ชีวิตที่พอเพียง 3775. เล่าไว้ในวัยสนธยา 24. เด็กหัวรั้น



ขอเชื่อมโยงเรื่องเด็กหัวรั้น ที่ผู้ใหญ่ระอา เข้ากับคุณลักษณะหรือสมรรถนะ critical thinking ที่วงการพัฒนามนุษย์สมัยนี้ต้องการนักหนา โดยรำลึกถึงชีวิตสมัยเด็กมากๆ ของตนเองมาประกอบ  

ได้เล่าแล้วว่า ตอนผมอายุระหว่าง ๖ - ๑๕ ขวบ นั้น แม่เป็นห่วงมากว่าจะเสียคน    จะมีชีวิตที่ดีไม่ได้    เพราะเป็นเด็กไม่ไหน    ผู้ใหญ่สอนอะไรชอบเถียง     ได้ชื่อว่าเป็นเด็กหัวรั้น    จำได้ว่าตอนเป็นเด็กอายุราวๆ ๘ - ๙ ขวบ เป็นช่วงที่ใกล้ชิดปู่มาก    และปู่ก็ชอบเล่าหรือสอนเรื่องต่างๆ    แล้วผมก็เถียง  จนปู่โมโห  ว่าผมเป็นเด็กที่ไม่เคารพผู้ใหญ่    เอาไปฟ้องพ่อ    ทำให้ผมโดนเฆี่ยน    การโดนพ่อเฆี่ยนนั้น ทำเป็นพิธีและเฆี่ยนแรงมาก    เจ็บปวดรวดร้าวทั้งกายและใจ    เพราะใจมันบอกว่าผมไม่ผิด  

เหตุการณ์ที่ปู่ฟ้องพ่อเช่นนี้ เกิดบ่อย    ในลักษณะที่ผมโดนลงโทษแล้วก็ยังไม่หลาบจำ     ในที่สุดผมก็อุทธรณ์กับพ่อว่า    ก็ที่ปู่พูดนั้นมันไม่ถูก (ไม่ถูกจากมุมมองของเด็กนะครับ)     ผมจึงได้รับคำแนะนำว่า เมื่อปู่พูด จะถูกหรือผิดก็ห้ามเถียง     แต่ อนิจจา ตอนนั้น EF ของผมมันไม่แข็งแรง    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วน self-regulation     ผมจึงอดไม่ได้ที่จะเถียงปู่    นั่นคือด้านลบของชีวิต ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติของตนเอง     ที่เกิดมาเป็นเช่นนั้น คือใครว่าอย่างไรขอคิดดูก่อน ยังไม่ปลงใจเชื่อ    และที่ร้ายกว่านั้น มีจุดแย้งได้ทุกที    เป็นธรรมชาติหรือนิสัยติดตัวที่ก่อผลร้ายรุนแรงดังเล่าแล้ว

แต่บัดนี้ มีแนวคิด และผลการวิจัยเรื่องการเรียนรู้มากมาย    และบอกว่ามนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องมีคุณสมบัติสองขั้วตรงกันข้ามคู่หนึ่ง ที่เรียกว่า Creativity  กับ Critical Thinking    ซึ่งเมื่อผมคิดใคร่ครวญไตร่ตรองอยู่หลายปี ก็สรุปว่า มันคือความหัวรั้นนั่นเอง     ภาษาพระเรียกว่าปฏิบัติอย่างมีวิจารณญาณ ตามกาลามสูตร    ที่พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าเชื่อง่าย ต้องเชื่อตนเองหลังจากทบทวนไตร่ตรองดีแล้ว    ที่จริงปู่ของผมถือว่าเป็นปราชญ์ในสมัยนั้นนะครับ     แต่ท่านคงไม่ได้ทบทวนเรื่องกาลามสูตรเอามาใช้กับผม   

แต่ลูกๆ ผมโชคดีครับ    ผมคิดอยู่เสมอว่า ผมมีนิสัยไม่ดีที่เป็นเด็กหัวรั้น    แต่ก็ยังเติบโตได้ดิบได้ดีถึงขนาดนี้ได้    เมื่อลูกๆ ๔ คนของผมแสดงความหัวรั้นเอากับผม    ผมจึงเตือนสติตนเองว่า นั่นแหละตัวผมที่ทำกับพ่อแม่และปู่    ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจเรื่องวิจารณญาณหรือ critical thinking นะครับ    

ผมเข้าใจว่า เด็กหัวรั้น คือเด็กที่มีธรรมชาติมีความคิดของตนเอง    หากผู้ใหญ่อดทนและใช้เวลาฟังความคิดของเขา และเสวนาให้เห็นว่ามีวิธีคิดแบบอื่นด้วย    เด็กก็จะพัฒนาปัญญาได้ลึกและเชื่อมโยง     ยิ่งมี critical thinking ที่สูงยิ่งขึ้น        

วิจารณ์ พานิช

๖ ส.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 681639เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2020 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2020 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท