สุดยอดผู้นำ : ขับเคลื่อนชุมชนด้วยคนท้องถิ่น


ผู้นำจึงต้องเน้นการเข้าถึง ทุกสถานะ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ขณะเดียวกันก็ต้อง ครอบคลุม ทุกวิธีการ ทุกกลุ่มทุกมิติ มีความต่อเนื่องกับทุกช่วงของชีวิตตั้งแต่เกิดถึงตายและเชื่อมร้อยบูรณาการกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน

เหนือฟ้า ยังมีฟ้า...เหนือผู้นำชุมชน ยังมีสุดยอดผู้นำชุมชน หากกว่าจะเป็นสุดยอดผู้นำได้ ย่อมมีคุณลักษณะพิเศษ เป็นที่ยอมรับ ของทั้งกลุ่มผู้นำ และคนในชุมชน

คำว่า "ผู้นำ" นั้น คือคนที่สามารถชักนำชักชวนกลุ่มคนให้ลงมือทำงานตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ผู้นำที่ดีนั้น ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีความตั้งใจจริง รับผิดชอบต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ รักษาไว้ซึ่งคุณธรรม ขณะเดียวกันต้องไม่เลือกปฏิบัติ มีคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ร่วมหาทางออกให้ชุมชนท้องถิ่นตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้นำท้องถิ่นควรทำงานร่วมกับทุกฝ่ายทุกภาคส่วนได้ เรียนรู้และพัฒนาด้วยข้อมูลที่เป็นจริงและใช้ข้อมูลในการพัฒนางาน รวมถึงผู้นำต้องประพฤติตนให้เป็นที่ยอมรับนับถือจากสังคม

ในงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พูดถึง “โมเดลสุดยอดผู้นำท้องถิ่น” เพื่อกระตุ้นให้ผู้นำท้องถิ่นเป็นคุณค่าในตัวเอง และเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้นำเหล่านั้น กลับไปพัฒนาชุมชนของตนเอง

ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สสส.ได้ร่วมสร้างผู้นำชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง มีการกระตุ้นให้ชุมชนค้นหาผู้นำที่มีอยู่ในชุมชน มีการพัฒนาศักยภาพผู้นำโดยการจัดเวที จัดหลักสูตร และจัดให้มีกิจกรรมของผู้นำเพื่อชุมชนมาโดยตลอด

ส่วนความคิดเห็นของบุคคลต่างๆ ที่มีต่อ “ผู้นำท้องถิ่น” นั้น เริ่มจาก นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อธิบายว่า เดิมเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว พลังในการพัฒนาประเทศอยู่ที่รัฐหรือราชการเป็นหลัก แต่ขณะนี้ สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐต้องกระจายอำนาจ ให้กับท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีพลังมากขึ้น ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่เรื่องนโยบาย แต่คือความจำเป็นในแง่การบริหารด้วย

ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลส่วนกลางจะรู้ทุกอย่างว่าเกิดอะไรขึ้นในท้องถิ่นหรือชุมชนต้องการอะไร รัฐบาลไม่สามารถตอบหรือรับผิดชอบแทนได้ จำเป็นต้องกระจายอำนาจ สนับสนุนด้านองค์ความรู้ การกำกับดูแลที่ดี ให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินวิถีชีวิตของตนเองและมีความสามารถในการบริหารจัดการตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ

“สุดยอดผู้นำชุมชนจึงต้องมีความรู้ในการแก้ปัญหา ที่สำคัญเมื่อความเป็นเมืองรุกเข้ามามากขึ้น ผู้นำต้องรู้เท่าทันและรับมือได้ ขณะเดียวกัน ก็รักการเรียนรู้ สร้างสรรค์ ก้าวทันลูก มีความซื่อสัตย์มีเจตจำนงความมุ่งมั่นเชื่อมั่นในพลังชุมชนท้องถิ่น และมีปฏิสัมพันธ์กับภาครัฐ ผลักดันแผนนโยบายจากท้องถิ่นขึ้นไปและคอยตรวจสอบ ไม่ใช่รอภาครัฐเข้ามาตรวจสอบเพียงอย่างเดียว” นายสุริยนต์ ย้ำ

การเป็นผู้นำที่ต้องรู้จักในการแก้ไขปัญหา-นั้น สำหรับผู้นำในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ต้องใส่ใจใน 13 กลุ่มประชากรในพื้นที่ ประกอบด้วย 1.เด็ก 0-2 ปี 2.เด็ก 3-5 ปี 3.เด็ก 6-12 ปี 4.เด็กและเยาวชน 5.หญิงตั้งครรภ์ 6.กลุ่มวัยทำงาน 7.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 8.ผู้ป่วยเอดส์ 9.ผู้ป่วยจิตเวช 10.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 11.ผู้ด้อยโอกาส 12.คนพิการ และ 13.ผู้ป่วยระยะสุดท้าย

รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนา ระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า สุขภาวะของประชากร 13 กลุ่ม ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ซึ่งเกี่ยวข้อง ตลอดช่วงอายุของทุกคน เป็นตัวบ่งชี้ว่าประชาชนอยู่อย่างไรในท้องถิ่น ปัจจัยที่ 2 คือโรคและการเจ็บป่วย ร้อยละ 5-10 ของช่วงชีวิตทุกคน มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเจ็บป่วย และปัจจัยที่ 3 คือด้านพฤติกรรม เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่นการดื่มสุรา สูบบุหรี่ เป็นต้น

“หลักในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ผู้นำจึงต้องเน้นการเข้าถึง ทุกสถานะ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ขณะเดียวกันก็ต้อง ครอบคลุม ทุกวิธีการ ทุกกลุ่มทุกมิติ มีความต่อเนื่องกับทุกช่วงของชีวิตตั้งแต่เกิดถึงตายและเชื่อมร้อยบูรณาการกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน” รศ.ดร.ขนิษฐา กล่าวและขยายความต่อไปว่า โดยวิธีทำงานของผู้นำชุมชนท้องถิ่นจะต้องวางแผน ออกแบบงานกิจกรรม ประชุมเพื่อหาความร่วมมือ ต้องสื่อสารกัน สรุปบทเรียน พร้อมกันนั้น ต้องมีการจัดงบประมาณ เพื่อให้การบริหารจัดการ บริการงานกิจกรรม ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กลไกในการทำงานของชุมชนท้องถิ่นนั้น ต้องยอมรับว่าผู้นำแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ในการขับเคลื่อนก็ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของผู้นำท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ว่ามีด้านใดบ้าง อาทิ เด็กปฐมวัย ผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง แต่ก็ต้องทำให้เกิดการเข้าถึง-ครอบคลุม-ต่อเนื่อง-เชื่อมร้อย เพื่อให้การขับเคลื่อนนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จ่าโทโกเมศร์ ทองบุญชู ผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ย้ำในส่วนงานที่เขาถนัด ว่าปัจจุบันภัยพิบัติรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมสุขภาพ ต่อทุกกลุ่มประชากร ผู้นำชุมชนจึงต้องหาวิธีการ ทำอย่างไรให้ชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมารับมือกับภัยพิบัติได้ เพราะเมื่อเกิดภัย คนในชุมชนได้รับผลกระทบ จะรอให้หน่วยงานรัฐ หรือภายนอกเข้าไปช่วยเหลือ ก็ยากมาก ต้องพยายามสร้างอาสาสมัครที่เป็นคนในพื้นที่ก่อน

ในฐานะเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติแล้ว จ่าโทโกเมศร์ จึงชวนผู้นำชุมชนท้องถิ่น ซึ่งรู้ดีว่าในพื้นที่ มีความเสี่ยงภัยอะไรบ้าง สร้างอาสาสมัครที่มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะ ผ่านการอบรมเรียนรู้ ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างแท้จริง มีการนำข้อมูลในพื้นที่มากำหนด หรือนำแผนยุทธศาสตร์ ของพื้นที่ตำบลมาสู่การปฏิบัติ

“ทั้งนี้อาสาสมัครไม่ใช่คนช่วยเหลือดูแลยามมีภัยอย่างเดียว ณ วันนี้อาสาสมัคร ได้เข้าไปดูแลผู้สูงอายุ จุดเสี่ยง อุบัติเหตุต่างๆ ฯลฯ เพราะนิยามของอาสาสมัครคือ ใจมา...เวลามี มีทักษะ และความรู้ อันเป็นคุณสมบัติของสุดยอดผู้นำ” จ่าโทโกเมศร์ ย้ำ

ขณะที่ นพ.พิศิษฐ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. บอกว่า กระทรวงให้ความสำคัญกับเรื่องคนและสุขภาวะเป็นอย่างมาก โดยตั้งงบประมาณ ทั้งหมดมากกว่า 2 แสนล้านเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ เน้นให้คนดูแล สุขภาพของตนเองอย่างมีศักยภาพ ถ้าเกินความสามารถ จึงส่ง รพ.สต. โรงพยาบาลอำเภอ หรือหน่วยงานใกล้บ้าน

กระทรวงสาธารณสุขพยายามกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด เพราะท้องถิ่นย่อมรู้ดีว่าตนมีปัญหาอะไรกระทรวงจึงกำหนดกฎ นโยบายต่างๆ ได้หลวมๆ เท่านั้น ท้องถิ่นต้องนำไปปรับปฏิบัติให้สอดคล้อง และเกิดประสิทธิภาพ ดังนั้นพื้นที่ต้องกำหนดกิจกรรมที่เหมาะสมกับตนเอง และกฎหมายหลายฉบับที่มีการร่าง หรือปรับแก้ ก็เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ ประเมินผล รับประโยชน์ ให้โรงพยาบาลต่างๆ มีภาคประชาชนเข้าไปร่วม

“เชื่อว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทยถ้ามีการรวมพลังเช่นนี้ และเชื่อมโยงกับเครือข่ายส่วนราชการไปด้วย ก็จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมีศักยภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนสังคมโดยรวมเป็นอย่างยิ่ง” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

การสร้างผู้นำให้มีความรอบรู้ ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ของเครือข่ายผู้นำชุมชนท้องถิ่น ก็เพื่อเป้าหมายในการสร้างพลังพลเมือง สร้างสังคมประเทศชาติ มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นสุข

หมายเลขบันทึก: 683963เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท