พัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ



ระบบสุขภาพไทยได้รับความชื่นชมไปทั่วโลก จากเหตุการณ์โควิด ๑๙ ระบาด    ความเข้มแข็งเชิงระบบนี้ มีความซับซ้อนมาก    อธิบายยาก เพราะมีสารพัดองค์ประกอบ    เรื่องความเข้มแข็งของระบบใดๆ ก็ตาม    ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือคุณภาพคน   

การศึกษาของบุคลากรสุขภาพในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับว่าคุณภาพได้มาตรฐานโลก    แต่เรื่องคุณภาพคนนี้ เป็นเรื่องซับซ้อนและเป็นพลวัต    ต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง

เมื่อ ๑๐ ปีมาแล้ว ในปี ค.ศ. 2010 มีการประกาศรายงานของคณะกรรมาธิการอิสระเรื่องการศึกษาของบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑ (๑)   ที่แนะนำว่า การศึกษาของบุคลากรสุขภาพต้องเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพของประเทศนั้นๆ    ที่เรียกว่า Systems – Based  Health Professional Education    ไม่ใช่เป็นเพียง Science – Based HPE อย่างที่ทำกันมาหนึ่งศตวรรษ เท่านั้น   

ปลายปี ๒๕๕๓ มีการประชุม 5thAAAH ที่บาหลี (๒)    ตอนรอขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพ คุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ มาบอกผมว่า Prof. Lincoln Chen ประธาน CMB มาปรารภว่าอยากให้ประเทศไทยเป็น hub ของการเปลี่ยนโฉมการศึกษาของบุคลากรสุขภาพในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้    ขอให้คุณหมอสุวิทย์ช่วยสร้างกลไกจัดการ    ทาง CMB  จะให้เงินเริ่มต้นก้อนหนึ่งประมาณ ๑๐ ล้านบาท    คุณหมอสุวิทย์บอกผมว่าตนได้ตอบปฏิเสธไป  เพราะ “เล่นกับคนมหาวิทยาลัยยาก”   

ผมบอกหมอสุวิทย์ว่า นี่คืออนาคตของระบบสุขภาพไทย    ถึงจะยากเราก็ต้องช่วยกันทำ     โดยหาคนมาเป็นแกนนำขับเคลื่อน    แล้วก็คิดหาคนกันเดี๋ยวนั้น  ได้ ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข.    กับ ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว อาจารย์ภาควิชาจักษุวิทยา ศิริราช ที่ตอนนั้นไปเข้าหลักสูตร คศน. และมี นพ. สุวิทย์ เป็น mentor    มาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ    จนในที่สุดกลายเป็นมูลนิธิ ศสชภายใต้การบริหารของ ศ. พญ. วณิชา (อ. วิม)    ทำหน้าที่ประสานงานคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑   และทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง    ตามที่ผมเล่าไว้ต่อเนื่องมาหลายปี ที่นี่

วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ มีการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑  และคณะกรรมการกำกับทิศทาง โครงการพัฒนากลไกการจัดการและขับเคลื่อนเครือข่ายภายใต้แนวคิดการพัฒนาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑    ซึ่งแม้ว่ากรรมการจะมาประชุมน้อย    แต่การประชุมก็มีพลังมาก    เพราะเป็นเวทีเดียวที่ราชวิทยาลัย และวิทยาลัยวิชาชีพสุขภาพทุกวิชาชีพ มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนการพัฒนาของแต่ละวิชาชีพในภาพใหญ่    โดยในการประชุมนี้คราวนี้มีผู้แทนของ WHO มาร่วมด้วย    คราวก่อนๆ เคยมีผู้แทน JICA มาร่วมด้วย  

เรื่องใหญ่ที่สุดของการประชุมครั้งนี้คือการเผชิญโควิด ๑๙   สู่ความท้าทายของการผลิตบัณฑิตให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน    การได้แลกเปลี่ยนวิธีการข้ามวิชาชีพ และมองภาพใหญ่ร่วมกัน ให้ประโยชน์มาก   

เครือข่ายนี้ได้ร่วมกันจัด การประชุม การพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับบุคลากรสุขภาพ เป็นประจำทุกปี    ของปี ๒๕๖๒ เป็นครั้งที่ ๖ (๓)    โดยที่การประชุมครั้งที่ ๕ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ  เสด็จเปิดและพระราชทานปาฐกถานำด้วย (๔)     การประชุมของปี ๒๕๖๓ ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากสถานการณ์โควิด    โดยในวันนี้เราตกลงกันว่าจะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔  

กลไกของคุณภาพ ของบุคลากรสุขภาพเป็นเรื่องซับซ้อนมาก    พื้นที่การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ    และการประชุมวิชาการประจำปี เป็นกลไกสร้างพลังแนวราบหรือพลังเครือข่าย    ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ    อาจกล่าวได้ว่ามีอำนาจของการเรียนรู้ระหว่างกันเป็นพลัง     ผมเชื่อว่า ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองมากทีเดียว     แต่เป็นงานปิดทองหลังพระ

วิจารณ์ พานิช

๑ ต.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 687064เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2020 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2020 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I applaud efforts on “งานขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง” and wish that other fields of profession would do the same. Especially in the Public Service areas.

Striving for Excellence in all professions would no doubt benefit the world and the practitioners themselves.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท