คนรุ่นใหม่กับอนาคตประเทศไทย


การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่หรือระหว่างทุกฝ่ายจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง (Transformation) ในทุกมิติ

คนรุ่นใหม่กับอนาคตประเทศไทย

ประเวศ วะสี

  • คนรุ่นใหม่จะมาแทนคนรุ่นเก่า จึงเป็นอนาคตของประเทศไทย

คนรุ่นใหม่ยิ่งเก่งยิ่งดี อนาคตประเทศไทยยิ่งรุ่งโรจน์

  • คนรุ่นเก่าจึงควรถนอมรักคนรุ่นใหม่ และส่งเสริมให้เขาเก่งและดี

เขาก็คือลูกหลานของเรานั่นเอง

  • แต่ใหม่ไม่เหมือนเก่า เพราะสรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง

ตามพระพุทธดำรัส ไม่มีอะไรอยู่คงที่หรืออนิจจังโดยไม่เปลี่ยนแปลง

  • ที่เปลี่ยนก็เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เปลี่ยน หรือความเป็นเหตุเป็นผล

ที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่มีเหตุ

  • การที่ลูกหลานไม่เชื่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์เหมือนเดิม ไม่ใช่เขาเป็นคนเลว

ถ้าคิดว่าลูกเลว พ่อแม่จะมีความทุกข์สูงสุด

  • ทางพุทธศาสนาถือว่าทุกข์เกิดเพราะ “อวิชชา” หรือความไม่รู้ ไม่รู้ความจริง

ผมเคยอธิบายให้แม่ที่มีความทุกข์เพราะลูก หายทุกข์ทันทีเมื่อรู้ความจริง

  • ความจริงก็คือมีเหตุให้เป็นเช่นนั้น ในสมัยโบราณผู้เยาว์ได้รับข้อมูล

เฉพาะจากพ่อแม่และครู จึงเชื่อฟังพ่อแม่และครู

  • สมัยปัจจุบันข้อมูลมาจากทุกทิศทุกทาง อย่างหลากหลาย

คนรุ่นใหม่จึงไม่เชื่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เหมือนคนรุ่นเก่า

  • ยิ่งยัดเยียดยิ่งห้ามปราม ยิ่งอยากทำ เหมือนกันทั่วโลก

มันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะมีเหตุปัจจัยให้เป็นเช่นนั้น ตถตา

  • คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่มีจุดอ่อนจุดแข็ง ที่จะเสริมกัน

คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์ยาวแต่อนาคตสั้น คนรุ่นใหม่อนาคตยาวแต่ประสบการณ์สั้น

  • มหาตมะคานธีกล่าวว่า ถ้าคุณเรียนจากตำราคุณได้ความรู้

แต่ถ้าคุณเรียนจากประสบการณ์คุณได้ปัญญา

  • คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางปัญญาอย่างวิเศษ

แต่อาจขาดพลังขับเคลื่อนสู่อนาคต ที่คนรุ่นใหม่มีมากกว่า

  • ฉะนั้น การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ระหว่างเก่ากับใหม่

จะตอบโจทย์ได้ทั้งหมด และนำไปสู่ความสุขประดุจบรรลุนิพพาน

  • คนรุ่นเก่าก็ได้ถนอมรักลูกหลาน และเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่ก็จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของความล้มเหลวหรือสำเร็จของอดีต

  • ที่สำคัญ สมองส่วนวิจารณญาณสูงสุดที่เรียกว่า Prefrontal cortex

ของคนก่อนวัยเบญจเพส ยังพัฒนาไม่เต็มที่

  • คนรุ่นใหม่ที่ยังเยาว์วัยจึงถูกฮอร์โมนเร่งเร้าให้พุ่งทะยาน

อาจขาดความยับยั้งชั่งใจ ก่อความรุนแรงได้ง่าย

  • “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning to action) ในสถานการณ์จริง”

เป็นเครื่องมืออันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคและข้อจำกัดทุกเรื่อง

  • ทิศทางอนาคตประเทศไทยหลังโควิด และของโลก

จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทิศทางเดิมที่ล้มเหลวหมดยุคลงแล้ว

  • ทิศทางใหม่ต้องเริ่มต้นด้วยการเห็นหรือทิฏฐิใหม่ ทิฏฐิแปลว่าเห็น

การเห็นใหม่คือเห็นความจริง ทิศทางเก่าของโลกเห็นผิด จึงล้มเหลว

  • ที่ว่าเห็นผิดคือเห็นเป็นส่วนๆ หรือเห็นบางส่วน หรือเห็นแบบแยกส่วน

ความจริงคือธรรมชาติทั้งหมดเชื่อมโยงเป็นองค์รวม (Wholeness) หนึ่งเดียวกัน (Oneness)

  • เมื่อเห็นแบบแยกส่วนก็ทำอะไรๆ แบบแยกส่วน ซึ่งนำไปสู่การเสียสมดุลโลกเสียสมดุลหมดทุกมิติ จึงวิกฤต และโควิดจึงมา
  • ทิศทางอนาคตคือการเห็นทั้งหมด และพัฒนาอย่างสมดุล

การจัดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ

  • ตั้งแต่ชุมชนขนาดเล็กที่คนอยู่ร่วมกันด้วยความสุขไปจนถึงชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับตามสมรรถนะของ การจัดการให้มีความสมดุล
  • การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่หรือระหว่างทุกฝ่ายจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง (Transformation) ในทุกมิติ
  • ที่ยิ่งทำยิ่งรักกันมากขึ้น ยิ่งไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Trust)  มากขึ้น

ยิ่งเสมอภาคและมีภราดรภาพมากขึ้น ยิ่งฉลาดมากขึ้น ยิ่งฉลาดร่วมกัน (Collective wisdom) มากขึ้น ยิ่งเกิดนวัตกรรมและอัจฉริยภาพกลุ่ม Group genius มากขึ้น

ยิ่งสามารถฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จมากขึ้น ยิ่งมีความสุขมากขึ้นประดุจบรรลุนิพพาน

แทนที่จะมีความทุกข์เพราะคนรุ่นใหม่ กลับกลายเป็นความสุขร่วมกัน ประดุจบรรลุนิพพาน เพราะความสิ้นไปของ “อวิชา” โดยแท้

---------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 682176เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2020 06:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2020 06:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท