ตอนที่ 3 การใช้กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารปลา


วัตถุดิบอาหารปลา

วัตถุดิบอาหารสัตว์สำหรับการผลิตอาหารปลาดุกลูกผสมให้มีโปรตีน 20 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยปลาป่น กากถั่วเหลือง รำละเอียด ปลายข้าว และพรีมิกซ์ ปลาป่นเป็นวัตถุดิบที่นิยมใช้ในการผลิตอาหารปลา เนื่องจากปลาป่นมีโปรตีนที่มีคุณภาพสูง ประมาณ 55-60 เปอร์เซ็นต์ มีกรดอะมิโนที่จำเป็นครบถ้วนทุกชนิด มีแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสในปริมาณมาก และยังมีกลิ่นที่ดีช่วยกระตุ้นให้ปลามีความต้องการกินอาหารได้มากขึ้น ปลาป่นที่นำมาใช้ในการผลิตอาหารปลาควรมีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นไหม้ และปราศจากการปลอมปน แต่ในปัจจุบันปลาป่นที่มีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาดมีการปลอมปนกันมาก โดยส่วนใหญ่แล้ววัตถุดิบที่นำมาปลอมปนได้แก่ ทรายละเอียด เปลือกหอย ยูเรีย ขนไก่ และสารปลอมปนอื่นๆ จึงทำให้คุณภาพทางโภชนาการของปลาป่นลดลง สาเหตุที่ต้องมีการปลอมปนเนื่องมาจากปลาป่นมีราคาแพงทำให้มีการนำเอาวัสดุที่มีราคาถูก หรือมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำใส่ปนเข้าไป เพื่อขายปลาป่นให้ได้ในปริมาณที่มากขึ้น การแก้ไขทางหนึ่งคือ การนำปลาป่นไปวิเคราะห์ทางเคมีในห้องปฏิบัติการ หรืออาจเลือกใช้กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบของส่วนผสมหลักในอาหารให้มากขึ้น เนื่องจากกากถั่วเหลืองมีคุณค่าทางโปรตีนใกล้เคียงกับปลาป่น ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการนำเอาน้ำมันออกจากเมล็ดถั่วเหลือง กากถั่วเหลืองที่นิยมใช้ในการผลิตอาหารปลามี 3 ลักษณะได้แก่ กากถั่วเหลืองอัดน้ำมัน กากถั่วเหลืองสกัดน้ำมันชนิดไม่กะเทาะเปลือก และกากถั่วเหลืองสกัดน้ำมันชนิดกะเทาะเปลือก กากถั่วเหลืองชนิดอัดน้ำมันมีไขมันประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ จึงเก็บไว้ได้ไม่นาน แต่กากถั่วเหลืองสกัดน้ำมันมีไขมันเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ จึงเก็บไว้ได้นานกว่า กากถั่วเหลืองสกัดน้ำมันชนิดกะเทาะเปลือกมีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่ากากถั่วเหลืองสกัดน้ำมันชนิดไม่กะเทาะเปลือก กล่าวคือ กากถั่วเหลืองสกัดน้ำมันชนิดกะเทาะเปลือกมีโปรตีน 50 เปอร์เซ็นต์ มีเยื่อใย 4 เปอร์เซ็นต์ .ในขณะที่กากถั่วเหลืองสกัดน้ำมันชนิดไม่กะเทาะเปลือกมีโปรตีน 45 เปอร์เซ็นต์ มีเยื่อใย 74 เปอร์เซ็นต์ ในการผลิตกากถั่วเหลืองต้องมีเรื่องของความร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าใช้ความร้อนน้อยเกินไปจะทำให้สารยับยั้งทริพซินในกากถั่วเหลืองไม่ถูกทำลาย และเป็นอันตรายต่อปลา แต่ถ้าใช้ความร้อนมากเกินไป กากถั่วเหลืองจะมีกลิ่นไหม้ และกรดอะมิโนไลซินจับตัวกับน้ำตาลทำให้ความต้องการกินอาหารของปลาลดน้อยลง การนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อยลง ส่งผลถึงการเจริญเติบโตที่ช้า แต่กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ที่ต้องมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ปีหนึ่งเป็นมูลค่าที่มาก ดังนั้นถ้าหากสามารถนำกากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมันมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์น้ำทดแทนหรือเป็นส่วนหนึ่งของสูตรอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำได้ ก็จะเป็นการลดการสูญเสียจนตราที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ จากต่างประเทศลงได้

อ.วีรชัย เพชรสุทธิ์* อาจารย์สาขาวิชาการประมง (เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ) มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร
คำสำคัญ (Tags): #บทความวิชาการ
หมายเลขบันทึก: 67974เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2006 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท