อ่อนแอบ้างก็ได้ : ทำไม ‘เมตตาต่อตนเอง’ จึงเป็นกุญแจเรียนรู้ความล้มเหลวที่ดีกว่า



       อ่อนแอบ้างก็ได้ : ทำไม ‘เมตตาต่อตนเอง’ จึงเป็นกุญแจเรียนรู้ความล้มเหลวที่ดีกว่า

การเมตตาตนเองต่อความผิดพลาด (Self- Compassion) เป็นหนึ่งในแนวทางของพุทธศาสนาที่ไร้กาลเวลา ในขณะเดียวกันก็ได้รับความสนใจจากจิตวิทยาฝั่งตะวันตก ท่ามกลางความผิดพลาดที่เราก่อไว้ ผู้คนส่วนหนึ่งถือโทษและโบยตีตัวเองเพื่อหวังให้เก่งขึ้นโดยใช้ความเจ็บปวดเป็นแรงขับเคลื่อน บ้างก็ว่าการเมตตาตัวเองอยู่เนือง ๆ เป็นเพียงแค่ข้ออ้างของคนอ่อนแอ และพวกยึดถือตนเองเป็นจุดศูนย์กลาง (Egocentric) เท่านั้น

ระยะหลังๆ Life Coaching หลายสำนัก จึงหยิบแนวคิดเรื่องเมตตาต่อตนเองมาใส่ในหลักสูตรบ้าง แต่เราใช้มันเพื่อตามหาความสำเร็จเท่านั้นหรือ และการเมตตาต่อตนเองอย่างเข้าใจกลไกจิตวิทยาร่วมด้วย พาเราไปเรียนรู้ความผิดพลาดที่เผชิญหน้าอยู่ที่ดีกว่า

บทเรียนช้ำๆ จากความรู้สึกไม่เก่ง

“ทุกครั้งที่เจออุปสรรค ผมมักบอกตัวเองว่า ผมมันไม่เก่ง มันต้องมีวิธีที่ดีกว่า ทำให้เราเก่งกว่านี้”

เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนระบายอย่างเจ็บช้ำน้ำใจ เมื่อความผิดพลาดของเขาในสายอาชีพการเงิน สร้างความเสียหายให้กับบริษัท แต่นายคนนี้ก็มิได้กล่าวโทษคนอื่นเลย ยอมรับความผิดพลาดแต่เพียงผู้เดียว เพราะการบอกว่า ‘ตัวเองไม่เก่ง’ ซ้ำๆ ย้ำเตือนใจ

หลังจากนั้นเขาจึงทุ่มเทเวลาถึง 3 ใน 4 ของชีวิตไปกับการทำงาน เข้างานคนแรกกลับตี 3 ติดๆ กันเป็นเดือนๆ โดยคิดว่าความทุ่มเทเหนือกว่าคนอื่นจะเป็นบันไดพัฒนาความสามารถ ดังนั้นเมื่อเผชิญความผิดพลาดเล็กน้อย นายคนนี้จึงเลือกโบยตีตัวเองด้วยงานที่หนักว่า 2 – 3 เท่า เพื่อสร้างแผลเป็นตอกย้ำไปอีก

ไม่นานภาวะวิตกกังวลและความเครียดที่สะสมเริ่มส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน บริษัทจึงขอพักงานโดยไม่มีกำหนด เขากลายเป็นคนว่างงานในบัดดลและสูญเสียความเป็นตัวตนไปไม่ใช่น้อย

เพื่อเก็บชิ้นส่วนใจที่แตกหัก เขาตระเวนไปฟังนัก Life Coaching เข้าๆ ออกๆ หลายสำนัก ค่าลงทะเบียนรวมๆ ก็ปาไปหลายหมื่นบาท ทุกครั้งที่ไปร่วมมักจะรู้สึกดี แต่หลังจากกลับมาบ้านก็อดไม่ได้ที่จะต่อว่าตัวเองเมื่อส่องกระจกเงา กลายเป็นว่าต้องไปฟังบ่อยๆ เพื่อฟื้นฟูความมั่นใจตัวเองคืนมาหรือเป็นการยอมรับโดยดุษณีแล้วว่า คนที่เขาเกลียดมากที่สุดคือตัวเอง

ระเบิดเวลาจากการยอมไม่เป็น

หลายคนมองความล้มเหลวเป็นบททดสอบตัวเองที่ท้าทาย แต่เลือกวิธีแบบทำลายตัวเอง (Self-Destructive) เพื่อแก้ปัญหาและกลบความอ่อนแอมิให้ปรากฏต่อสายตาผู้อื่น ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่ผิดฝาผิดตัวอยู่สักหน่อย จนระยะหลังๆ มี solution ในการพัฒนาตัวเองผ่านมุมมองของศาสนาพุทธบ้าง อย่างแนวคิดเรื่องการเมตตา (Compassion) ที่ไม่ได้เพียงต้องเมตตาต่อผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ การเมตตาต่อตนเอง (Self-Compassion) เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์เลวร้าย โดยจัดเป็นการยับยั้งความคิดอันชั่ววูบก่อนกล่าวโทษตนเองอย่างไร้เหตุผล


กระนั้นแนวคิดการเมตตาต่อตนเองก็ไม่ได้แปลกใหม่ซับซ้อนเสียจนต้องทำความเข้าใจใหม่ เมตตา เป็นคุณภาพจิตอย่างหนึ่ง อยู่ในหมวด ‘พรหมวิหาร’ เป็นเรื่องของการพัฒนาจิตให้มีคุณภาพ เหมือนการที่คุณปรารถนาดีต่อตัวเองพอๆ กับมอบความปรารถนาดีนั้นแก่ผู้อื่น และไม่คิดว่าตนเองอยู่ในสถานะที่สูงส่งกว่า โดยมีหัวใจยอมรับ ‘ความรู้สึกของตนเอง’ ทั้งในแง่บวกและลบ มิใช่การมุ่งปรารถนาที่จะเก่งขึ้นจากความผิดพลาดเพียงอย่างเดียว

จิตวิทยาเองก็เห็นประโยชน์ของแนวคิดนี้เช่นกัน กระบวนการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม หรือรู้จักกันในนาม CBT (Cognitive behavioral therapy) ก็มีรากฐานบนการยอมรับความรู้สึกของตนเองก่อนแล้วค่อยๆ โยงใยไปที่ปัญหาที่ต้องการปรับแก้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมักใช้รักษาอาการซึมเศร้าเรื้อรังหรืออาการทางจิตอื่นๆ ที่หลงผิดจากกรอบความคิดที่ผู้ป่วยมักสร้างขึ้นมา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แนวคิดความเมตตาต่อตนเองกลายเป็นแนวคิด ‘กระแสหลัก’ (Mainstream) มากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่สำนัก Life Coaching ทั่วโลก หนังสือแนวพัฒนาตัวเองและนักพูดชั้นนำที่ชี้ทางแรงบันดาลใจในฝั่งตะวันตก แต่อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนมากมองการเมตตาต่อตนเองเป็นข้ออ้างของคนที่เตรียมตัวแพ้มาจากบ้าน และคิดตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric) กลัวถูกกล่าวหาว่าอ่อนไหวง่าย จึงสร้างคุกน้ำแข็งหนาๆ ปกปิดความรู้สึกไว้

รูปแบบความคิดเช่นนี้ สืบเนื่องจากที่พวกเขามองการเมตตาต่อตนเองอยู่บนเส้นขนานเดียวกับการพัฒนาตนซึ่งผิดวิสัยอันแท้จริงไปอยู่มาก การทำความเข้าใจตัวเองเมื่ออยู่ภายใต้ความล้มเหลวจึงจำเป็น แต่ความกระหายผลลัพธ์อันจับต้องได้จากปลายอุโมงค์จึงไม่นำมาสู่ความเมตตาต่อตนเองอย่างแท้จริง

วิถีแห่งพุทธกับจิตวิทยา

หลักปฏิบัติตนตามแนวทางของศาสนากับจิตวิทยาสอดประสานกันได้อย่างดี งานวิจัยเริ่มก่อเป็นรูปเป็นร่างคล้ายก้อนอิฐชิ้นน้อยๆ ในช่วงปี 1990 เป็นต้นมา โดยนักจิตวิทยากลุ่มแรกๆ มีการปรับใช้ ‘อานิสงส์ของเมตตาจิต’ ในการฝึกบำบัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในการดำรงชีวิตประจำวันของพวกเรา


Kristin D. Neff นักจิตวิทยาสาวจากมหาวิทยาลัย Texas ในรัฐ Austin เริ่มมองเมตตาจิตในลักษณะ Scientific study ในการบำบัดผู้ป่วย โดยเน้นลดประสบการณ์ความเจ็บปวด และการเปิดใจยอมรับเงื่อนไขของชีวิตที่ไม่ได้เป็นไปตามหวัง โดยนักจิตวิทยากลุ่มแรกๆ ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของนักเขียนหญิงชื่อดัง ชารอน ซัลซ์เบิร์ก’ (Sharon Salzberg) ที่มักเล่าประสบการณ์การเจริญสติของเธอตลอด 25 ปีในทวีปเอเชีย ผ่านมุมมองความเมตตาและบำบัดความว้าวุ่นด้วยสมาธิที่ไม่เคร่งครัดนัก เข้าถึงง่ายในมุมมองชาวตะวันตก ผ่านหนังสือหลายเล่มโดยเฉพาะ Loving Kindness จุดประกายนักจิตวิทยาฝั่งตะวันตก หา Solution ผ่านพุทธศาสนาบ้าง โดยมีหลักยึด 3 สิ่งเป็นหัวใจ

  • เมตตาต่อตนเองเมื่อเผชิญกับช่วงเวลาอันยากลำบาก
  • มองความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นด้วยสติ
  • ปฏิบัติต่อความทุกข์ทรมานเฉกเช่นสิ่งปกติสามัญอันเกิดขึ้นกับธรรมชาติทั้งปวง

3 สิ่งนี้ที่ Kristin D. Neff เอามาปรับใช้ในงานวิจัยทางจิตวิทยาของเธอ โดยวิเคราะห์ผู้ป่วยจากสเกลเบื้องต้น และเป็นคำถามแรกๆ ที่เธอมักถามผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในแวดวงจิตวิทยาถึงผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม คนที่วิเคราะห์ตัวเองว่ามีความเมตตาจิตต่อตนเอง มักมีแนวโน้มที่ลดความวิตกกังวลและความซึมเศร้าเช่นกัน

ดังนั้นการเมตตาต่อตนเองจึงเชื่อมโยงกับ ‘ความยืดหยุ่น’ ในการตอบสนองสิ่งเร้าในเชิงจิตวิทยา (Resilient) คือไม่แข็งขืนไปนักเมื่อเผชิญปัญหา ไม่อ่อนไหวจนกลืนกินตัวตนเดิมๆ ของเราไป และสามารถกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้เมื่อความเศร้าทุเลาลง คนกลุ่มนี้จึงสามารถฟื้นฟูตัวเองกลับมาได้ไวกว่าคนที่เอาแต่เวทนาตัวเอง หรือยึดติดกับการวิพากษ์วิจารณ์

ไหนๆ ก็อ้างงานวิจัยของ Kristin D. Neff มาแล้ว ลองมาถามตัวเองง่ายๆ เพื่อให้เห็นภาพความแตกต่างระหว่างคนที่เมตตาต่อตนเองสูง กับคนที่มีความเมตตาต่อตนเองต่ำ ว่ามองปรากฏการณ์ชีวิตอย่างไร

  • คุณมองความล้มเหลวของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติมนุษย์
  • หรือมีอารมณ์ร่วมกับความล้มเหลวทุกครั้งไป
  • เมื่อเผชิญกับความยากลำบาก พยายามควบคุมตัวเองให้คืนสู่สมดุลชีวิต
  • หรือทุกครั้งที่มีความทุกข์ คิดว่าคนอื่นๆ มีความสุขมากเกินไปสำหรับคุณ
  • พยายามปรับปรุงนิสัยส่วนตัวที่ตัวเองไม่ชอบ
  • หรือท้ายสุดมักตกอยู่ในความคิดว่า ตัวเองไม่เก่งเอาซะเลย

คำถามเหล่านี้เมื่อคุณใช้ถามตัวเอง มันไม่ได้มีลักษณะ ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่’ แต่เป็นการให้สเกลจากมากไปน้อย ซึ่งเราต้องยอมรับว่าความทุกข์นั้นใครๆ ก็มี ไม่มีใครชัวร์จุดยืนตัวเองเป็น 100% เต็ม หรือใครอยากลองเข้าไปทำแบบฝึกที่ออกแบบไว้โดย Kristin Neff ก็ลองดูได้

การปรับปรุงความเมตตาทีละน้อยๆ ของตนเอง เริ่มจาก ‘ความปรารถนาดี’ ไม่ใช่แค่ ‘รู้สึกดี’ เมื่อใช้เมตตาเพียงเพราะความรู้สึกล้วนๆ เรามักเผลอไปกดทับความทุกข์ไว้ แต่มันควรเริ่มจากการยอมรับความรู้สึกแย่ๆ ที่ถาโถมมาอย่างพิจารณา แล้วค่อยๆ ตอบสนองด้วยเมตตาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

แต่บางคนพบว่าเมื่อทำแล้ว ความเจ็บปวดกลับเพิ่มทวีคูณ หวาดกลัวอดีตที่ตามหลอกหลอน เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Backdraft เป็นศัพท์เทคนิคของเหล่านักผจญเพลิงที่ต้องจำขึ้นใจทุกครั้งก่อนที่พวกเขาจะบุกเข้าไปในบ้านที่กำลังถูกไฟไหม้ ประตูที่เปิดออกจะดูดออกซิเจนจากภายนอกเข้าไปเฮือกหนึ่งก่อให้เกิดไฟโหมกระหน่ำรุนแรงที่มักสร้างความตกอกตกใจ คล้ายกับการที่เราเปิดประตูหัวใจให้ความทรงจำเก่าๆ อันแสนเจ็บปวดพรั่งพรูออกมา


ความเมตตาต่อตนเองไม่ใช่สูตรสำเร็จในชีวิตที่จะนำพาเราไปสู่ความเก่งกาจ หน้าที่การงาน ชื่อเสียง เงินทอง ที่ใครๆ ต่างค้นหา หากแต่เป็นกระบวนการแรกๆ ที่เราจะถอยหลังออกมาก้าวหนึ่ง แล้วมองภาพรวมของตัวเองเมื่อห้อมล้อมไปด้วยความทุกข์ มิใช่เครื่องมือของผู้โหยหาความรักหรือการบังคับใจผู้อื่นให้มายอมรับตน

เรากับความเศร้าแยกกันไม่ขาด ต่างเชื่อมโยงผูกพันกันในฐานะประสบการณ์อันมีเครือข่ายความสัมพันธ์ซับซ้อน ความไม่เศร้าเอาเสียเลย จึงเป็นความผิดแปลกทางธรรมชาติไม่ใช่น้อย

อ้างอิงข้อมูลจาก

self-compassion.org

The Revolutionary Art of Happiness

อนงค์ภาณุช

9 สิงหาคม 2563

    หมายเลขบันทึก: 680265เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2020 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2020 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท