คาถาวันตรัสรู้ จากหนังสือ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์


                                                                           

เดือนสิงหาคม 2563 นี้ ผมกลับมาอ่านหนังสือ “พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ (ฉบับเล็ก) แปลโดยพุทธทาสภิกขุ อีกครั้งครับ ความรู้สึกที่ได้อ่านใหม่ทำให้เข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น เทียบกับตอนแรกยังไม่เข้าใจคำบางคำ วลีบางวลี แต่พอมาอ่านใหม่ก็เข้าใจมากขึ้น หรือ ไม่สนใจประโยคนั้นละ 555   พออ่านไปอ่านไปผมจะยิ่งซาบซึ้งมากในรสพระธรรม โดยเฉพาะท่อนที่เกี่ยวกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถึงพระองค์เองได้อย่างดีที่สุด มีเนื้อหาธรรมะแทรกอยู่ดวย  หลวงพ่อพุทธทาสท่านอยากให้คนไทยมีเล่มนี้ไว้ติดตัวคล้ายกับที่คริสตศาสนิกชนมีคัมภีร์ไบเบิลไว้ติดตัวครับ

ยังไงๆก็ฝากอ่านเล่มนี้ด้วยครับ   ปล.ผมอยากฝากพระสูตรที่ผมชอบมากบทหนึ่ง เป็นคาถาสวดมนต์ด้วยครับ

                                สิ่งที่ตรัสรู้

ภิกษุทั้งหลาย มีสิ่งที่แล่นดิ่งไปสุดโต่งอยู่สองอย่างที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะด้วย  สิ่งที่แล่นไปสุดโต่งนั้นคืออะไร? คือ 1.การประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย อันเป็นการกระทำที่ยังต่ำเป็นของชาวบ้าน เป็นของคนชั้นปุถุชน ไม่ใช่ของอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์  และ 2.การประกอบความเพียรในการทรมานตนให้ลำบาก อันนำมาซึ่งความทุกข์ ไม่ใช่ของอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์  สองอย่างนี้แล.

ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางที่ไม่ไปหาสิ่งสุดโต่งสองอย่างนั้น  เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตตรัสรู้เฉพาะแล้ว  เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดจักษุ  ทำให้เกิดญาณ  เป็นไปเพื่อความสงบ  เพื่อความรู้อันยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน

ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางที่ไม่ไปหาสิ่งสุดโต่งสองอย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า? 

คือข้อปฏิบัติอันเสมือนหนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปดประการนี่เอง  แปดประการคืออะไรเล่า? ความเห็นที่ถูกต้อง ความดำริที่ถูกต้อง การพูดจาที่ถูกต้อง การทำการงานที่ถูกต้อง การอาชีพที่ถูกต้อง ความพากเพียรที่ถูกต้อง ความรำลึกที่ถูกต้อง ความตั้งใจมั่นที่ถูกต้อง  ภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง ที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดจักษุ ทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้อันยิ่งเพื่อความตรัสรู้พร้อมเพื่อนิพพาน 

ภิกษุทั้งหลาย! นี้แล คือ ความจริงอันประเสริฐ เรื่อง ความทุกข์ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อ ขันธ์ห้าที่ประกอบด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย! นี้แล คือ ความจริงอันประเสริฐ เรื่อง แดนเกิดของความทุกข์ คือ ตัณหา อันเป็นเครื่องทำให้มีการเกิดอีก อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน อันเป็นเครื่องทำให้เพลิดเพลินอย่างยิ่ง ได้แก่ ตัณหาในกาม ตัณหาในความมีความเป็น ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น

ภิกษุทั้งหลาย! นี้แล คือ ความจริงอันประเสริฐ เรื่อง ความดับไม่เหลือของความทุกข์ คือ ความดับสนิทเพราะจางไปโดยไม่เหลือของตัณหานั้นนั่นเอง คือความสลัดทิ้ง ความสลัดคืน ความปล่อย ความทำไม่ให้มีที่อาศัยซึ่งตัณหานั้น

ภิกษุทั้งหลาย! นี้แล คือ ความจริงอันประเสริฐ เรื่องข้อปฏิบัติอันทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือของความทุกข์ คือข้อปฏิบัติอันเสมือนหนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปดประการนี่เอง  แปดประการคืออะไรเล่า? ความเห็นที่ถูกต้อง ความดำริที่ถูกต้อง การพูดจาที่ถูกต้อง การทำการงานที่ถูกต้อง การอาชีพที่ถูกต้อง ความพากเพียรที่ถูกต้อง ความรำลึกที่ถูกต้อง ความตั้งใจมั่นที่ถูกต้อง

ภิกษุทั้งหลาย! จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นึ้คือความจริงอันประเสริฐ คือ ความทุกข์, เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้  เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์นี้  เราตถาคตกำหนดรู้รอบแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย! จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นึ้คือความจริงอันประเสริฐ คือ แดนเกิดของทุกข์, เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐคือ แดนเกิดของทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรละเสีย เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐคือแดนเกิดของทุกข์นี้  เราตถาคตละได้แล้ว.  

ภิกษุทั้งหลาย! จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นึ้คือความจริงอันประเสริฐ คือ ความดับไม่เหลือของความทุกข์, เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือของความทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควร ทำให้แจ้ง,  เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของความทุกข์นี้  เราตถาคตได้ทำให้แจ้งแล้ว.  

ภิกษุทั้งหลาย! จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เกิดขึ้นแก่เราว่า นึ้คือความจริงอันประเสริฐ คือ ข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือของความทุกข์ , เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐคือ ข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือของความทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดมี,  เกิดขึ้นแก่เราว่า ก็ความจริงอันประเสริฐคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือของความทุกข์นี้  เราตถาคตได้ทำให้เกิดมีแล้ว.  

ภิกษุทั้งหลาย!ตลอดกาลเพียงไร ที่ญาณทัศนะเครื่องรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา อันมีปริวัฏฏ์สาม  มีอาการสิบสอง ในอริยสัจทั้งสี่ เหล่านี้ยังไม่เป็นญาณทัศนะที่บริสุทธิ์สะอาดด้วยดี ตลอดกาลเพียงนั้น เรายังไม่ได้ ปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่ง อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพรามณ์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์.

ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อใดญาณทัศนะเครื่องรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา อันมีปริวัฏฏ์สาม  มีอาการสิบสอง ในอริยสัจทั้งสี่ เหล่านี้เป็นญาณทัศนะที่บริสุทธิ์สะอาดด้วยดี   เมื่อนั้นเราก็ปฏิญญาว่าเป็นผู้ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่ง อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพรามณ์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์.

<บาลี  มหาวาร, สังยุตนิกาย ๑๙/๕๒๘/๑๖๖๔, ตรัสแก่ภิกษุทั้งห้าที่อิสิปตนมฤคทายวัน.>

หมายเลขบันทึก: 679857เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2020 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2020 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท