เลือก "รองเท้า" อย่างไรให้คนใส่สุขภาพดี?


แม้รองเท้าจะจัดเป็นปัจจัยสี่ในหมวดเครื่องนุ่งห่มร่างกายป้องกันเท้าไม่ให้บาดเจ็บจากการเดินเหยียบวัตถุอันตราย แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้รองเท้าเป็นมากกว่านั้น เพราะเมื่อผสานวัสดุที่มีคุณภาพเฉพาะและผสานดีไซน์สีสันทรวดทรงสวยงามทำให้รองเท้ามีความทันสมัยและมีหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินทำงานนานๆ รองเท้าย่อมเป็นเพื่อนร่วมทางที่ดีที่จะทำให้เราก้าวไปถึงเป้าหมายของวันอย่างมีคุณภาพ

ในอดีตรองเท้าแต่ละประเภทมีลักษณะชัดเจน เช่น รองเท้าคัชชูหนัง คัชชูผ้า รองเท้ากีฬาผ้าใบ รองเท้าลำลอง รองเท้าฟองน้ำ รองเท้าแตะทำจากโฟม รองเท้าไม้ รองเท้าพลาสติก แต่ปัจจุบันด้วยความนิยมและด้วยอิทธิพลทางการตลาดทำให้รองเท้าหนึ่งคู่มีมากกว่าหนึ่งจุดประสงค์การใช้ อาทิ รองเท้ากีฬากึ่งแฟชั่น รองเท้าคัชชูผ้าไหม เป็นต้น (ดังรูป)

หลักการเลือกรองเท้า

1. ต้องคำนึงถึงกาลเทศะที่จะนำไปใช้

2. ขนาดพอดีกับเท้า (ภายใต้การสวมถุงเท้า)

3. ขณะลองสวม พื้นรองเท้าต้องรับกับสรีรฝ่าเท้าเว้านูน มีจุดรับและถ่ายเทน้ำหนัก และมีความมั่นคง

4. วัสดุต้องระบายอากาศ  ไม่ทำให้ผิวหนังถลอกจากการเสียดสี หรือระคายเคือง

5. พื้นรองเท้าต้องมีผิวหน้าสำหรับยึดเกาะ

6. ทำความสะอาดง่าย 

7. สีสันทรวดทรง การตัดเย็บ ตะเข็บ ส่วนแหลมคมทิ่มตำ ต้องตรวจสอบก่อนตัดสินใจซื้อ

8. ราคาเหมาะสมกับวัสดุ 

9. พื้นรองเท้าต้องนุ่มกำลังพอดี รองเท้าที่นุ่มเกินไปจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงขณะก้าวเดินส่งผลต่อข้อเข่า

หมายเหตุ

1. การเลือกรองเท้าที่คับเกินไป จะทำให้เกิดการกดรัด ยิ่งเดินหรือลงน้ำหนักจะยิ่งทำให้เจ็บเท้า สัมพันธ์กับโรคและสุขภาพเท้า อาทิ ตาปลา เล็บเสียรูปทรง เล็บขบ เป็นต้น

2. การเลือกรองเท้าที่หลวมเกินไป จะทำให้ปวดเข่าและขาท่อนล่างเพราะผู้สวมใส่ต้องกด Fix เท้าไม่ให้เลื่อนหลุดอยู่ตลอดเวลา และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

3. การเลือกรองเท้า "ช่วงเช้า vs ช่วงบ่าย" จะให้ความรู้สึกแตกต่างกัน โดยงานวิจัยพบว่าขนาดเท้าของคนในช่วงบ่ายจะใหญ่กว่าช่วงเช้าเล็กน้อย ทั้งนี้ด้วยปัจจัยทางสรีรวิทยา แรงโน้มถ่วง ท่าทาง น้ำหนักตัว และอุณหภูมิ 

4. รองเท้าที่พื้นบางจนเกินไปเสี่ยงต่อการทะลุเมื่อเหยียบวัตถุมีคม

5. รองเท้าที่ไม่ระบายอากาศจะสัมพันธ์กับการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์

6. เหงื่อที่เท้า ความเปียกชื้น เท้าและถุงเท้าที่ไม่สะอาด ก่อให้เกิดกลิ่น

7. ทำความสะอาดด้วยน้ำยาซักรองเท้าเฉพาะ ตามคำแนะนำที่ระบุไว้จากผู้จำหน่าย ระวังน้ำยาที่ทำปฏิกิริยากับวัสดุ เช่น กรดแอลกอฮอล์กับหนัง กรดแอลกอฮอล์กับยาง เป็นต้น

8.  การสวมรองเท้าร่วมกัน การลองรองเท้าร่วมกัน มีโอกาสติดเชื้อโรคที่เท้าได้ อาทิ โรคผิวหนัง เช่น หูด แบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น 

9. รองเท้าที่น้ำหนักมากเกินไปจะก่อให้เกิดอาการเมื่อยล้าที่ข้อเท้าและเข่า 

10. รองเท้าที่ส้นสูงเกินไปนอกจากเสี่ยงต่ออันตรายแล้วยังทำให้ปวดน่องและหากต้องยืนนานๆ จะก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าเท้า

11. รองเท้าที่แผ่นหุ้มหลังส้นสูงมากเกินไปอาจทำให้กดข้อเท้าด้านหลังขณะก้าวเดิน

12. รองเท้ากีฬา ควรมีระบบ support ข้อเท้าด้วยวัสดุที่นุ่มและหนาพอสมควร

13. รองเท้าที่พื้นหนา สาก แข็ง และไม่มีวัสดุถ่ายเทน้ำหนักจะทำให้เกิดการเสียดสีของผิวหนัง ฝ่าเท้า และส้นเท้าจนเกิดถุงน้ำ ถลอก หรือติดเชื้อได้

คำสำคัญ (Tags): #รองเท้า#เท้า
หมายเลขบันทึก: 678254เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020 02:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท