ชีวิตที่พอเพียง 3784. ทฤษฎีตัวยู



หนังสือเรื่อง Theory U : Leading From the Future as It Emerges  โดย C. Otto Scharmer แนะวิธีนำพลังแห่งอนาคตมาใช้เสริมพลังแก้ปัญหาสังคมในปัจจุบัน

มองจากมุมของ complex theory  อนาคตเป็นสิ่งที่มีการผุดบังเกิด (emergence)    ขึ้นอยู่กับคนระดับผู้นำว่าจะมองเห็นและจับมาใช้ได้เร็วหรือไม่    ปัญหาคือ คนเก่งมักปิดกั้นตนเองจากสิ่งที่ผุดบังเกิด    เพราะเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตมากเกินไป    จนไม่มีเครื่องมือตรวจจับสิ่งผุดบังเกิดที่มาจากอนาคต    เครื่องมือนั้นคือ ทฤษฎีตัว ยู   

ขาแรกของตัว U คือจินตนาการหรือความสร้างสรรค์    ขาหลังคือความเป็นจริง    มองมุมหนึ่ง ขาแรกคือ creativity    ขาหลังคือ critical thinking    ทั้งสองขาใช้การคิดร่วมกัน และคิดไปในทาง “เว่อร์”

สังคมโลกในปัจจุบัน กำลังเผชิญความท้าทายใหญ่ ๓ ประการ คือ 

  1. 1. หลังการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์  โลกทุนนิยมผงาด เกิดการผลักดันให้ภาครัฐเล็กลง และแปลงรัฐวิสาหกิจไปเป็นธุรกิจเอกชน    เกิดความท้าทายเรื่องความเท่าเทียมกันในสังคม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลต่อคนรุ่นใหม่ 
  2. 2. การเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สหประชาชาติ และธนาคารโลกเป็นจ้าว     เกิดความท้าทายเรื่องประชาธิปไตย ที่ผู้คนมีส่วนตัดสินใจอย่างแท้จริง  
  3. 3. เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมและจิตวิญญาณในโลก ที่ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอเติบโตขึ้นมาแสดงบทบาทระดับโลก    เป็นพลังด้านอ่อน  ไม่ใช้วิธีการรุนแรง (non-violence) ในการเปลี่ยนแปลงสังคม    เช่น  ขบวนการสิทธิพลเมือง ในช่วงทศวรรษ 1960    ขบวนการสันติภาพและสิทธิมนุษยชนในทศวรรษ 1980    ผู้คนให้ความสำคัญต่อพลังของ personal mastery  และ flow         

ทฤษฎีตัว ยู  ว่าด้วยการเดินทางของความคิด    จากคิดแบบจินตนาการ  สู่คิดบนฐานความจริง 

พลังความเป็นผู้นำอยู่ที่ ๓ ปัจจัยคือ what, how และ blind spot   

What หมายถึง ผลลัพธ์ที่ผู้นำทำให้เกิดขึ้น    how หมายถึงวิธีการที่ผู้นำทำหน้าที่ผู้นำ     ส่วน จุดบอด (blind spot) หมายถึงสิ่งที่มาก่อน what และ how    ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ก่อแรงบันดาลใจแก่ผู้นำ     

เพื่อเพิ่มพลังแห่งความสร้างสรรค์ (creativity)     ผู้นำต้องรู้วิธีทำความเข้าใจ “จุดบอด” ของตน   ให้กลายเป็น “จุดกระจ่าง”    นั่นคือ มีความสามารถ “เรียนรู้จากอนาคต”    ไม่ใช่แค่เรียนรู้จากอดีต    

เส้นทางสู่ความสร้างสรรค์สุดๆ เป็นรูปตัว U    คือดำดิ่งลงสู่ “จุดบอด” หรือความไม่ชัดเจน     แล้วผงาดขึ้นพร้อมกับแนวความคิด (idea) ใหม่  ที่ชัดเจน    ตอนดำดิ่งต้องไม่หลงติดกับความคิดแห่งอดีต และไม่หลงติดกับการตัดสิน (judgement)    จงอยู่กับการรับฟัง    อยู่กับใจที่เปิดกว้าง    รับฟังแบบ active listening    รับฟังแล้วนำมา “ครุ่นคิดพินิจนึก” (critical reflection) กับตัวเอง    ตั้งคำถามต่อตัวเอง    และอยู่กับความหวังและความฝัน   แล้วจงทะยานขึ้นจากแอ่งตัว U พร้อมกับความคิดใหม่ที่ค้นพบระหว่างช่วงดำดิ่งนั้น      

บนเส้นทางขึ้นสู่ขาหลังของตัว U    ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจว่า สิ่งที่ตนต้องการบรรลุคืออะไรแน่    แล้วทำความเข้าใจและค่อยๆ ทดสอบวิธีบรรลุแต่ละขั้นตอน    โดยแบ่งเป็นขั้นตอนเล็กๆ    อย่าหลงกระโจนทำแบบมูมมาม    ให้ “กินข้าวทีละคำ” ทำอย่างพินิจพิเคราะห์    ทำไปพร้อมกับตรวจสอบผล แล้วนำมาครุ่นคิดทำความเข้าใจ    ทำไป วัดประเมินผลไป นำมาเป็นข้อมูลป้อนกลับ สู่การเรียนรู้และปรับปรุง    นี่คือเส้นทางสู่การพัฒนา “ต้นแบบ” (prototype)   

จากนั้นจึงถาม ๓ คำถาม

  • เป็นเรื่องสำคัญต่อผู้เกี่ยวข้องหรือไม่
  • เป็นเรื่องใหม่หรือไม่
  • ทำให้สำเร็จในโครงการขนาดเล็กได้อย่างรวดเร็วหรือไม่   

หากคำตอบทั้งสามคือ “ใช่”   ก็เดินหน้าสร้างโครงการต้นแบบได้    จะเป็นโครงการที่ผู้เกี่ยวข้องเทใจและลงแรงสนับสนุน   และโอกาสสำเร็จจะสูงมาก  

     อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมตีความว่าเป็นการผสมผสาน ๓ ศาสตร์    (๑) การระดมความคิด ฟังผู้อื่น   (๒) การอยู่กับตัวเอง ถามใจตัวเอง  (๓) การใช้พลัง DE

 ขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว ที่ส่งหนังสือมาให้จากเยอรมนี

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ส.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 682440เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2020 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2020 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สถานการณ์ขณะนี้ของบ้านเมือง ต่างคนต่างต้องการเปลี่ยนแปลงตามวิถีแนวคิด ความเชื่อของตนเอง เป็นเรื่องปกติ หรืออย่างไรคะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท