10 ประเด็น 13 กลุ่มประชากร โจทย์ท้าทาย “ผู้นำ” สร้างสุขภาวะชุมชน


กลไกในการทำงานของชุมชนท้องถิ่นนั้น ต้องยอมรับว่าผู้นำแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ในการขับเคลื่อนก็ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของผู้นำท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ว่ามีด้านใดบ้าง อาทิ เด็กปฐมวัย ผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง แต่ก็ต้องทำให้เกิดการเข้าถึง-ครอบคลุม-ต่อเนื่อง-เชื่อมร้อย เพื่อให้การขับเคลื่อนนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

คำว่า "ผู้นำ" นั้น คือคนที่สามารถชักนำชักชวนกลุ่มคนให้ลงมือทำงานตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ผู้นำที่ดีนั้น ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีความตั้งใจจริง รับผิดชอบต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ รักษาไว้ซึ่งคุณธรรม ขณะเดียวกันต้องไม่เลือกปฏิบัติ มีคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ร่วมหาทางออกให้ชุมชนท้องถิ่นตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้นำท้องถิ่นควรทำงานร่วมกับทุกฝ่ายทุกภาคส่วนได้ เรียนรู้และพัฒนาด้วยข้อมูลที่เป็นจริงและใช้ข้อมูลในการพัฒนางาน รวมถึงผู้นำต้องประพฤติตนให้เป็นที่ยอมรับนับถือจากสังคม

ในงานเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เมื่อเร็วๆ นี้ จัดโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พูดถึง “โมเดลสุดยอดผู้นำท้องถิ่น” เพื่อกระตุ้นให้ผู้นำท้องถิ่นเป็นคุณค่าในตัวเอง และเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้นำเหล่านั้น กลับไปพัฒนาชุมชนของตนเอง

ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สสส.ได้ร่วมสร้างผู้นำชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง มีการกระตุ้นให้ชุมชนค้นหาผู้นำที่มีอยู่ในชุมชน มีการพัฒนาศักยภาพผู้นำโดยการจัดเวที จัดหลักสูตร และจัดให้มีกิจกรรมของผู้นำเพื่อชุมชนมาโดยตลอด

น.ส.ดวงพร เฮงบุญยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน (สน.3) สสส. กล่าวว่า การทำงานของ สสส. สำนัก 3 และภาคีเครือข่าย มุ่งกระตุ้นชุมชนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการสร้างผู้นำชุมชนท้องถิ่นเพื่อเป็นแกนหลักในการพัฒนาท้องถิ่น และสามารถยกระดับเป็นสุดยอดผู้นำท้องถิ่นที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนได้ ซึ่งสุดยอดผู้นำท้องถิ่นต้องเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐ เพราะรัฐยังมีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่น

“สสส.มีเครือข่ายสุดยอดผู้นำกว่า 10,000 คน จาก 2,000 ตำบล ที่ผ่านมาผู้นำชุมชนท้องถิ่นร้อยละ 90 ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ข้ามพื้นที่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปิดเวทีผู้นำชุมชนท้องถิ่น เข้าใจในระดับนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ต่อเวทีสาธารณะเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น สสส.รณรงค์งดเหล้า บุหรี่ บุคคลที่เป็นสุดยอดผู้นำจะต้องหยิบเรื่องพักตับเข้ามาอยู่ในกลยุทธ์ เป็นนักรณรงค์ มีจิตอาสา และสร้างคนต้นแบบในการลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ เป็นต้น” นางสาวดวงพร กล่าว

เวทีและกิจกรรมเพื่อการพัฒนาศักยภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกระยะ ก็เพื่อให้ผู้นำชุมชนรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที เพราะทุกๆ ปัญหานับวันจะมีความซับซ้อน หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ

จากการรวบรวมข้อมูลชุมชนท้องถิ่นในปี 2561 ครอบคลุมประชากร 8.8 ล้านคน 2.4 ล้านครัวเรือน 2,148 อปท. โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) พบว่า เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ ได้ทำงานกับ 13 กลุ่มประชากร ได้แก่ 1.เด็ก0-2 ปี 2.เด็ก3-5ปี 3.เด็ก6-12ปี 4.เด็กและเยาวชน 5.หญิงตั้งครรภ์ 6.กลุ่มวัยทำงาน 7.ผู้สูงอายุ 60ปีขึ้นไป 8.ผู้ป่วยเอดส์ 9.ผู้ป่วยจิตเวช 10.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 11.ผู้ด้อยโอกาส 12.คนพิการ และ 13.ผู้ป่วยระยะสุดท้าย บางกลุ่มจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และบางกลุ่มจำเป็นต้องเตรียมการเพื่ออนาคต

การสร้างสุขภาวะ 13 กลุ่มประชากรครอบคลุมใน 10 ประเด็น ประกอบด้วยประเด็นที่ 1 การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 21% ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ท้องถิ่นต้องวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 10 ปี โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่พิการและดูแลตัวเองไม่ได้ จะต้องเข้าไปดูเป็นลำดับแรก เช่นเดียวกับการหนุนเสริมกลุ่มที่มีศักยภาพ “สูงวัยสร้างเมือง” ให้มีบทบาทในสังคม ประเด็นที่ 2 การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน มีประชากรในกลุ่มนี้เกือบ 3% ซึ่งขณะนี้ได้มี พ.ร.บ.เด็กปฐมวัย โดยให้ อปท. เป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตามการจะผลักภาระให้ท้องถิ่นจึงอาจจะทำได้ไม่ทั่วถึง ทุกภาคส่วนจึงต้องเข้าไปร่วม

ประเด็นที่ 3 การเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว สาเหตุหลักเกือบ 60% คือ หนี้สินและการว่างงานที่ทำให้เกิดความรุนแรง ประเด็นที่ 4 การจัดการขยะ แม้เรามีการจัดการขยะในครัวเรือน 86% แต่เมื่อลงพื้นที่ไปแล้วยังพบปัญหาบ่อขยะไม่เพียงพอ และขยะอินทรีย์ที่ยังจัดการได้ไม่ค่อยดีนัก ประเด็นที่ 5 การจัดการภัยพิบัติ ที่พบมากสุดคือ น้ำท่วม 39% และภัยแล้ง 31% ประเด็นที่ 6 การดูแลสุขภาพชุมชน มุ่งให้ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาป่วยเรื้อรังที่มีถึง 7% ได้แก่ เบาหวานความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ปวดข้อ และโรคหัวใจ ประเด็นที่ 7 การจัดการอาหารในชุมชน มีคนทำเกษตรกรรม 28% ซึ่งจะเป็นฐานผลิตอาหารให้กับคนในชุมชน ประเด็นที่ 8 เศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้ให้ชุมชนและครัวเรือน ประเด็นที่ 9 การควบคุมการบริโภคยาสูบและสารเสพติด รณรงค์แคมเปญ “เลิกสูบ เจอสุข” และประเด็นที่ 10 การลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุจราจร สนับสนุนให้ท้องถิ่นใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพเข้าไปช่วยบริหารจัดการ

รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนา ระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า สุขภาวะของประชากร 13 กลุ่ม ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องตลอดช่วงอายุของทุกคน เป็นตัวบ่งชี้ว่าประชาชนอยู่อย่างไรในท้องถิ่น ปัจจัยที่ 2 คือ โรคและการเจ็บป่วย ร้อยละ 5-10 ของช่วงชีวิตทุกคน มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเจ็บป่วย และปัจจัยที่ 3 คือด้านพฤติกรรม เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่นการดื่มสุรา สูบบุหรี่ เป็นต้น

“หลักในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ผู้นำจึงต้องเน้นการเข้าถึง ทุกสถานะ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ขณะเดียวกันก็ต้อง ครอบคลุม ทุกวิธีการ ทุกกลุ่มทุกมิติ มีความต่อเนื่องกับทุกช่วงของชีวิตตั้งแต่เกิดถึงตายและเชื่อมร้อยบูรณาการกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน” รศ.ดร.ขนิษฐา กล่าวและขยายความต่อไปว่า โดยวิธีทำงานของผู้นำชุมชนท้องถิ่นจะต้องวางแผน ออกแบบงานกิจกรรม ประชุมเพื่อหาความร่วมมือ ต้องสื่อสารกัน สรุปบทเรียน พร้อมกันนั้น ต้องมีการจัดงบประมาณ เพื่อให้การบริหารจัดการ บริการงานกิจกรรม ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กลไกในการทำงานของชุมชนท้องถิ่นนั้น ต้องยอมรับว่าผู้นำแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ในการขับเคลื่อนก็ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของผู้นำท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ว่ามีด้านใดบ้าง อาทิ เด็กปฐมวัย ผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง แต่ก็ต้องทำให้เกิดการเข้าถึง-ครอบคลุม-ต่อเนื่อง-เชื่อมร้อย เพื่อให้การขับเคลื่อนนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างที่โรงพยาบาลแว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส ต้องรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กและสตรี มักจะมีปัญหาตามมาหลังจากเผชิญกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น นางไซนะ มรรคาเขต พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิต เล่าว่า เมื่อปี 2555 มีคนไข้ถูกสะเก็ดระเบิด เธอลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่หมู่ 1 ต.เอราวัณ อ.แว้ง และพบชายไม่สวมเสื้อผ้า ผมยาวรกรุงรัง เล็บยาว มีกลิ่นตัว ถูกล่ามโซ่ไว้ในกระท่อมผุๆ ส่งเสียงดังเอะอะโวยวาย รอบๆ กระท่อมเป็นป่ารก

ไซนะ จึงประสานความร่วมมือกับเครือข่ายที่ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ชุมชน ผู้ดูแล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฝ่ายปกครอง ผู้นำศาสนา องค์การบริหารส่วนตำบล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนราธิวาส ทหาร ตำรวจ ผ่านการทำประชาคม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่ ทำให้พบว่าหมู่ 5 ต.แว้ง มีผู้ป่วยจิตเวชมากที่สุดในตำบลกว่า 20 ราย ขณะที่ทั้งอำเภอมีผู้ป่วยจิตเวชถึง 577 คน

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ไซนะได้ร่วมกับชุมชน ออกแบบการดูแลคนเหล่านี้ ตั้งแต่สำรวจ คัดกรอง ดูแล รักษา และฟื้นฟู จนผู้ป่วยล่ามโซ่ 5 รายสามารถปลดโซ่ออกได้ และผู้ป่วยกักขัง 5 ราย ก็ปล่อยได้ 3 ราย อีก 2 ราย ญาติไม่มีความพร้อม เนื่องจากมีแม่ที่อายุมากดูแล จึงเกรงจะรับมือไม่ได้

ที่สำคัญคือผู้ป่วยหลายรายสามารถช่วยครอบครัวเพราะปลูกพืชผัก บางรายทำงานรับจ้างได้ และ 2 ราย ได้งานจากมูลนิธิทางสังคม สร้างรายได้หลักให้กับครอบครัวปีละกว่าแสนบาท นับเป็นความภาคภูมิใจของคนทำงาน โดยเฉพาะตัวของไซนะเอง ได้รับอานิสงค์ เป็นรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ในปี 2559 และรับรางวัลพยาบาลดีเด่น จ. นราธิวาส ปี 2560 ไซนะ จึงนับเป็นผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างแท้จริง

ส่วนที่ชุมชนบ้านสามหลัง ต.สองแคว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ให้ความสนใจกับประเด็นเศรษฐกิจชุมชน หลังจากคนในชุมชนแห่งนี้ เป็นหนี้นอกระบบเกือบทุกราย ทุกวันจะมีเจ้าหนี้หรือแก๊งหมวกกันน็อคตามทวงหนี้จนใช้ชีวิตไม่ปกติสุข ดอกเบี้ยโหด ที่จ่ายเท่าไหร่ก็ไม่หมด ทั้งต้นทั้งดอก ปัญหานี้ทำให้คนในชุมชนไม่มีความสุข จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “สถาบันการเงินชุมชนบ้านสามหลัง”

นางลัดดดา ไชยชนะ นายกเทศมนตรีตำบลสองแคว เล่าว่า จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เธอไม่ต้องการให้ชาวบ้านเกิดความทุกข์ ไม่อยากเห็นใครต้องขายบ้านขายทรัพย์สินไปใช้หนี้ ทางเทศบาลตำบลสองแควจึงชักชวนคนมาอออมเงิน มาลงหุ้นกัน ด้วยแนวคิด “ยามมีเรามาฝาก ยากยากเรามาถอน” คนที่มีฐานะดี ก็ลงมาก คนมีน้อยก็ลงน้อย ที่สำคัญคือปล่อยกู้ให้เอาไปชดใช้หนี้นอกระบบ แล้วค่อยมาผ่อนจ่ายกับเราในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือใครอยากจะมีเงินเพื่อนำไปลงทุนสร้างอาชีพ ก็มีให้

ปัจจุบันสถาบันการเงินชุมชนบ้านสามหลัง มีสมาชิก 388 คน 254 ครัวเรือน และมีเงินทุนมากถึง 10 ล้านบาท จากที่เริ่มต้นเพียง 2 ล้านบาทเท่านั้น และที่สำคัญหนี้นอกระบบในชุมชนหมดไปอย่างถาวร นำความสุขคืนสู่ชุมชนอีกครั้ง

การสร้างให้ชุมชนมีสุขภาวะที่ดีให้กับชุมชนนั้น การจัดการสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ดูเหมือนจะแก้ไม่ตก ยิ่งแก้ก็ยิ่งแย่ และยังใช้งบประมาณมหาศาลในการจัดการ ปัญหานั้นคือการจัดการขยะ

ที่เทศบาลตำบลหนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีประชากร 4,347 คน ประกอบด้วย 7 ชุมชน มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ ทำให้มีประชากรแฝงทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว แนวโน้มของปริมาณขยะจึงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนประสบปัญหาพื้นที่ทิ้งขยะแบบฝังกลบ 1.5 ไร่ ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการรองรับ ต้องขนไปทิ้งต่างพื้นที่

นายเกรียงไกร ทวีกาญจน์ นายกเทศมนตรีตำบลหนองพลับ บอกว่า ขยะที่จัดเก็บวันละประมาณ 3.2 ตัน เป็นขยะโรงงาน 1.9 ตัน และขยะชุมชน 1.3 ตัน จึงเกิดแนวคิดจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง คือระดับครัวเรือน โดยทำข้อตกลงกับชุมชน ยกเลิกการใช้ถังขยะขนาดใหญ่ 200 ลิตร เปลี่ยนมาเป็นขนาดเล็ก 20 ลิตร ยกเลิกถังขยะที่วางอยู่ริมทาง และริเริ่มชุมชนนำร่องจัดการขยะต้นทาง สู่ชุมชนลดการใช้โฟมและพลาสติก เทศบาล ได้ทำสัญลักษณ์ “แยกประเภทขยะ” เช่น การใช้ถุงแยกสี สติกเกอร์แยกประเภท เชือกสี เทปกาว หรือสัญลักษณ์อื่นๆ มีกิจกรรมรณรงค์ 3 ช. คือ “ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่” พร้อมๆ กับออกเทศบัญญัติการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยมาใช้ ส่งผลให้ชุมชนในเขตเทศบาลจัดการขยะเปียกในครัวเรือนได้ 100% ปริมาณขยะลดลงอย่างเห็นได้ชัด

เหล่านี้คือตัวอย่างของผู้นำในท้องถิ่นต่างๆ ที่มุ่งสร้างความสุขให้กับประชาชน สร้างชุมชนให้มีสุขภาวะที่ดี มีคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายทุกภาคส่วนในการหาทางออกให้ชุมชน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท