จากกรณีศึกษา "ลูกรักไม่กินผัก" ถึงการเรียนการสอนสุขศึกษา


ผมเขียนเรื่อง “ลูกรักไม่กินผัก” เป็นบทความหนึ่งหน้าไว้ในนิตยสาร “รักลูก” ปีที่ 8 ฉบับที่ 90 กรกฎาคม 2533 ดังต่อไปนี้

“เที่ยงกว่าแล้วทุกคนกำลังหิว​ เลยลิ่วเข้าไปในร้านก๋วยเตี๋ยว​ โชคดีที่ได้โต๊ะนั่งสี่คนพอดี​ ผมสั่ง​เส้นหมี่​ลูกชิ้นของโปรดให้ลูกสาว​ ความรีบทำให้ลืมต่อท้ายคำสั่งว่า “ไม่ใส่ผัก” จึงเป็นภาระของผมที่จะต้อง​บรรจงเขี่ย​ใบหอมและใบผักชีที่ซ่อนตัวอยู่ระหว่างเส้นหมี่ออกทีละชิ้นๆ หลังจากที่ตรวจสอบด้วยความรอบคอบว่า ไม่มี​เศษผักหลงเหลืออยู่อีกแล้ว ลูกรักจึงยอมกินเส้นหมี่ลูกชิ้นชามนั้น ตั้งแต่วันนั้นมาผมก็คิดว่าคงจะต้องหาทางแก้ไข​ก่อนที่ปัญหาจะมากไปกว่านี้

อาหารมื้อเย็นวันอาทิตย์บ้านผมจะเป็นข้าวต้ม เหตุผลสำคัญก็เพื่อลดภาระในการคิดกับข้าวไปมื้อหนึ่ง​ กับข้าวข้าวต้มเป็นของทำง่าย มักจะมีไข่เค็ม ยำกุ้งแห้ง และไก่หรือหมูต้มเป็นของประจำ​ ผมขอให้แม่ครัว​เพิ่ม​อาหารประจำขึ้นอีกหนึ่งจานคือ ผัดผักบุ้ง​ ต่อมาทุกเย็นวันอาทิตย์จึงมีผัดผักบุ้งด้วยทุกครั้ง จานผักบุ้งจะตั้งอยู่​ตรงหน้าที่นั่งผมเป็นประจำ เพราะผมเป็นคนสั่งกับข้าวจานนี้ และที่สำคัญกว่านั้นคือไม่มีใครต้องการ ผมกินผักบุ้ง​จนหมดจานเกือบทุกครั้ง บางระยะผักบุ้งราคาถูก ผัดผักบุ้งจะจานใหญ่เกินกว่าที่ผมจะกินหมด ต้องกระซิบ​แม่ครัวให้เลือกเอาแต่ใบ ก้านผักบุ้งให้ทิ้งไปเสียบ้าง ภรรยาผมถามว่าชอบผักบุ้งมากนักหรือ เลยบอกตาม​ความจริงไปว่า​ ชอบแต่ไม่มากนักดอก ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อจะหัดให้ลูกกินผัก

เมื่อทราบเหตุผลเข้า ภรรยาผมเลยช่วยแบ่งภาระในการกินผักบุ้งไปจากผมบ้าง​ แล้วเริ่มบรรยาย​คุณสมบัติ​ทางโภชนาการของผักบุ้งว่าประกอบด้วยแร่ธาตุ​และ​วิตามินต่างๆ เธอถาม​ลูกคนโตว่าที่โรงเรียน​มีสอนเรื่องนี้​หรือ​เปล่า ลูกคนโตยอมรับว่ามี แม่จึงตักให้ลูกคนโตลองชิมดูสักคำ ปากพูดไป​ด้วยว่า แม้แต่พ่อโตแล้ว​ยังกินเป็น​ประจำ​เพื่อรักษาสุขภาพ​ เป็นไงพอใช้ได้ไหม ลูกคนโตพยักหน้า ลูกคนเล็ก​ขอลอง​ดูบ้าง คนโตรีบมาตักเองแถมอีก​หนึ่งคำ​เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของพี่ คนเล็กไม่ยอมแพ้ เรียกร้องขอคำที่สองบ้าง​ หลังจาก​วันนั้น​ลูกทั้งสองก็มีความสามารถ​ใน​การกินผักคือผัดผักบุ้งสัปดาห์ละสองคำ

อาหารอย่างหนึ่งที่เด็กส่วนมากชอบ คือเนื้อปิ้งหรือเนื้อย่าง วันหยุดถ้าผมขยัน ก็จะแวะซื้อเนื้อสันใน​มาหั่นเป็นชิ้นใหญ่ๆ คลุกกระเทียม รากผักชี พริกไทย และซอสแมกกี้หมักไว้ เย็นๆเอาออกมาย่างไฟถ่าน ลูกผมชอบมากขอร้องให้ทำอีก ผมจึงบรรยายให้ฟังว่า การกินเนื้อแบบนี้ ถ้าจะให้ถูกหลักต้องมีผักประกอบด้วย​อย่างน้อยสองอย่าง ผมให้ลูกเลือกชนิดของผักเองตามใจชอบ ลูกคนโตเลือกแตงกวาและมะเขือเทศ ลูกคนเล็ก​เลือก​ผักกาดหอม ผมจึงตัดสินว่าเพื่อความยุติธรรมเราควรมีผักทั้งสามชนิด​ ตั้งแต่นั้นมาลูกผมก็กินผักได้เพิ่มเป็น​สี่ชนิด​ และกินมาจนถึงทุกวันนี้ เวลานี้ผมไม่ได้ลงมือปิ้งเนื้อเองมาหลายปีและเตาบาบีคิวก็ผุพังไปแล้ว​ แต่ผักผัดบุ้ง​จานเก่ายังเป็นอาหารประจำเย็นวันอาทิตย์มาจนทุกวันนี้ และผักบุ้งจานนั้นมิได้เป็นภาระของผมผู้เดียว​เหมือน​วันแรกๆ​ อีกต่อไป

ทฤษฎีที่นำมาใช้ในเรื่องลูกรักไม่กินผักมีสองประการ ประการแรก​ ได้แก่การทำตัวอย่างให้เด็กดู​ เด็กจะเชื่อ และปฏิบัติตามได้ดีกว่าฟังจากคำพูดเพียงอย่างเดียว ประการที่สอง​ การให้เด็กมีส่วนในการตัดสินใจ​เลือกของ เด็กจะมีความรู้สึกว่าเป็นความคิดของตนและจะรักษาไว้ได้ดี

ลองดูสักมื้อสิครับ”

​เหตุที่มาสนใจกับเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งก็เพราะว่า ปัจจุบันมีหลักฐานเรื่องประโยชน์ของการกินผักผลไม้​ชัดเจน​ยิ่งขึ้น​ ถึงขนาดบอกได้ว่า ผู้ที่กินผักผลไม้ถึงวันละ 400 กรัม (4 ขีด) จะมีอายุยืนกว่าผู้ที่ไม่กินผักผลไม้เลย 37 เดือน และผู้ที่กินแต่ไม่ถึงวันละ 400 กรัมก็จะมีอายุยืนยาวลดลงเป็นลำดับ (สนใจรายละเอียดอ่านได้จาก​เอกสาร​ชื่อ การสร้างเสริมสุขภาพและการเสริมพลังชุมชน โดย Google ด้วยชื่อเรื่อง)

บัดนี้เวลาผ่านไป 30 ปีแล้ว จึงขอรายงานความก้าวหน้าถึงสถานการณ์การกินผักของลูกสองคนในขณะนี้ ดังต่อไปนี้

“ลูกทั้งสองคนไม่รังเกียจการกินผักผลไม้ และจะกินผักผลไม้​ (เกือบ) ทุกชนิดที่วางอยู่บนโต๊ะอาหาร​ แต่ถ้าไม่มีก็จะไม่​แสวงหา​ แสดงว่า​วิธีการที่ผมใช้กับลูก​ (ซึ่งก็คิดว่าหนักหนา​พอสมควรแล้ว) ​ยังไม่พอที่จะทำให้​ลูกกินผักผลไม้เป็นนิสัย ได้ นั่นคือ ยังจำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์ ‘ปรับสภาพแวดล้อม​ให้เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาพ​’ ที่แสดงไว้ในแผนภาพ​ ‘พีระมิดผลกระทบ​ต่อสุขภาพ’​ ของ​ Thomas R. Frieden อดีตผู้อำนวยการศูนย์ควบคุม​และป้องกันโรค​ของสหรัฐ ที่แสดงไว้ข้างล่างนี้”

ดังนั้น​ ถ้าต้องการ​ผลลัพธ์​ที่ดีกว่านี้ คงต้องย้อนกลับไปใช้ยุทธศาสตร์์​ “ให้สุขศึกษา”​ เพื่อสร้างนิสัย

​ในเอกสาร “ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลางกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา” ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (Http://academic.obec.go.th) กล่าวไว้ว่า

(หน้า 4) ทำไมจึงต้องเรียน​สุขศึกษาและพลศึกษา

​สุขภาพ​หรือสุขภาวะ หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต​ ทางสังคม​ และทางปัญญา หรือจิตวิญญาณ สุขภาพหรือสุขภาวะจึงเป็นเรื่องสำคัญ​เพราะเกี่ยวโยงกับทุกมิติของชีวิต​ ซึ่งทุกคนควรจะได้เรียนรู้​เรื่องสุขภาพ​ เพื่อที่จะได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีเจตคติ​ คุณธรรมและค่านืยมที่เหมาะสม รวมทั้งมี​ทักษะปฏิบัติด้านสุขภาพจนเป็นกิจนิสัย อันจะส่งผลให้สังคมโดยรวมมีคุณภาพ​

(หน้า​ 36) ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง

​สาระที่ 4 การสร้างเสริมสุขภาพ​ สมรรถภาพ​ และการป้องกันโรค

มาตรฐาน พ​ 4.1 เห็นคุณค่าและมีทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ​ การดำรงสุขภาพ​ การป้องกันโรค​ และการสร้างเสริมสมรรถภาพเพื่อสุขภาพ

ชั้น ป​. 1 ​ตัวชี้วัด​ 1. ปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ

​​สาระการเรียนรู้แกนกลาง​- การปฎิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ

ชั้น ป​. 5​​ตัวชี้วัด​ 1. แสดงพฤติกรรมที่เห็นความสำคัญของการปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติ

​​สาระการเรียนรู้แกนกลาง – ความสำคัญของการปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติ

​โปรดสังเกตว่า มีการเรียนรู้เรื่องการปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติทั้งในระดับ ป.​ 1 และป. 5 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้

(หน้า​ 63 ) สุขบัญญัติแห่งชาติ

ข้อกำหนดที่เด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปพึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นสุขนิสัย​ เพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ​ และสังคม​ ซึ่งกำหนดไว้ 10 ประการ ดังนี้

1. ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด

2. รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง

3. ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย

4. กินอาหารสุก​ สะอาดปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด​ (ปี พ.ศ.​ 2551 เรื่องประโยชน์ของผักผลไม้ยังไม่ชัดเจนเหมือนปัจจุุบัน)

5. งดบุหรี่สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ

6. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น

7. ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท

8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี

9. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ

10. มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม

ในเรื่องของพฤติกรรมนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์​ (ป​.อ.​ปยุตฺโต) ​ กล่าวไว้​ (ในหนังสือ​​ แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา​ หน้า 48) ว่า

“เริ่มตั้งแต่​พัฒนา​พฤติกรรมให้ดีขึ้น โดยฝึกด้วยความตั้งใจ​ และมีความเข้าใจ​ ให้เกิดพฤติกรรมที่ดีงาม​เกื้อกูล​ขึ้นมาติดตัว​ หรือ​ประจำตัว เรียกว่า “ศีล”

โดยทั่วไป ในการฝึกให้เกิดศีลเราจะใช้ “วินัย” เพราะว่าวินัยนั้นเป็นตัวกําหนดรูปแบบ วินัยก็คือ​การจัดตั้ง วางระบบ กําหนดระเบียบแบบแผน​ ในสังคมมนุษย์ถ้​าเราไม่มีระบบระเบียบแบบแผน พฤติกรรมของมนุษย์จะวุ่นวายมาก เราจึงใช้วินัยเป็นตัวกําหนดหรือจัดระบบพฤติกรรม

เมื่อพฤติกรรมของคนเป็นไปตามวินัยที่จัดตั้งวางกำหนดไว้​ ก็เรียกว่า​ ศีล​”

เนื่องจากการสร้างสุขนิสัยต้องอาศัยการฝึกด้วยวินัย ดังนั้นลำพังแต่ละครอบครัวจะทำได้จึงลำบาก คงต้องฝากความหวังไว้กับโรงเรียนและครู​ที่จะทำงานประสานกับผู้ปกครองในเรื่องนี้ ผ่านการเรียนการสอน​กลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา​ โดยมีสาระการเรียนรู้แกนกลางเป็นการปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติ

แต่สุขบัญญัติแห่งชาติมีถึง 10 ประการ หลายประการมีความซับซ้อนยากแก่การติดตามดูผลการปฏิบัติได้จริง​ ​จึงขอ​เสนอให้เน้นเพียง​ 3 ประการที่มีตัวชี้วัดง่ายๆ​ ได้แก่

1 แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

2. ล้างมือด้วยสบู่ ก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย (ทำได้แค่ข้อนี้ข้อเดียวก็คุ้มแล้ว สนใจโปรดดูเรื่อง การเปลี่ยนพฤติกรรม: ลำพังการให้ความรู้ไม่สู้จะได้ผล )

3. กินผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม

โรงเรียนไหนทำได้​ ช่วยบอกด้วยครับ จะขอไปดูงาน

อำนาจ​ ศรีรัตนบัลล์

29 กรกฎาคม​ 2563

หมายเลขบันทึก: 679582เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2020 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2020 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท