ชีวิตที่พอเพียง 3732. คนขวางโลก



ในการประชุมต่างๆ ที่ผมเข้าร่วม ในช่วงวิกฤติโควิด ๑๙    มักจะมีเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้ยากลำบาก    ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชมมาก    

แต่ผมก็อดขวางโลกไม่ได้    ว่าสังคมไทยนิยมช่วยเหลือคนยากลำบากแบบ “ให้ปลา”    กินวันเดียวก็หมด แล้วต้องรอความช่วเหลืออีก    ผมพยายามบอกหลายวงประชุมว่า นอกจาก “ให้ปลา” แล้ว ต้อง “ให้เบ็ด”  และ “สอนวิธีตกปลา” ให้ด้วย

ผมมีความเชื่อว่า ยามยากลำบาก เป็นโอกาสฝึกฝนตนเองให้แกร่ง    การช่วยเหลือคนอื่นที่ดีที่สุดคือ ช่วยให้ช่วยตัวเองได้    ไม่ใช่ช่วย แล้วส่งเสริมการเป็นคนงอมืองอเท้า เอาแต่รอความช่วยเหลือจากคนอื่น  

เรื่องช่วยเหลือตนเองได้นี้    ไม่ได้มีเฉพาะระดับบุคคล    ยังเกี่ยวข้องกับระดับองค์กร  ระดับชุมชนหรือพื้นที่    และระดับประเทศด้วย

ช่วงที่เขียนบันทึกนี้  ผมไปเกี่ยวข้องกับการประเมินโครงการ PISA for Schools ที่ กสศ. ร่วมมือ (คล้ายๆ จ้าง) OECD ทำงานประเมินโรงเรียน    มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพของโรงเรียน    หลังประชุมผมเขียน reflection ส่งให้ผู้เกี่ยวข้อง    ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับลักษณะโครงการที่ต้องพึ่ง OECD เรื่อยไป    ผมเสนอให้พัฒนาทีมไทยที่ทำงานใช้ข้อสอบ PISA หรือเลียน PISA  ประเมินโรงเรียนได้เอง    ส่งไปแล้วเขาเงียบกันหมด    คงจะนึกกันว่า คนแก่คนนี้แรงจัง 

การเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง เป็นคุณสมบัติของคนแข็งแรง ชุมชนเข้มแข็ง โรงเรียนคุณภาพสูง  ระบบแข็งแรง  และประเทศมั่นคง   

ตอนนี้ผู้คนทั่วโลก สรรเสริญความเข้มแข็งของระบบสุขภาพไทย จากการรับมือโควิด ๑๙   ซึ่งบอกได้ว่า ที่มาของความเข้มแข็งนั้นคือการที่ระบบสุขภาพมีการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง    ภายใต้ระบบที่ซับซ้อน (และบางครั้งก็ทะเลาะหรือไม่เห็นพ้องกัน)    เรามีระบบ เอ็นจีโอ ด้านสุขภาพ ทำงานในหลากหลายบทบาท    เรามีหน่วยงานวิจัยอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นกึ่งราชการกึ่ง เอ็นจีโอ    โดยที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงอดทนอดกลั้นไม่ใช้อำนาจสั่งการ (ที่จริงมีบางช่วงโดนกลั่นแกล้ง)     เรามี สวรส. เป็นหน่วยงานกึ่งราชการทำหน้าที่สนับสนุนการวิจัย และบางกรณีก็ทำวิจัยเอง    เรามีการประชุมกลุ่มสามพรานที่เป็นสมอง แต่ไม่มีอำนาจสั่งการ (ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นมาเฟีย)    และเรามีโครงสร้างภายในกระทรวงสาธารณสุขที่ทำงานแบบที่มีการเรียนรู้และปรับตัว     เรามี สปสช. ทำหน้าที่จัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบ    เรามี สสส. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอิสระ ทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แบบที่เน้นสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและประชาชน    เรามี Prince Mahidol Award Foundation ทำงานร่วมกับภาคีที่หลากหลายทั่วโลก     ในการพัฒนาระบบสุขภาพโลก    และเป็นกลไกเรียนรู้ต่อเนื่องของคนในระบบสุขภาพไทยด้วย  ฯลฯ 

ทั้งหมดนั้น พลังแท้จริงคือ สัมมาธิฐิ หรือการมีหลักการที่ถูกต้อง    ซึ่งก็คือ การสร้างระบบที่ซับซ้อน และมีปฏิสัมพันธ์กันด้วยเป้าหมายที่ทรงคุณค่าต่อส่วนรวม   ไม่ใช่ระบบรวมศูนย์อำนาจ   

จะเห็นว่า ระบบสุขภาพไทย เป็นระบบที่ป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นได้ดีกว่าระบบอื่นๆ    เราเคยจับ รมต. ที่ทุจริตเข้าคุกมาแล้ว    นักการเมืองที่มาเป็น รมต. สาธารณสุขหลายคนบอกว่า เป็นช่วงเวลา “กินเจ”

วิจารณ์ พานิช

๑๗ มิ.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 678263เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท