เมื่อต้องไปรับการตรวจเอคโค่หัวใจ (Echocardiography) ต้องรู้และควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?


  1. การตรวจ Echocardiography / Ultrasound หัวใจ / การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ / การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง  คือ การตรวจโดยอาศัยหลักการการทำอัลตร้าซาวด์ที่หัวตรวจส่งคลื่นเสียงไปกระทบอวัยวะในช่องอก ได้แก่ หัวใจ ปอด หลอดเลือด เป็นต้น ความหนาแน่นที่ต่างกันของวัตถุ ได้แก่ เลือด ลม เนื้อเยื่อ กระดูก กล้ามเนื้อ ที่หัวตรวจรับสัญญาณกลับมาตามหลักการของคลื่นเสียง ถูกขยายสัญญาณ และแปลผลผ่านจอมอนิเตอร์เป็นภาพอัลตร้าซาวด์เคลื่อนไหว Real time สีขาวดำที่มีความเข้มอ่อนต่างกันตามระดับความหนาแน่น ซึ่งภายหลังมีการเพิ่ม Mode การวัด เช่น Color mode, CW, PW, Motion mode, Tissue doppler และ 3D เป็นต้น 
  2. ทฤษฎีอัลตร้าซาวด์เริ่มปรากฎจากกองกำลังทหารตะวันตกในช่วงสงคราม สมัยปลายรัชกาลที่ 8 ของไทย ตั้งแต่ปี 1930 (2473) -1956 (2499) ต้นรัชกาลที่ 9 ที่ทั่วโลกเริ่มมีการประยุกต์ใช้ Ultrasound ในทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย(1) จนถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยเยอรมันเป็นรายแรกๆ ที่สามารถสร้างเครื่องอัลตร้าซาวด์ที่มีรูปแบบดังเช่นปัจจุบัน(2) ผ่านมากว่า 90 ปี ขนาดรูปทรงและฟังก์ชั่นการใช้งานเครื่องถูกพัฒนาจนทำให้สามารถมองเห็นภาพได้ชัดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ราคาเครื่องปัจจุบัน ส่วนใหญ่อยู่ที่ 1-8 ล้านบาทขึ้นอยู่กับยี่ห้อ รุ่น จำนวนอุปกรณ์และฟังก์ชั่นเสริม ล่าสุดพัฒนาถึงขั้นที่ประชาชนสามารถซื้อหัวตรวจในราคา 6 หลักและ Download application เพื่อตรวจหรือมองเห็นภาพทารกในครรภ์ด้วยตนเอง หรือติดตามการทำงานของหัวใจตนเองและคนใกล้ชิดผ่านมือถือหรือแทปเลตได้จากทุกที่(3) และสามารถส่งภาพดังกล่าวส่งให้แพทย์ประจำตัวเพื่อขอคำปรึกษาออนไลน์ได้
  3. มี 3 องค์ประกอบในการตรวจ Echocardiography ได้แก่ 1) ผู้รับการตรวจ 2) เครื่องตรวจ และ 3) ผู้ตรวจ
    3.1) ผู้รับการตรวจ ได้แก่ ผู้ป่วยหรือผู้มีความสงสัยความผิดปกติของหัวใจ อาทิ เด็ก ผู้ัใหญ่ ทารกในครรภ์มารดา 
    3.2) เครื่องตรวจ/การตรวจ ได้แก่ เครื่องตรวจหัวใจผ่านผนังทรวงอก ตรวจหัวใจผ่านหลอดอาหาร ตรวจหัวใจผ่านการอัลตร้าซาวด์ครรภ์ 
    3.3) ผู้ตรวจ ได้แก่ กุมารแพทย์โรคหัวใจ อายุรแพทย์โรคหัวใจ/หทัยแพทย์ นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอย่างถูกกฎหมาย
  4. ราคาตรวจ โรงพยาบาลภาครัฐในเวลาราชการ 2,000-3,000 บาท/ครั้ง นอกเวลาราชการ 3,500 - 4,000 บาท/ครั้ง ภาคเอกชน 4,000-5,000 บาท/ครั้งขึ้นไป โดยขึ้นกับเครื่อง นโยบาย และประกาศของสถานพยาบาลนั้นๆ และขึ้นกับความซับซ้อนของโรคด้วย 
  5. การปฏิบัติตัวของผู้เข้ารับการตรวจ
    กรณีผู้ป่วยเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี และผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ
    5.1 สวมใส่เสื้อผ้าที่มีกระดุมเปิดหน้าเพื่อสะดวกในการตรวจและป้องกันเจลเลอะชุดที่สวมใส่ บางโรงพยาบาลอาจมีชุดให้เปลี่ยนโดยเฉพาะ
    5.2 งดสวมใส่เครื่องประดับที่มากเกินความจำเป็นอาทิ สร้อยคอ กำไลโลหะ เพราะระหว่างทำการตรวจจะต้องติดสายตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ซึ่งโลหะเหล่านี้อาจส่งผลต่อการนำสัญญาณ และงดการทาสีเล็บ เนื่องจากระหว่างตรวจหรือในภาวะฉุกเฉิน เช่น ช่วยฟื้นคืนชีพ การตรวจความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดผ่านปลายนิ้ว (Oxygen saturator) จะทำได้ยากหรือให้ค่าที่คลาดเคลื่อนได้
    5.3 การตรวจหัวใจผ่านหนังทรวงอกในเด็ก ต้องงดน้ำและอาหารมื้อหนัก ระยะปลอดภัยคือ 4-6 ชั่วโมงก่อนตรวจ แต่หากเด็กร้องไห้งอแงมาก การงด 2-3 ชั่วโมงก็ถือเป็นประโยชน์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสำลักเศษอาหารและน้ำย่อยเข้าหลอดลมในระหว่างให้ยานอนหลับซึ่งสัมพันธ์กับการติดเชื้อ
    5.4 การตรวจหัวใจผ่านหลอดอาหารในเด็ก ถือเป็นการตรวจ "กึ่ง Invasive" แพทย์มักพิจารณาให้ Admit โรงพยาบาลเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนทำ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยวิสัญญีแพทย์ในการดมยาสลบและประคับประคองระบบหายใจทั้ง ก่อนตรวจ-ขณะตรวจ-หลังตรวจ อย่างปลอดภัย
    5.5 การตรวจหัวใจผ่านหลอดอาหารในเด็กเล็กและทารกของไทยยังไม่นิยมเนื่องจากหัวตรวจมักมีขนาดใหญ่และหลอดอาหารของทารกมีขนาดเล็กจึงเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและอันตรายในระยะยาว ทั้งนี้ผนังทรวงอกของทารกยังไม่หนาการตรวจผ่านผนังทรวงอกและหน้าท้องจึงให้ผลการตรวจได้ค่อนข้างมาก แต่หากต้องการความชัดเจนที่มากขึ้นแพทย์มักพิจารณา imaging ชนิดอื่น อาทิ CT, MRI
    5.6 โดยหากเป็นการตรวจผ่านผนังทรวงอกขณะตรวจจะใช้เจลชนิด hypoallergenic ทาที่หัวตรวจ แล้ววางหัวตรวจบริเวณหน้าอกเพื่อนำสัญญาณ ผู้ป่วยจะรู้สึกเย็นอาจร้องกวนในผู้ป่วยอายุ 1 วัน - 6 เดือน แพทย์มักหลีกเลี่ยงการให้ยานอนหลับ ซึ่งมารดาสามารถหลอกล่อด้วยภาพของเล่น หรือป้อนนมขณะตรวจไปด้วยได้
    5.7 ในโรคหัวใจชนิดซับซ้อนการหลับโดยธรรมชาติมักไม่สามารถทำให้การตรวจดำเนินไปได้จนแล้วเสร็จส่วนใหญ่มักตื่นก่อนเนื่องจากรับรู้ถึงความเย็นและความเปียกของเจลตรวจ ดังนั้นจึงยังมีข้อบ่งชี้ต้องได้รับยานอนหลับ แต่เนื่องจากการหลับเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทจึงพบว่าในรายที่หลับมาเองโดยธรรมชาติจนกระทั่งตื่นเมื่อได้รับยาเพื่อทำให้หลับอีกครั้งมักล้มเหลวหรือมักใช้เวลาในการออกฤทธิ์นานกว่าปกติ ทำให้ผู้ปกครองต้องอุ้มและกล่อมนอนนานมาก ยกเว้นรายการยาที่ออกฤทธิ์เร็วและเฉียบพลัน(4)

  6. การปฏิบัติตัวของผู้เข้ารับการตรวจ (กรณีผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ หรือเด็กโตที่ให้ความร่วมมือ)
    6.1 อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด งดดื่มสุราและงดสูบบุหรี่ก่อนตรวจ โดยสวมเสื้อมีกระดุมเปิดหน้าเพื่อความสะดวกในการตรวจหรือเปลี่ยนชุด
    6.2 ขณะตรวจและติดตั้งอุปกรณ์ติดตามการทำงานของหัวใจ ควรงดสวมใส่เครื่องประดับโลหะหรือสิ่งที่ทำให้การตรวจทำได้ไม่สะดวก
    6.3 การตรวจหัวใจผ่านหนังทรวงอกในผู้ใหญ่ ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร (ยกเว้น กรณีแพทย์ต้องการสังเกตผลจากยา/จากการหยุดยา หรือเตรียมทำ stress test อาจต้องงดอาหารหรือยาบางตัว ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่แพทย์เจ้าของไข้แนะนำ)
    6.4 ผู้ที่มีลักษณะอ้วน/มีผนังทรวงอกหนาด้วยชั้นไขมัน "จะทำให้ภาพที่ได้ไม่คมชัดเป็นอุปสรรคต่อการตรวจ" ดังนั้นผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วนจึงถือเป็นข้อจำกัดสำคัญในการตรวจ ต้องใช้เวลามากกว่าคนปกติทำให้ในรายที่หัวใจวายนอนราบไม่ได้อาจเกิดความไม่สุขสบายและรู้สึกทรมาน ผู้ตรวจต้องออกแรงกดหัวตรวจมากขึ้นจึงอาจรู้สึกเจ็บขณะตรวจ และส่วนใหญ่ต้องยืนยันผลตรวจด้วยการตรวจอื่น เช่น ตรวจผ่านหลอดอาหาร, CT, MRI, Pet scan และใส่สายสวนหัวใจ เป็นต้น
    6.5 ผู้ป่วยที่มีอาการไอมากๆ เป็นอุปสรรคต่อการตรวจเนื่องจากการไอจะทำให้ทรวงอกขยับและภาพไม่นิ่ง การวัดหรือ doppler จะได้ค่าที่คลาดเคลื่อน และระหว่างตรวจแพทย์อาจร้องขอให้ช่วยกลั้นหายใจเป็นช่วงๆ ซึ่งในผู้ป่วยเหล่านี้อาจทำตามได้ยาก จึงควรรักษาตัวให้หายก่อนเข้ารับการตรวจ
    6.6 การตรวจหัวใจผ่านหลอดอาหารในผู้ใหญ่ต้องงดน้ำและอาหาร 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ(5) เพื่อป้องกันการสำลักขณะตรวจ แม้ว่าขณะตรวจแพทย์จะพ่นยาชาที่คอและใส่เจลหล่อลื่นช่วยแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากกลไกทางสรีรวิทยาที่ลำคอและหลอดอาหารทำให้การกลืนหัวตรวจเป็นไปอย่างยากลำบาก อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปภาพที่ได้จากการตรวจผ่านหลอดอาหารมักคมชัดกว่า แต่ด้วยการทำที่ยุ่งยากมีความเป็นกึ่ง Invasive การส่งตรวจจึงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป(5-6)
  7. อ้างอิง
    1.https://www.livescience.com/32071-history-of-fetal-ultrasound.html
    2.https://sites.google.com/site/mspttu/bthna/pra-wati-khlun-xalt-ra-sa-wn
    3.https://www.aedsuperstore.com/lumify-ultrasound-system-philips-healthcare.html
    4.https://www.drugs.com/condition/sedation.html
    5.https://www.asecho.org/wp-content/uploads/2014/05/2013_Performing-Comprehensive-TEE.pdf
    6.https://www.intercoastalmedical.com/2017/11/24/preparing-for-an-echocardiogram/

  8. ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ควรแจ้งแพทย์และพยาบาลก่อนตรวจ เพื่อหลีกเลี่ยงผลจากการให้ยาและสารเคมีบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการแพ้ ในเด็ก Down syndrome, Noonan syndrome, Williams syndrome, DiGeorge syndrome ส่วนใหญ่การให้ยานอนหลับอาจทำได้ยากกว่าเด็กทั่วไป หรือบางรายอาจทำได้ไม่สำเร็จ ซึ่งมีโอกาสที่แพทย์อาจยุติการตรวจ หรือส่งตรวจด้วย Imaging ชนิดอื่นซึ่งมีราคาตรวจสูงกว่า

      
  9. ผลข้างเคียง : ยังไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียงของ "ตัวคลื่นเสียง" ว่าส่งผลต่อสุขภาพหรือระดับพันธุกรรมใดๆ แต่ในเด็กพบเพียงผลข้างเคียงของการให้ยานอนหลับบ้าง เช่น ทำให้มีเสมหะมากขึ้น หายใจติดขัด การเต้นของหัวใจช้าลง แพ้ยาออกผื่น เป็นต้น ซึ่งเป็นอุบัติการณ์ค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่มักปรากฏอาการทันทีหรือไม่นานภายหลังจากได้รับยา 
คำสำคัญ (Tags): #echocardiography#tee#tte#preparation
หมายเลขบันทึก: 678259เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2020 01:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท