ทต.ไทรย้อยชวนชุมชน “พาใจกลับบ้าน” พื้นฐานประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม


ใช้หลักประชาธิปไตยในการส่งเสริมให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมคิดออกแบบจัดการ เมื่อดิน น้ำ ป่า ได้รับการดูแล ส่งผลดีต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่นเดียวกับป่าที่สมบูรณ์ก็จะเป็นแหล่งอาหารให้ได้หยิบจับ เกิดเป็นความมั่นคงทางอาหาร นำมาซึ่งความมั่นคงทางชีวิตและสังคมต่อเนื่อง


ชุมชนเข้มแข็งและสังคมอุดมสุข จะเกิดได้เมื่อมีพลังของคนในชุมชน ร่วมคิดร่วมทำ เป็นเจ้าเข้าเจ้าของร่วมกัน โดยหน่วยงานท้องถิ่นและราชการในระบบมีหน้าที่เป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนเพียงเท่านั้น ซึ่งหลายชุมชนไปไม่ถึงอย่างที่วาดฝัน แต่ก็มีอีกไม่น้อยเช่นกัน ที่ก้าวถึงจุดมุ่งหมาย

เช่นที่ตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก โดยเทศบาลตำบลไทรย้อย ได้ให้ความใส่ใจและเอาปัญหาของชาวบ้านเป็นตัวตั้ง จากก็เข้าไปจัดการกับปัญหาโดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม

ปัญหาที่ว่านั้น คือมีชาวไทรย้อยถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ตรวจพบสารเคมีตกค้างในร่างกาย นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้ชาวไทรย้อยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เมื่อสารเคมีตกค้างในร่างกายล้วนมาจากพฤติกรรมการกิน เทศบาลตำบลไทรย้อย จึงต้องเข้าไปมาดูแลเรื่องสุขภาพอย่างเร่งด่วน

“พาใจกลับบ้าน” คือแนวคิดของการแก้ปัญหาในครั้งนั้น ซึ่ง ณัฐวุฒิ ใจดี รองปลัดเทศบาลตำบลไทรย้อย เล่าว่า เทศบาลมีการบริหารด้วยการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะขับเคลื่อนตำบลโดยมีองค์กรภาคประชนเป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์ที่เจอปัญหาในด้านสุขภาพของการพบสารเคมีตกค้างในร่างกาย ทางเทศบาลฯจึงอยากให้ชาวบ้านหันมาดูแลสุขภาพ ด้วยการใช้ใจมาดูแลร่างของตนเอง ลด ละ กิเลส รณรงค์ให้ฉลาดเลือกบริโภค ไม่รับประทานอาหารที่มีสารเคมีเจอปน นี่คือการพาใจกลับบ้าน

ต่อมาศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ก็เกิดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตอาหารปลอดภัย ทั้งพืชผัก นาข้าว เลี้ยงปลา เพาะเห็ด โดยมีแกนนำผู้สูงอายุมาเป็นเสาหลักคอยถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับลูกๆ หลานๆ ผลผลิตเล็กๆ น้อยที่เกิดขึ้นอย่างเช่น ข้าวก็จะส่งมอบเป็นสวัสดิการให้กับกลุ่มเปราะบาง

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้เอง ได้รับการสานต่อ เพื่อรสร้างตำบลไทรย้อยให้เข้มแข็งด้วยการขับเคลื่อนความมั่นคง 5 ด้าน ซึ่งเป็นร่มใหญ่คอยเป็นเกราะป้องกัน ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางชีวิต 2.ความมั่นคงทางอาหาร 3.ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม 4.ความมั่นคงด้านสังคม และ 5.ความมั่นคงทางประชาธิปไตย

ณัฐวุฒิ อธิบายว่า ความมั่นคงทั้ง 5 ด้านล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน อย่างเช่น ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมที่เทศบาลตำบลไทรย้อยมุ่งเป้าในการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า ซึ่งได้ใช้หลักประชาธิปไตยในการส่งเสริมให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมคิดออกแบบจัดการ เมื่อดิน น้ำ ป่า ได้รับการดูแล ส่งผลดีต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่นเดียวกับป่าที่สมบูรณ์ก็จะเป็นแหล่งอาหารให้ได้หยิบจับ เกิดเป็นความมั่นคงทางอาหาร นำมาซึ่งความมั่นคงทางชีวิตและสังคมต่อเนื่อง

รองปลัดเทศบาลตำบลไทรย้อย บอกด้วยว่า การมีสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมต้องดีด้วย ปัจจุบันโลกร้อนอันเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการดูแล กระทบต่ออาชีพการทำเกษตรของชาวไทรย้อยอย่างมาก จึงต้องมาช่วยกันจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นที่ใกล้ตัว คือการรณรงค์งดเผาในไร่นา ใช้ปุ๋ยพืชสดบำรุงดินทดแทนปุ๋ยเคมี เพราะการใช้ปุ๋ยเคมีจะส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

“องค์ความรู้การจัดการใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ต้องนำเข้ามาเสริมให้ชาวบ้าน เช่น การใช้พลังงานแสดงอาทิตย์ การบริหารจัดการน้ำ และการปลูกพืช หรือการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ใช้น้ำน้อย เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพ เช่นเดียวกับการจัดการขยะในชุมชนที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดตั้งศูนย์จัดการขยะลดมลพิษ” รองปลัดเทศบาลตำบลไทรย้อย ย้ำถึงการบริหารจัดการที่สำคัญ

เช่นเดียวกับการอนุรักษ์ป่าและการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นทั้งแหล่งอาหารและเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งเทศบาลตำบลไทรย้อย ได้ประกาศพื้นที่ป่าชุมชนจำนวน 136 ไร่ และช่วยกันลงขันซื้อที่สร้างป่าชุมชนแห่งใหม่ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้อีก 30 ไร่ มีการตั้งคณะกรรมการดูแลป่า เฝ้าระวังไฟป่า ตั้งวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยมูลค้างคาวที่ได้จากป่า ป้องกันคนนอกพื้นที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากป่า ภายในป่าชุมชนยังมีแหล่งท่องเที่ยว เช่น ถ้ำอีกหลายแห่ง ซึ่งต่อยอดพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับชุมชน

ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารทำให้ชาวตำบลไทรย้อยมีความมั่นคงครบทุก 5 ด้าน ซึ่งปัจจัยสำคัญนั้นคือการส่งเสริมให้เป็นชุมชนประชาธิปไตยนั่นเอง

สมเกียรติ เกรียงไกรอนันต์ นายกเทศมนตรีตำบลไทรย้อย เปิดเผยว่า เมื่อประชาธิปไตยมีความมั่นคง ชาวบ้านจะคิดเองทำเอง แก้ปัญหาของตัวเองได้อย่างยั่งยืน เกิดการรวมกลุ่ม เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ หรือชาวบ้านจะคิดโครงการเองผ่านทาง อสม. รพ.สต. ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เทศบาลมีหน้าที่เพียงการเป็นพี่เลี้ยง ช่วยเหลือ สนับสนุน เช่น สถานที่ วิชาการ หรืองบประมาณ

“ศักยภาพชาวบ้านมีในตัวเอง มีสิ่งดีๆ ให้เขาแสดงออกมา ใช้ความสามัคคีมาแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของเขา ชุมชนก็จะอยู่ร่วมกันได้” นายกเทศมนตรีตำบลไทรย้อย เชื่อเช่นนั้น

ขณะเดียวกันการเปิดรับองค์ความรู้ใหม่จากองค์กรภายนอกอย่างเช่นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้การขับเคลื่อนของเทศบาลตำบลไทรย้อยมีทิศทางและบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) ให้ความเห็นว่า เทศบาลตำบลไทรย้อยใช้ระบบข้อมูลแบบมีส่วนร่วมและการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่ง สสส.เข้าไปหนุนเสริมให้ราบรื่นเท่านั้น เพราะพื้นที่มีฐานการทำงานเข้มแข็งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สสส. ยังมุ่งหวังให้เทศบาลตำบลไทรย้อยขยายผลต่อใน 3 เรื่อง คือ 1.การจัดทำหลักสูตรขยายผลให้เพื่อนเครือข่ายได้ศึกษา 2.การขับเคลื่อนงานสุขภาพด้านพื้นฐานให้มากขึ้น เช่น เหล้า บุหรี่ หรืออุบัติเหตุ และ 3.มุ่งเน้นพัฒนาสร้างผู้นำขึ้นมาต่อเนื่อง เพื่อสืบทอดอุดมการณ์ต่อไป

การน้อมนำ “เดินตามพ่อสอน ทำตามแม่สั่ง” ร่วมกับการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในชุมชน เน้นหลักการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ส่งผลให้ชาวเทศบาลตำบลไทรย้อยมีความมั่นคงทางชีวิตบนวิถีพอเพียง

หมายเลขบันทึก: 683986เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท