ลดเจ็บ ลดป่วย ลดตาย ข้อมูลดีเพื่อตำบลขับขี่ปลอดภัย


ภารกิจในการดูแลป้องกันเพื่อลดการสูญเสียอันเนื่องจากอุบัติเหตุนั้น เป็นงานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งวางไว้เป็นภารกิจสำคัญ มีหลากหลายแนวทางขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่จะเลือกมาใช้

ขาซ้ายบิดงอ กระดูกโผล่ออกมาบริเวณหน้าแข้ง เป็นภาพน่าสยดสยองต่อผู้พบเห็นยิ่งนักในที่เกิดเหตุมีรถเข็นใส่ของจิปาถะจอดเอียงกะเท่เร่อยู่ เมื่อสอบถามถึงเหตุการณ์ ทราบว่าชายเคราะห์ร้าย คือคนในหมู่บ้าน อาชีพรับจ้างทั่วไปและใช้เส้นทางนี้เป็นประจำ

แต่ด้วยถนนเส้นนี้ คือถนนหมายเลข 24 หรือนักเดินทางทั่วไปมักรู้จักกันในชื่อ “โชคชัย-เดชอุดม”อำนวยความสะดวกอย่างมากให้กับผู้คนที่จะไปอีสานใต้ ไล่ตั้งแต่ หนองกี่ นางรอง ประโคนชัย ปราสาท สังขะ ขุขันธ์ จนถึงปลายทางที่อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี รถจึงวิ่งขวักไขว่หนาแน่นตลอดเวลา

ด้วยเหตุที่ถนนมีความกว้างขนาดสี่เลนพร้อมไหล่ถนน จุดกลับรถก็อยู่ห่างออกไปหลายร้อยเมตร ชายผู้เคราะห์ร้ายรายนี้จึงเลือกทางสะดวก คือขับมอเตอร์ไซค์พร้อมรถพ่วงท้ายย้อนศร จากซอยหนึ่งเลียบเลาะเข้าอีกซอยหนึ่ง ทำแบบนี้เป็นประจำแต่ในวันเกิดเหตุเขาโชคไม่ดีเหมือนวันก่อนๆ รถปิกอัพที่วิ่งมาตามเส้นทางปกติ ขับชิดติดขอบซ้าย จนเบียดเข้ากับรถมอเตอร์ไซค์ของเขาที่ขับสวนทางจนเสียหลักล้มลงตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัส

“พื้นที่ผมมีจุดเสี่ยงเยอะมาก เพราะมีถนนสายหลักผ่าน นอกจากสาย 24 แล้ว ยังมีถนนมิตรภาพอีก เส้นนั้นไม่ต้องพูดถึง รถมากทั้งวันทั้งคืน” สมพงษ์ ไชยเฉลิม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เล่าถึงสถานการณ์อุบัติเหตุในพื้นที่ของตัวเอง ว่ามีความเสี่ยงแค่ไหน

หน้าที่ของท้องถิ่น คือต้องลดความสูญเสียอันเนื่องจากอุบัติเหตุลงให้ได้ อย่างกรณีชาวบ้านขับมอเตอร์ไซค์กับรถพ่วงที่ถูกรถปิกอัพเบียด เพราะขับย้อนศร ก็เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นต้องให้ความรู้แก่ชาวบ้านอย่างไรก็ตาม นายกฯสมพงษ์ บอกว่า การรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุทำมาแล้ว 3 ปีแล้ว จากเมื่อก่อนมีตายเจ็บทุกปีอย่างน้อย 5-6 คน แต่พอมาถึงล่าสุดปี 2562 ไม่มีใครเสียชีวิตเลย

การรณรงค์ของอบต.มะเกลือใหม่ เน้นที่ลดความเสี่ยงส่วนบุคคล โดยเฉพาะให้ความรู้แก่นักบิดวัยรุ่น-ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยคึกคะนอง และเมื่อดื่มเหล้าเข้าไป ก็ยิ่งคึกหนัก โดยเฉพาะเด็กในวัย 13-16 ปี ทางอบต.จึงเข้าไปรณรงค์ร่วมกับโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่เพื่อลดการสูญเสีย

ภารกิจในการดูแลป้องกันเพื่อลดการสูญเสียอันเนื่องจากอุบัติเหตุนั้น เป็นงานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งวางไว้เป็นภารกิจสำคัญ มีหลากหลายแนวทางขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่จะเลือกมาใช้

ที่ตำบลนาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ทางองค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน เลือกใช้ธรรมนูญชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุ เช่น หากมีมาตรการใดมาตรการหนึ่งออกมาต้องสอดคล้องกับธรรมนูญชุมชน ชาวชุมชนทุกคนต้องยอมรับอาทิ การไปส่งลูกที่โรงเรียน หากใช้มอเตอร์ไซค์ ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนต้องสวมหมวกกันน็อค หากไม่สวมจะถูกปรับคนละ 5 บาท เป็นต้น

สมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ นายกอบต.นาทอน กล่าวว่าธรรมนูญชุมชนช่วยได้มาก เพราะเป็นข้อตกลงที่ผ่านการเห็นชอบจากคนในชุมชนมาแล้ว แต่สำหรับเรื่องการลดอุบัติเหตุแล้ว เขามองว่าเหมือนกับแกงหม้อนี้ต้องอุ่นตลอด ไม่เช่นนั้นจะบูด คือต้องมีการย้ำเตือน เอาจริงเอาจัง และบังคับใช้ให้ต่อเนื่อง

ส่วนเขตพื้นที่เทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ที่ทำการรณรงค์ด้านอุบัติเหตุมายาวนานและกำหนดให้เรื่องขับขี่ปลอดภัยเป็นหนึ่งในงานด้านสังคมที่ทางเทศบาลต้องดำเนินดูแลอย่างดี ร่วมกับงานสังคมอื่นๆ ได้แก่ สังคมรักษ์โลก สังคมเอื้ออาทร สังคมสวัสดิการ สังคมไม่เดือดร้อน สังคมคนดี สังคมสันติสุข สังคมปรับตัว

แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น สุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก ระบุว่า ข้อมูลชุมชนสำคัญที่สุดโดยทางเทศบาลตำบลปริกได้ทำการเก็บข้อมูลไว้ทั้งหมด ว่ากลุ่มไหนที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ มีจำนวนกี่คน ไปดื่มกันที่ไหน จากนั้นก็มาทำการวิเคราะห์ สร้างแบบจำลอง จนรู้ว่าจุดไหน กลุ่มใดที่มีความเสี่ยง ก็จะเข้าไปให้ความรู้และหาแนวทางป้องกัน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านวัด โรงเรียน และมัสยิด ที่สำคัญเจ้าหน้าที่และพนักงานของเทศบาลทุกคนต้องสวมหมวกกันน็อค เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน

“2 ปีที่ผ่านมา ในตำบลปริกไม่เกิดอุบัติเหตุเลย” สุริยา เน้นอย่างภูมิใจ และย้ำว่า ข้อมูลของชุมชนมีประโยชน์ และให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจเสมอหากนำไปใช้ถูกที่ถูกเวลา

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กล่าวถึงข้างต้น อย่าง อบต.มะเกลือใหม่, อบต.นาทอน และทต.ปริก มีจุดร่วมเดียวกันประการหนึ่ง คือ การเป็นอปท.ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่จากทั้งหมดกว่า 2,800 ตำบล ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งทุกๆ องค์กรให้ความสำคัญกับ “ข้อมูล” ของชุมชนทั้งสิ้น

ข้อมูลแต่ละชุมชนของอปท.ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีการศึกษา ฝึกปรือ และจัดเก็บ ผ่านระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) และการวิจัยชุมชน (RECAP) ทำให้ตำบลต่างๆ ในเครือข่ายสามารถวิเคราะห์ปัญหา วางแผน และประเมินสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในชุมชนของตัวเอง ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะนำข้อมูลนั้นมาใช้ได้ทันทีหากมีการร้องขอ

อย่างเช่น เทศบาลตำบลหลักเมือง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ มีข้อมูลเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกครัวเรือน สามารถเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงในช่วงเทศกาลได้ ขณะเดียวกันหากทางหน่วยงานหลักของจังหวัดต้องการข้อมูลในพื้นที่ ทางเทศบาลก็สามารถดำเนินการส่งมอบข้อมูลได้ทันทีโดยไม่ต้องสำรวจใหม่

เมื่อรัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศนโยบาย “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ที่ต้องการกระตุ้นให้ท้องถิ่นมีการจัดระเบียบการจราจรในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง โดยให้องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในตำบล ชุมชน หมู่บ้านอย่างเป็นรูปธรรมอปท.ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่จึงมีความพร้อมที่จะสนองตอบต่อนโยบายดังกล่าวได้ทันที

รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะ “พี่เลี้ยง” อปท.ในเครือข่ายฯ เกี่ยวกับการเก็บข้อมูลและการใช้ประโยชน์กล่าวว่า ข้อมูลของตำบลจะถูกนำไปใช้ในการวิเคราะห์สภาพปัญหา ก่อนจะนำไปวางแผน หาแนวทางดำเนินงาน และวางมาตรการป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น

องค์ประกอบสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งตำบลขับขี่ปลอดภัยโดยชุมชนท้องถิ่นนั้น รศ.ดร.ขนิษฐา ชี้ว่า คน ยานพาหนะ และ สภาพถนน คือสามองค์ประกอบในการเกิดอุบัติเหตุ อย่างเช่น คน ต้องหาให้ได้ว่า ใครคือกลุ่มเสี่ยง ใครคือคนที่ต้องฟื้นฟู หรือใครคือคนที่ต้องดูแลต่อเนื่อง ต้องระบุให้ได้ว่าใครคนไหนที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ คนที่เป็นเหยื่อก็อาจจะนำมาเป็นคนต้นเรื่องในการรณรงค์ในพื้นที่ก็ได้ ส่วนรถ ชุมชนท้องถิ่นต้องรู้ว่าสภาพรถบ้านไหนเป็นอย่างไร มีการดัดแปลงหรือไม่ หรือรูปแบบการใช้งานอย่างไร เช่น บ้านนั้นให้รถกระบะขนคนงานแต่เป็นหลังคาเปิด ก็อาจจะไม่ปลอดภัยได้ ขณะที่สภาพถนน ท้องถิ่นต้องรู้ว่าจะไหนเสี่ยง และต้องดำเนินการแก้ไขอย่างไร

จากข้อมูลสรุปของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ช่วง 7 วันอันตราย (27 ธ.ค. 2562 - 2 ม.ค. 2563) มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ 3,421 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 3,499 คน และผู้เสียชีวิต 373 คน หรือจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงถึง 19.44% ที่สำคัญอุบัติเหตุจากการขับรถในขณะเมาสุราคิดเป็น 32.68% ลดลง 7.71% ซึ่งการเตรียมพร้อมที่เต็มไปด้วยข้อมูลในลักษณะนี้ ทำให้สถานการณ์อุบัติเหตุในพื้นที่ของตำบลเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ค่อนข้างเบาบาง บางพื้นที่ก็ไม่เกิดอุบัติเหตุเลย

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.กล่าวว่า ที่ผ่านมาชุมชนบางส่วนก็ทำตามนโยบายหรือคำสั่งของภาครัฐ มีการตั้งด่าน มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ แต่ก็ทำกันตามถนนสายหลักหรือถนนใหญ่ ไม่ใช่ถนนในชุมชนของตัวเอง ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุไม่เคยลด ประกอบกับมีงานวิจัยว่าคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจากถนนสายรองมากกว่าถนนสายหลักดังนั้นจึงได้เน้นย้ำไปยังอปท.เครือข่ายฯ ให้เข้าไปทำงานในถนนของชุมชนให้มากขึ้น

“สิ่งหนึ่งที่ท้องถิ่นต้องทำให้ได้ คือในตำบลต้องรู้ใครเสี่ยงหรือต้องหากลุ่มเสี่ยงให้ได้ เช่น กลุ่มที่กินเหล้าเป็นประจำ ก็ต้องรีบสกัดกั้นหรือให้เขาระมัดระวังตัว หรือใช้กลไกครอบครัวให้เขาอยู่แต่ในบ้าน ไม่ต้องออกไปเสี่ยงตามท้องถนน ซึ่งเครือข่ายชุมชนน่าอยู่ ทำกันอยู่แล้วและสามารถหาได้เลย ให้ทำทุกวัน ไม่ได้ทำเฉพาะ 7 วันอันตราย” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ย้ำ

ชุมชนท้องถิ่นที่รู้จักตัวเองและมีข้อมูลของชุมชนรอบด้าน ย่อมเข้มแข็งและอยู่รอดปลอดภัย

หมายเลขบันทึก: 683957เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท