ผู้นำท้องถิ่นอีสานเปิดเวทีถก 6 ประเด็นปัญหาชุมชน เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง


คุณลักษณะของผู้นำท้องถิ่นด้วย ว่าต้องเป็นคนที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน


เวทีสุดยอดผู้นำท้องถิ่นภาคอีสานคึกคัก ระดมสมองหาทางออก 6 ประเด็นหลัก ผู้สูงอายุ, กลุ่มเปราะบาง, สุขภาพชุมชน, ชุมชนสีเขียว, เศรษฐกิจชุมชน และ สังคมสวัสดิการ ระบุผู้นำท้องถิ่นต้องซื่อสัตย์ ทำงานได้กับทุกฝ่าย

จากการที่เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัด เวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ : ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น (KICE) อ.เมือง จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 16-17 กันยายน 2563 นั้น ได้มีการระดมความคิดเห็นในหลายประเด็นด้วยกัน

นางธัญญา แสงอุบล ผู้จัดการศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีผู้นำชุมชนท้องถิ่นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมกว่า 900 คน จาก 152 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้มีการระดมความคิดพร้อมมีข้อเสนอใน 6 ประเด็น คือ 1) การรับมือต่อสถานการณ์ผู้สูงอายุ 2) การดูแลกลุ่มเปราะบาง 3) การจัดการสุขภาพชุมชน (ลดเหล้า ลดสูบ ควบคุมโรคติดต่อ) 4) ชุมชนสีเขียว 5) จัดการเศรษฐกิจชุมชน และ 6) สังคมสวัสดิการ (ช่วยเหลือเกื้อกูล)

ประเด็นว่าด้วยการรับมือต่อสถานการณ์ผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชนท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบจัดการข้อมูลของผู้เตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุและผู้สูงอายุ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์สำหรับจัดทำแผนรองรับสังคมสูงอายุ โดยเสนอให้มีการพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยง ทุนทางสังคมในพื้นที่ ทั้งระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ให้เครือข่ายภาคอีสานมีการเสริมสร้างสุขภาวะผู้สูงอายุที่ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมจัดสรรงบประมาณและส่งเสริมอาชีพตามศักยภาพของผู้สูงอายุ

ส่วนการดูแลกลุ่มเปราะบางท้องถิ่นต้องจัดทำข้อมูลและนำใช้ข้อมูลในการจัดทำแผนของหมู่บ้าน ชุมชน และแผนพัฒนาท้องถิ่นในการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งในกรณีปกติ ฉุกเฉินและภัยพิบัติ โดยเสนอให้ทุกตำบลในเครือข่ายภาคอีสานมีกองทุนและจัดสวัสดิการในการดูแลกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับให้มีการจัดการความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดูแลกลุ่มเปราะบางทั้งในระดับเครือข่ายและระดับชาติ ส่วนการจัดการสุขภาพชุมชน (ลดเหล้า ลดสูบ ควบคุมโรคติดต่อ) นั้น ต้องสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน แล้วกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ก่อนจะจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม เพิ่มทักษะ และสร้างการเรียนรู้

ขณะที่ประเด็น ชุมชนสีเขียว ได้มีการกระตุ้นให้ชุมชนสร้างคนต้นแบบ ผู้นำรุ่นใหม่ มีจิตอาสา เพื่อสร้างชุมชนสีเขียว พร้อมกับจัดทำข้อมูล ข้อตกลง กฎ กติกา และนโยบาย เพื่อกำหนดเป้าหมายในการดูแลและแผนพัฒนาชุมชนสีเขียว โดยการเสนอให้จัดทำการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและความต้องการร่วมกับหน่วยงานและสถาบันวิชาการเพื่อพัฒนาชุมชนสีเขียวด้วย ส่วนประเด็นสังคมสวัสดิการ ได้มีการเสนอให้เครือข่ายภาคอีสานพัฒนาศักยภาพ สร้างแหล่งเรียนรู้ และศึกษาดูงาน ร่วมกันยกระดับการทำงานเป็นสมาคมช่วยเหลือเกื้อกูลชุมชน จัดให้มีการบริหารจัดการที่ชัดเจน

ส่วนประเด็นสำคัญว่าการจัดการเศรษฐกิจชุมชนนั้น ชุมชนต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการจัดการเศรษฐกิจชุมชน เช่น การผลิตและการจำหน่ายสินค้า การออม การฝึกทักษะอาชีพ ร่วมกับส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือน ให้มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพ และพัฒนาทักษะอาชีพตามบริบทท้องถิ่น โดยเสนอให้เครือข่ายภาคอีสานจัดตั้งเครือข่ายกลุ่มอาชีพ สร้างกลุ่มอาชีพต้นแบบ เพื่อยกระดับมาตรฐานอาชีพและผลิตภัณฑ์ พร้อมกับให้มีตลาดเครือข่ายผลิตภัณฑ์สินค้าภาคอีสาน เพื่อกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคอื่นและตลาดต่างชาติ

นอกจากนี้เวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนอ ยังระบุคุณลักษณะของผู้นำท้องถิ่นด้วย ว่าต้องเป็นคนที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์เพื่อนำพาชุมชนท้องถิ่นไปสู่ความเข้มแข็งและน่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ทุกพื้นที่ประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายประการ ตนจึงอยากเห็นภาคีเครือข่ายเตรียมการรับมือในเรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.รับมือสังคมสูงวัย ด้วยการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มพลังของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น 2.การกระตุ้นให้กองทุนชุมชนเข้ามาทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนในการสร้างงาน พัฒนาอาชีพ ให้กับครอบครัวในชุมชน 3.พัฒนากลไก ในการดูแลและเกื้อกูลให้กลุ่มเปราะบางในชุมชน ได้รับสิทธิประโยชน์และเข้าถึงโอกาสในการดำรงชีวิตพื้นฐานได้อย่างมีความพอเพียง

ประการที่ 4 เชิญชวนและกระตุ้นผู้นำชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นคนต้นแบบ ครอบครัวต้นแบบ ในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลด ละ เลิก สิ่งที่ทำลายสุขภาพทุกประเภท 5.กระตุ้นให้ 4 องค์กรหลัก ร่วมกันกำหนดกลไก ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อเพื่อให้ชุมชนปลอดโรคติดต่อที่ส่งผลกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของทุกคน 6.ผู้นำชุมชนท้องถิ่นร่วมกันยกระดับการจัดสวัสดิการโดยชุมชน ให้ครอบคลุมในทุกมิติของความจำเป็นของคนในชุมชน

หมายเลขบันทึก: 683987เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท