ชีวิตที่พอเพียง 3809. เล่าไว้ในวัยสนธยา 27. โชคดีที่ผู้ใหญ่ไม่ชม



ชีวิตคนเราเต็มไปด้วยปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้    จึงมีคนยกให้เป็นเรื่องของโชคชะตา    ชีวิตของผมก็เช่นเดียวกัน    ที่แม้เกิดมาเป็นเด็กบ้านนอกฐานะปานกลาง    ก็มีบุญได้มีชีวิตยามชราที่สุขสบายถึงขนาดนี้    ซึ่งเมื่อคิดย้อนหลังก็บอกตัวเองว่า มีหลากหลายปัจจัยช่วยเกื้อหนุน

ปัจจัยหนึ่งคือ พ่อแม่เลี้ยงดูดี    และวิธีหนึ่งคือ ไม่ชมลูก    ชาวบ้านพูดกันว่า หากชม เด็กจะเหลิง    ผมจึงถูกเลี้ยงดูมาในลักษณะระมัดระวังไม่ให้เหลิง     

มาถึงสมัยนี้ นี่คือวิธีเลี้ยงเด็กให้มี Growth Mindset   หรือป้องกันไม่ให้เกิด Fixed Mindset    คือคิดว่าตัวเองเก่ง    ที่จริงตอนนั้นผู้ใหญ่เขาไม่ได้ยุให้มานะพยายาม    แต่บ้านผมเน้นเรื่องฝึกความเป็นคนขยัน ไม่ขี้เกียจ ไม่ท้อถอยง่าย   

จำได้ว่า ผมโดนบิดาตำหนิความไม่มีไหวพริบบ่อยๆ    เพราะทำงานได้ผลออกมาไม่ดีเท่าที่ควร    เมื่อโดนซักไซ้ก็ตระหนักว่าตนเองคิดไม่รอบคอบ ไม่กว้างไกล    โดนตำหนิก็ควรแล้ว    และทำให้ผมยกย่องบูชาบิดา  และตั้งข้อสงสัยว่า ตนเองจะเป็นอภิชาตบุตร (ดีกว่าพ่อแม่) หรืออวชาตบุตร (เลวกว่าพ่อแม่)

มาสมัยนี้ อธิบายได้ว่า เด็กชายวิจารณ์รู้จักทำ benchmarking ตั้งแต่เด็กๆ    หรือรู้จักสร้างความคาดหวังสูง (high expectation) ให้แก่ตนเอง    ซึ่งถูกต้องตามหลักการศึกษาในปัจจุบัน     

นักเรียนทุกคนมี “สมุดพก” ที่ครูใช้รายงานผลการเรียน และรายงานความประพฤติให้ผู้ปกครอง และผู้ปกครองเขียนความเห็นลงในช่องความเห็นของผู้ปกครอง    ส่งกลับมาให้ครู    ในช่องสติปัญญา ครูเขียนว่า ปานกลาง    พ่อผมก็เขียนว่า ปานกลาง    เรื่อยมาตั้งแต่  ม. ๑ ถึงราวๆ ม. ๔    พอขึ้น ม. ๕ ครูเขียนว่า ค่อนข้างฉลาด    พ่อผมก็เขียนตามว่า ค่อนข้างฉลาด    ผมไม่เคยขอดูของเพื่อนว่ามีใครบ้างที่ครูเขียนว่าฉลาด    โชคดีที่ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองฉลาด    มุ่งแต่จะเรียนให้ได้ดี ทำงานให้ได้ผลดี

เมื่อมาเรียนที่กรุงเทพ  ก็เป็นที่เลื่องลือว่าผมเรียนหนังสือเก่ง และขยัน    โชคดีที่ในสมองผมมีแต่คำถามว่า ทำอย่างไรจะเรียนได้ดีกว่านี้    เพราะมองไปก็เห็นแต่ช่องทางที่จะปรับปรุงตัวเองได้    เพื่อนๆ จึงว่าผมถ่อมตัว    ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้แกล้งถ่อมตัว แต่เห็นจริงๆ ว่า ตนเองยังทำไม่ได้ดีเท่าที่หวัง   

ตอนนั้นการสอบชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ ๒ เป็นการสอบด้วยข้อสอบเดียวกันทั่วประเทศ    และมีการประกาศชื่อนักเรียนที่สอบได้ ๕๐ อันดับแรกด้วย    เรียกว่า ติดบอร์ด    ในปีการศึกษา ๒๕๐๒ ซึ่งประกาศราวๆ เดือนมีนาคม ๒๕๐๓ ผมสอบได้ที่ ๑ ของประเทศ    โด่งดังมาก  มีหนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์ด้วย    เมื่อสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผมก็ได้ที่ ๑   และสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผมก็ได้ที่ ๑ คู่กับอีกคนหนึ่ง    แต่ผมจงใจไม่ไปสัมภาษณ์เพื่อให้โอกาสคนอื่นได้เข้าเรียน    เพราะผมตั้งใจเข้าเรียนที่จุฬาฯ   

แปลกมาก ที่ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง    เพราะเห็นข้อบกพร่องของตนเองที่จะต้องปรับปรุงเต็มไปหมด    โดยเฉพาะด้านสังคม ด้านกีฬา และความกล้า ซึ่งผมเป็นคนไม่เอาไหน    ผมถามตัวเองอยู่เสมอว่า ตนเองเป็นคนที่เก่งแต่เรียนเท่านั้นหรือเปล่า    ตอนทำงานจะสามารถทำงานได้ดีจริงหรือเปล่า   

ที่สำคัญ ผมเฝ้ามองความเก่งของเพื่อนๆ แต่ละด้าน    ผมไม่มองตัวอย่างคนที่เล่นกีฬาเก่ง เพราะรู้ว่าตัวเองไม่เอาไหน    ผมไม่มองคนที่พูดเก่ง เพราะรู้ว่าตัวเองไม่เอาดีทางนั้น    ผมไม่มองคนที่สังคมเก่ง เพราะรู้ว่าตัวเองไม่ถนัด    ผมเฝ้ามองคนที่คิดเก่ง  คิดนอกกรอบ  คิดทำการงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  คนที่มีความละเอียดรอบคอบประณีตบรรจง    และตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรเราจะเก่งอย่างเขาบ้าง     

มาสะท้อนคิดตอนนี้  ตีความว่าผมหมั่นฝึก metacognition ให้แก่ตนเอง    ทำไปนานๆ เข้าก็ติดเป็นนิสัย ในการประเมินและพัฒนาตนเองต่อเนื่อง    และเชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาตัวเองได้    นั่นคือ ผมพัฒนา Growth Mindset ใส่ตัวโดยไม่รู้ตัว

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 684612เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2020 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2020 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท