้านบทบาทของรัฐที่มีต่อประชาชน

[6]มาตรา 28ในวาระเริ่มแรก เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญ ให้การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปตามกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้

... (4) ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 จัดทำขึ้นมาใช้เป็นหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นดังกล่าว และให้นำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง มาประกอบการพิจารณา รวมทั้งให้คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับตาม (3) ด้วย...

[7]ประกาศเรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2561, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 82 ก ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13 ตุลาคม 2561, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/082/T_0001.PDF

[8]คำว่านโยบาย “ Populism” หรือ “ประชานิยม” เป็นภาษาเขียนครั้งแรกในบทความที่เขียนโดยเกษียร เตชะพีระ ที่ลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2544

สถาบันพระปกเกล้านิยามว่า ประชานิยม (Populist)หมายถึง การบริหารงานที่มุ่งมีจุดหมายให้ได้รับความนิยมจากประชาชนเพื่อสนับสนุนการดำรงอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองของผู้นำการเมือง หรืออาจหมายถึงเครื่องมือทางการเมืองของรัฐในการทำให้เกิดความชอบธรรมทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยมีการกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการที่ไปตรงกับความต้องการของประชาชน :

อเนก เหล่าธรรมทัศน์(2549) กล่าวว่า ประชานิยมคือ การให้ความสำคัญหรือให้คุณค่าแก่ประชาชน คือการเมืองที่ให้คุณค่าแก่ประชาชนโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปหรือชนชั้นล่าง การเมืองที่เห็นความสำคัญของประชาชนทั่วไปจึงเป็นประชานิยมเสมอ (อเนก จำแนกออกเป็น 5 ความหมาย)

อนุสรณ์ ธรรมใจ(2558) กล่าวว่า นโยบายประชานิยมหรืออาจใช้ชื่อเรียกอย่างอื่นๆ มักถูกออกแบบมาในลักษณะของการนำเงินของรัฐ (ภาษีประชาชน) ไปใช้เพื่อแลกกับความนิยม คะแนนเสียง สร้างความพอใจ และสร้างทัศนคติให้ประชาชนเป็นผู้รอรับความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว ประชาชนมีฐานะเป็นเพียง “Subject” หรือ “ผู้ถูกอุปถัมภ์” ของ “ผู้ปกครอง” ไม่ใช่ “พลเมือง (Citizen)” แยกเป็น 4 นิยาม คือ (1) ประชานิยม หมายถึง การให้ความสำคัญหรือให้คุณค่ากับประชาชน (2) ประชานิยม หมายถึง แนวทางในการพัฒนา เป็นแนวทางการพัฒนาที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในประเทศแถบตะวันออก (3) ประชานิยม หมายถึง ประชานิยมในประเทศตะวันตก เช่น รัสเซีย และ สหรัฐอเมริกา (4) ประชานิยม หมายถึง ประชานิยมในประเทศละตินอเมริกา ซึ่งประชานิยมที่นำมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เป็น ประชานิยมตามความหมายของประชานิยมในละตินอเมริกา มีข้อมูลว่า ในสมัยที่นางสาว ยิ่งลักษณ์ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีการนำนโยบายประชานิยมมาใช้ในจำนวน 8 โครงการสำคัญ โดยได้มีการใช้งบประมาณดำเนินโครงการเหล่านี้จำนวนกว่า 827,178.85 ล้านบาท

ชาญชัย คุ้มปัญญา(2559) กล่าวว่า ในแวดวงวิชาการอภิปรายกันมากว่านิยามหรือความหมาย “ประชานิยม” (Populism) คืออะไร Yoram Peri เห็นว่าประชานิยมเป็นแนวคิดที่คลุมเครือ หลายความหมาย ยากจะอธิบายชี้ชัด เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา (chameleon-like) หลายครั้งเป็นการอธิบายตีความจากเหตุการณ์เฉพาะ

โดยสรุปแล้ว “ประชานิยม” คือ การเคลื่อนไหวทางการเมือง พยายามดึงประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วม เพื่อต่อต้านระบอบเก่า อาจเป็นระบอบการเมือง สังคม เศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศบางเรื่อง โลกาภิวัตน์ ขึ้นกับว่าอะไรคือสาเหตุแห่งความทุกข์ยาก มักเกิดขึ้นในภาวะที่ประชาชนไม่พอใจอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ โทษว่าเป็นความผิดของชนชั้นนำ ประชานิยมไม่นับเป็นลัทธิหรือแนวคิดทางการเมือง เป็นเพียงแนวทางหรือกลยุทธ์เคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยการพยายามได้ใจประชาชน ประกาศว่าทำตามความต้องการของประชาชน โดย Tjitske Akkerman แบ่งประชานิยมเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประชาเกษตรนิยม (agrarian populism) ประชาเศรษฐกิจนิยม (economic populism) ประชาการเมืองนิยม (political populism)

ดู อเนก เหล่าธรรมทัศน์, ทักษิณา-ประชานิยม, กรุงเทพฯ: มติชน, 2549

& ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, ประชารัฐ ประชานิยม และรัฐสวัสดิการ (1), พลวัตเศรษฐกิจ bangkokbiznews, 9 ตุลาคม 2558, https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635795& ประชารัฐ ประชานิยม และรัฐสวัสดิการ (2), พลวัตเศรษฐกิจ bangkokbiznews, 12 ตุลาคม 2558, https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635821

& สาระสังเขปประเด็นการปฏิรูปประเทศไทยด้านนโยบายประชานิยมที่จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะและการเพิ่มบทบัญญัติต่อความรับผิดชอบในโครงการประชานิยม, สำนักวิชาการ และสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2558, https://library2.parliament.go.th/giventake/content_nrcinf/nrc2557-issue13-abst01.pdf

& ชาญชัย คุ้มปัญญา, ความหมายและต้นเหตุ “ประชานิยม” (Populism), 19 กุมภาพันธ์ 2559, ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7408 วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.chanchaivision.com/2017/02/Populism-Definition-170219.html

& Populism : ประชานิยม ความรู้ฉบับพกพา โดย Cas Mudde และ Cristobal Rovira Kaltwasser เขียน, เกษียร เตชะพีระ แปล, สำนักพิมพ์ BookScape, 2018

& ประชานิยมเหมือนยาพิษสำหรับเสรีนิยมทั่วโลก, voicetv, 12 กุมภาพันธ์ 2561, https://voicetv.co.th/read/r15IjlJDf

[9]มาตรา 35คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย

... (7) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว ...

ดู รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 หน้า 1-17, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/055/1.PDF

& รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 64 ก วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 หน้า 1-7, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/064/1.PDF

[10]ดู ‘ทรัมป์’อันตราย: บทเรียนจาก‘นักประชานิยม’ทั้งอดีตและปัจจุบัน โดย: อัลเฟรด ดับเบิลยู แมคคอย, ผู้จัดการออนไลน์, 20 เมษายน 2560, https://mgronline.com/around/detail/9600000040160  

[11]ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประชานิยมได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางในการเมืองยุโรป ในปัจจุบัน พรรคการเมืองแนวประชานิยมเข้าไปอยู่ในรัฐสภาของประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมทั้งรัฐสภาของสหภาพยุโรปเองด้วย โดยมีหกประเทศที่พรรคการเมืองแนวประชานิยมครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ได้แก่ กรีก ฮังการี อิตาลี โปแลนด์ สโลวาเกีย และสวิตเซอร์แลนด์ โดยเฉพาะในฮังการี พรรคแกนนำรัฐบาล (Fidesz) และพรรคแกนนำฝ่ายค้าน (Jobbik) ต่างเป็นพรรคแนวประชานิยม ในประเทศอื่นๆ เช่น ฟินแลนด์ ลิทัวเนียและนอร์เวย์ พรรคการเมืองแนวประชานิยมร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม

ความเปลี่ยนแปลงในอังกฤษ อิตาลี และเยอรมนี จนอาจส่งผลต่อชะตากรรมของอียู และทำให้นักลงทุนทั่วโลกหวั่นไหว ล้วนมีสาเหตุมาจากประชาชนรู้สึกมีความเป็นชาตินิยมสูง และเห็นว่าประเทศตัวเองเสียเปรียบจากการต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู ประกอบกับได้แรงบันดาลใจจาก โดนัลด์ ทรัมป์ นักชาตินิยมและประชานิยมที่ชนะการเลือกตั้งด้วยสโลแกน “อเมริกาต้องมาก่อน”

ดู ประชานิยมในยุโรป: อเสรีนิยม VS เสรีนิยม(ใหม่)ที่ไร้ประชาธิปไตย, โดย Jittipat Poonkham, the101.world, 31 มีนาคม 2560, https://www.the101.world/populism-in-europe/ 

& ประชานิยม-ชาตินิยม “ภัยคุกคาม” สหภาพยุโรป, ประชาชาติธุรกิจ prachachat, 5 พฤศจิกายน 2561, https://www.prachachat.net/world-news/news-245261

& State of Populism in Europe 2020, progressivepost, FEPS – Foundation for European Progressive Studies,  March 2020, https://progressivepost.eu/wp-content/uploads/State-of-Populism-in-Europe-2020.pdf 

[12]Disruptive Technology คือ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เข้ามาสร้างตลาดและมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี จนทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและทำให้ผลิตภัณฑ์เดิมถูก Disrupt ไป โดยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านของคุณภาพ ประสิทธิภาพด้านการผลิต การขาย ต้นทุนของผลิตภัณฑ์นั้นๆ หรือแม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการผลิตจากรูปแบบเดิม ให้มีการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า ตรวจนับสินค้า การเก็บข้อมูลเอาไว้ในระบบคลาวด์แทนการเก็บเป็นเอกสาร เป็นต้น

ดู Disruptive technology คือ, Lifestyle, 29 พฤษภาคม 2563, https://www.yournextu.com/th/บล็อก/disruptive-technology#:~:text=Disruptive%20Technology%20คือ%20เทคโนโลยีหรือ,การผลิตจากรูปแบบ

[13]จุฬณี ตันติกุลานันท์, มาเลเซียกับการเป็นศูนย์กลางการเงินโลกอิสลาม (Malaysia and Global Islamic Financial Hub), บทความนี้มาจากงานวิจัย เรื่อง มาเลเซียกับการเป็นศูนย์กลางการเงินโลกอิสลาม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ทุนสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ปี 2560, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ Assistant Professor, College of Interdisciplinary Studies, Thammasat University, Article history: Received 9 April 2019, Revised 26 April 2019, Accepted 7 May 2019 ใน วารสารสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 22 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562), http://202.28.62.114/index.php/JOS/article/download/12082/10032

[14]Japan Vision 2050 : Principles of Strategic Science and Technology Policy Toward 2020, April 2005, Science Council of Japan, http://www.scj.go.jp/en/vision2050.pdf 

[15]TOWARDS A SUSTAINABLE AND RESILIENT SINGAPORE : Singapore’s Voluntary National Review Report to the 2018 UN High Level Political Forum on Sustainable Development, https://sustainabledevelopment.un.org/content/documents/19439Singapores_Voluntary_National_Review_Report_v2.pdf

[16]Vision 2025, Korea's Long-term Plan for Science and Technology Development : Dream, Opportunity and Challenge of S&T toward the year 2025, http://unpan1.un.org/intradoc/groups/public/documents/APCITY/UNPAN008040.pdf

[17]ดู 'วิษณุ-กอบศักดิ์' แจงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, ฐานเศรษฐกิจ, 15 มิถุนายน 2561, https://www.thansettakij.com/content/290164  & ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย, เวบ pantip, 15 ตุลาคม 2561, https://pantip.com/topic/38162949/desktop 

[18]ไม่ใช่แค่ไทย ประเทศอื่นก็มียุทธศาสตร์ชาติ ส่องยุทธศาสตร์ชาติเด่น 5 ประเทศ โดย คมปทิต สกุลหวง, thestandard, 19 มิถุนายน 2561, https://thestandard.co/5-national-strategys/

[19]บรรยง พงษ์พานิช: แผนยุทธศาสตร์ชาติ 1 คบไฟนำทางหรือโซ่ตรวนล่ามชาติ, ประชาไท, 4 กันยายน 2560,  https://prachatai.com/journal/2017/09/73086

[20]ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580, ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ, http://dcy.go.th/webnew/ebook/Memorial/ยุทธศาสตร์ชาติ20ปีพ.ศ.2561-2580/files/basic-html/page19.html

& ประกาศเรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2561, ราชกิจจานุเบกษา, อ้างแล้ว

[21]ยุทธศาสตร์ชาติ : กรอบการพัฒนาระยะยาว เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์

“ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุขและตอบสนองตอบต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างรายได้ระดับสูงเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และสร้างความสุขของคนไทย สังคมมีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ “มั่นคง”

ยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน คือ

(1) ความมั่นคง (2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (3) การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม (5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (6) การปรับสมดุลดและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ดู

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อนาคตประเทศไทยเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดย ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, หลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 6 ปี 2559 วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2559, http://www.oic.or.th/sites/default/files/institute/course/85449/public/yuththsaastrchaati_20_pii_naakhtpraethsaithy_khpph_26_skh_59.pdf  

& ยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี : Sustainable Development Goals และแผนฯ 12 ของประเทศ โดย Harvard Asia Consulting Co., Ltd, http://www.phetchaburi.go.th/karn/yuttasath20.pdf  

[22]ความชอบธรรม”กับ“ความเป็นธรรม” “ความยุติธรรม” คืออะไร

ในรัฐศาสตร์ ความชอบธรรม (legitimacy) คือ การที่อำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายซึ่งใช้บังคับ หรือระบอบการปกครองนั้น ได้รับการยอมรับจากสาธารณชน ในรัฐประศาสนศาสตร์ ความชอบธรรม (legitimacy) ต้องมี 6 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ (1) ยึดหลักนิติธรรม (2) ยึดแนวทางนิติรัฐ (3) มีคุณธรรม (4) มีจริยธรรม (5) มีศีลธรรม และ (6) มีธรรมาภิบาล ส่วนในนิติศาสตร์นั้น "ความชอบธรรม" (legitimacy) ต่างจาก "ความชอบด้วยกฎหมาย" (legality)

ความยุติธรรมเป็นแนวคิดเกี่ยวกับความถูกต้องตามศีลธรรมบนพื้นฐานของจริยธรรม ความสมเหตุสมผล กฎหมาย กฎหมายธรรมชาติ ศาสนา ความเที่ยงธรรม (equity) และความเป็นธรรม (fairness) ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้และสิทธิโดยกำเนิดของมนุษยชาติและพลเมืองทั้งหลาย กับสิทธิของปวงชนและเอกชนที่จะได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมายซึ่งว่าด้วยสิทธิพลเมืองของพวกเขาเหล่านั้น

: วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

[23]คอมพิวเตอร์ควอนตัม: นวัตกรรมสุดล้ำที่จะพลิกโฉมธุรกิจและสังคมทศวรรษหน้า, thep-center, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 5 พฤศจิกายน 2562, http://thep-center.org/src2/views/industrial.php?article_id=35

& ดู Fritjof Capra, The Tao of Physics (เต๋าแห่งฟิสิกส์), WILDWOOD HOUSE , LONDON, 1975, ฟริตจอฟ คาปร้า เขียน วเนช แปล,  The Tao of Physics, Wikipedia, the free encyclopedia, https://en.wikipedia.org/wiki/The_Tao_of_Physics 

[24]Lost Generation หรือคนรุ่นที่หลงทางสาบสูญ เป็นคำเรียกผู้ที่เกิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (ประมาณ 1883- 1900) และเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ในที่นี้ อาจใช้คำศัพท์ง่ายๆ แทนว่า คือ “คนที่ตกรุ่นตกยุคไปเลย” ดู บรรยง พงษ์พานิช: แผนยุทธศาสตร์ชาติ 1 คบไฟนำทางหรือโซ่ตรวนล่ามชาติ, 4 กันยายน 2560, อ้างแล้ว

[25]รัฐราชการ หรือBureaucratic Polity หมายถึง อมาตยาธิปไตย อำมาตยาธิปไตย หรือ ระบบข้าราชการประจำ (bureaucracy; bureaucratic polity) เป็นการปกครองซึ่งมีขุนนางหรือข้าราชการเป็นใหญ่ ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คนไทยบางกลุ่มแปลความหมายของคำนี้ผิดไปจากความหมายโดยตรงว่า เป็นการปกครองที่อำมาตย์มีอำนาจในการบริหารประเทศ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

[26]ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) หรือ Patron and Clients System คือมี“ผู้อุปถัมภ์” (patron) และมีผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่าหรือเป็น “ผู้รับอุปถัมภ์” (client) เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ซึ่งการอุปถัมภ์ ในความหมายโดยทั่วไป คือ การค้ำจุน การค้ำชู การสนับสนุน การเลี้ยงดู  ในทางการเมืองซึ่งใช้คำว่า ระบบอุปถัมภ์ หมายถึง การได้รับสิทธิพิเศษจากผู้ใหญ่หรือญาติมิตรของตน เป็นระบบที่ตรงกันข้ามกับระบบความชอบธรรมซึ่งนิยมใช้เป็นหลักในปัจจุบัน : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท