ชวนท้องถิ่นรับคนกลับบ้านเยี่ยงนักรบคืนมาตุภูมิ แนะรณรงค์ล้างมือเป็นนิสัยป้องกัน “โควิด-19”


กลไกสำคัญที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้ คือกรรมการหมู่บ้าน และอสม. เพราะรู้ความเคลื่อนไหวของสมาชิกทุกคนในชุมชน การเข้าไปพูดคุย ตักเตือน ตรวจวัดร่างกาย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากกรุงเทพมหานครมีมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ 26 ประเภทตั้งแต่ 22 มีนาคม – 12 เมษายน เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ต้องหยุดกิจการ ส่งผลให้ประชาชนที่มาทำงานในกรุงเทพฯ เดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก

อย่างที่ตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก นายสมเกียรติ เกรียงไกรอนันต์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลไทรย้อย บอกว่า “ใครจะเข้ามาตำบลเราต้องผ่านจุดคัดกรองที่ รพ.สต.ทั้ง 2 แห่ง เราเน้นย้ำเลย”

เทศบาลตำบลไทรย้อยได้เตรียมรับมือโดยประสานความร่วมมือกันใน 4 องค์กรหลัก ทั้งเทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต. และภาคประชาชน อย่างใกล้ชิด มีการประชุมรายงานสถานการณ์อยู่เป็นระยะ จนถึงวันนี้สถานการณ์ในพื้นที่ยังปกติ ประชาชนไม่ตื่นตระหนกใดๆ เพราะทุกคนดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ทั้ง 17 หมู่บ้านก็ใช้เสียงตามสาย สร้างความรู้ความเข้าใจมาอย่างต่อเนื่อง

กลไกสำคัญที่ช่วยให้เทศบาลตำบลไทรย้อยทำงานอย่างมั่นใจ คือมีทีมอสม.ที่เข้มแข็ง คอยออกตรวจ คัดกรองตามชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ และต่างประเทศ หลังจากที่มีการประชาสัมพันธ์การปฏิบัติตัวหลังจากลับมาแล้ว

“เมื่อดินทางมาถึง ทีม อสม.เราจะลงพื้นที่เยี่ยมทันที แสดงความใส่ใจ พูดคุยให้ความรู้ และขอความร่วมมือเรื่องกักตัว รวมถึงชี้แจงแนวทางการปฏิบัติขณะที่อยู่ในช่วงกักตัว และเพื่อให้การตรวจคัดกรองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” นายกฯสมเกียรติ กล่าวและให้คำมั่นว่า ทางเทศบาลจะเร่งจัดหาเครื่องวัดอุณหภูมิแบบเลเซอร์ให้กับอสม.ใช้ให้ครบทั้ง 17 หมู่บ้าน

นายกเทศมนตรีตำบลไทรย้อย ทิ้งท้ายว่า เพื่อยับยังการแพร่ระบาด เทศบาลใคร่ขอความร่วมมือในการไม่อาศัยอยู่รวมกัน ออกจากบ้านให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ขณะเดียวกัน จนท.ตำรวจก็จะออกตรวจร้านค้าต่างๆ ไม่ให้คนมานั่งกินที่ร้าน โดยให้ซื้อกลับไปกินที่บ้าน

ส่วนทีตำบลสร้างถ่อ โดย นางสุขกาย ผลนาค ปลัดอบต.สร้างถ่อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ตื่นตัวกันมาก ทางอบต.ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านหอกระจายข่าวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด พร้อมกันนั้นก็ได้ชวนชาวบ้านมาเย็บหน้ากากอนามัย เพื่อนำไปมอบให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ส่วนพนักงานของอบต.สร้างถ่อทุกคนก่อนเข้าสำนักงานต้องล้างมือให้สะอาด ขณะเดียวกันได้สั่งปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของตำบลไปทั้งหมดแล้วด้วย

ความเคลื่อนไหวของท้องถิ่นเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้รับมือได้ไม่ยาก ชุมชนท้องถิ่นต้องต้อนรับลูกหลานกลับบ้านด้วยความรักความเมตตา เยี่ยงนักรบคืนสู่มาตุภูมิ ขณะเดียวกันลูกหลานต้องแสดงความรักตอบ ปฏิบัติตามคำร้องขอของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ด้วยการกันตัวเองออกจากผู้สูงอายุในบ้าน แยกของกินของใช้กับคนอื่น ซึ่งต้องทำให้ได้ 14 วันต่อเนื่องกัน

น.ส.ดวงพร กล่าวด้วยว่า สถานการณ์เช่นนี้ ชุมชนอย่าแสดงความรังเกียจผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงในชุมชน เพราะโควิด-19 ไม่ได้ติดกันง่ายๆ ดังนั้นท้องถิ่น อย่าง อบต.หรือ เทศบาล ต้องสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน พร้อมกับร่วมกันรณรงค์ให้แต่ละครัวเรือนมีสบู่และที่ล้างมือ เพื่อสร้างนิสัยล้างมือเป็นกิจวัตรทั้งก่อนออกบ้านและเข้าบ้าน เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการล้างมือนั้น ช่วยลดการติดเชื้อได้

“ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้ทุกท้องถิ่นเพิ่มการรณรงค์ให้ทุกบ้านมีปรอทวัดไข้ไว้คู่บ้าน ราคาไม่แพง แค่ 35 บ้านก็หาซื้อได้แล้ว” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน แนะนำและเพิ่มเติมว่า กลไกสำคัญที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้ คือกรรมการหมู่บ้าน และอสม. เพราะรู้ความเคลื่อนไหวของสมาชิกทุกคนในชุมชน การเข้าไปพูดคุย ตักเตือน ตรวจวัดร่างกาย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวด้วยว่า ทางสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนซึ่งให้การสนับสนุนการทำงานแก่อปท.ที่เป็นภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า 2,800 แห่ง ได้เตรียมกิ๊ฟเซ็ตประกอบด้วย ปรอทวัดไข้ แอลกอฮอลล์ หน้ากากอนามัย ยาสระผม และถุงดำ ให้แก่ผู้ที่กักตัวเองอยู่ที่บ้าน เพื่อแทนคำขอบคุณ สร้างขวัญและกำลังใจ พร้อมกันนั้น หลังจากนี้ทางสำนักฯ ได้เตรียมให้การสนับสนุนแก่ท้องถิ่นที่มีความพร้อมให้การทำโครงการเฝ้าระวังโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่โครงการละ 50,000 บาทด้วย

หมายเลขบันทึก: 683952เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท