พระปรมาภิไธย


"พระปรมาภิไธย" พระมหากษัตริย์ไทย แห่งราชวงศ์จักรีกรุงรัตนโกสินทร์

     พระปรมาภิไธย (พระ+ปรม+อภิไธย แปลว่า ชื่ออันประเสริฐยิ่ง) หมายถึง พระนามของพระมหากษัตริย์ราชเจ้า ตามที่จารึกใน 

พระสุพรรณบัฏ หลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 และใช้มาจนถึงพระมหากษัตริย์

พระองค์ปัจจุบัน 

ธรรมเนียมการเฉลิมพระปรมาภิไธยในราชวงศ์จักรี

         แต่เดิมนั้นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีรัชกาลที่ 1-3 นั้น ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระองค์เองโดยขึ้นต้นว่า 

“สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี”และมีสร้อยพระนามเหมือนกันทั้ง 3 รัชกาล ราษฎรจึงต้องสมมตินามแผ่นดินเอาเองเมื่อกล่าวถึง

พระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล

          ในสมัยรัชกาลที่ 3 ราษฎรได้เรียกนามแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ว่า "แผ่นดินต้น" รัชกาลที่ 2 ว่า "แผ่นดินกลาง" รัชกาลที่ 3 ว่า "แผ่นดินนี้"

          ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ไม่ทรงโปรดการออกนามแผ่นดินดังกล่าว เนื่องจากทรงเกรงว่าต่อไปราษฎรจะเรียกรัชกาล

ของพระองค์ว่า "แผ่นดินปลาย" หรือ "แผ่นดินสุดท้าย" อันเป็นอัปมงคล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์

พระมหากษัตริย์สองรัชกาลแรก ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม องค์หนึ่งถวายพระนามว่า "พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" 

อุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชรัชกาลที่ 1และอีกองค์หนึ่งถวายพระนามว่า "พระพุทธเลิศหล้าสุราไลย"

          (ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ถวายสร้อยพระนามใหม่ว่า "พระพุทธเลิศหล้านภาไลย") อุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถรัชกาลที่ 2 

และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกนามแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ทั้งสองรัชกาลตามนามพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้

          ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี 

ทรงมีพระราชดำริว่าพระนามของพระมหากษัตริย์สืบไปภายหน้าควรใช้แตกต่างกันทุกรัชกาล เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการออกนามแผ่นดิน

เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จึงทรงถวายพระนามแก่สมเด็จพระบูรพกษัตริย์รัชกาลก่อนหน้าพระองค์ทั้งสามรัชกาลดังนี้

          รัชกาลที่ 1: พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ นเรศวราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

         รัชกาลที่ 2: พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชษฐ มเหศวรสุนทร ไตรเสวตรคชาดิศรมหาสวามินทร์ สยารัษฎินทรวโรดม บรมจักรพรรดิราช พิลาศธาดาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระพุทธเลิศหล้านภาไลย

        รัชกาลที่ 3: พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐ มหาเจษฎาบดินทร สยามินทรวิโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

      นอกจากนี้ยังทรงกำหนดหลักการเฉลิมพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ตามลำดับรัชกาล

      โดยรัชกาลที่เป็นเลขคี่ให้ใช้คำว่า "ปรมินทร" รัชกาลเลขคู่ให้ใช้คำว่า "ปรเมนทร"เป็นเครื่องหมายสังเกต

พระนามพระมหากษัตริย์ไทยตามหลักพระราชนิยมดังกล่าวตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมามีดังนี้

      รัชกาลที่ 4: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

      รัชกาลที่ 5: ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2411 ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า 

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว"

       ต่อมาเมื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2416 ได้ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่ว่า 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

       รัชกาลที่ 6: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

      รัชกาลที่ 7: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

      รัชกาลที่ 8: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทั้งนี้ ทรงได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธย

ภายหลังการเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2489

      ต่อมาได้เฉลิมพระปรมาภิไธยอย่างวิเศษและถวายสร้อยพระนาม "พระอัฐมรามาธิบดินทร์" เมื่อ พ.ศ. 2538

      รัชกาลที่ 9: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

      รัชกาลที่ 10: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เฉลิม

พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีโดยใช้คำนำหน้าพระนามว่า"รามาธิบดีศรีสินทร"ทุกรัชกาล 

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ดังนี้

รัชกาลที่ 1: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1

รัชกาลที่ 2: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2

รัชกาลที่ 3: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรเจษฏาธิบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3

รัชกาลที่ 4: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 4

รัชกาลที่ 5: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5

รัชกาลที่ 6: พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6

       ส่วนในภาคภาษาอังกฤษนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า "Rama" แล้วตามด้วยหมายเลขลำดับรัชกาลแบบเลขโรมันตามธรรมเนียมยุโรป

แต่เมื่อรัชกาลที่ 7 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์ก็ทรงประกาศให้การใช้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์กลับไปเป็นตาม

แบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 เช่นเดิม

      เว้นแต่พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยังคงใช้ว่าพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ 

และใช้มาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า "Rama" แล้วตามด้วยหมายเลขลำดับรัชกาล เพื่อสื่อถึงพระมหากษัตริย์แห่ง

พระบรมราชจักรีวงศ์ยังคงใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน

การลงพระปรมาภิไธยในเอกสารราชการ

     การทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ไทย เริ่มปรากฏหลักฐานครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานการลงพระปรมาภิไธยในแต่ละ รัชกาลดังนี้

    รัชกาลที่ 4: "สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม" ในกรณีที่เป็นเอกสารภาษาต่างประเทศจะทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "SPPM. Mongkut Rex Siamensium"

   รัชกาลที่ 5: จุฬาลงกรณ์ ปร. หรือ สยามินทร์

   รัชกาลที่ 6: ช่วงต้นรัชกาลทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "วชิราวุธ ปร." ภายหลังทรงเปลี่ยนเป็น "ราม วชิราวุธ ปร." หรือ "ราม ร."

  รัชกาลที่ 7: "ประชาธิปก ปร."

  รัชกาลที่ 8: "อานันทมหิดล"

  รัชกาลที่ 9: โดยทั่วไปทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "ภูมิพลอดุลยเดช ปร." ในเอกสารบางแห่งทรงลงพระปรมาภิไธยว่า 

"สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" ในกรณีที่เป็นเอกสารภาษาต่างประเทศจะทรงลงพระปรมาภิไธย

ว่า "Bhumibol R."

   รัชกาลทึ่ 10: "มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร"

พระปรมาภิไธยย่อ

      พระปรมาภิไธยย่อ คือ การย่อพระปรมาภิไธยให้เหลือเพียง 3 ตัวอักษร โดยส่วนมาก มักใช้เป็น ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ 

และ ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธี และงานเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสสำคัญต่างๆ ดังนี้

รัชกาลที่ 1 พระนามย่อ จปร พระนามเต็ม มหาจักรีบรมนาถ ปรมราชาธิราช

รัชกาลที่ 2 พระนามย่อ อปร พระนามเต็ม มหาอิศรสุนทร ปรมราชาธิราช

รัชกาลที่ 3 พระนามย่อ จปร พระนามเต็ม มหาเจษฎาบดินทร ปรมราชาธิราช

รัชกาลที่ 4 พระนามย่อ มปร พระนามเต็ม มหามงกุฎ ปรมราชาธิราช

รัชกาลที่ 5 พระนามย่อ จปร พระนามเต็ม มหาจุฬาลงกรณ์ ปรมราชาธิราช

รัชกาลที่ 6 พระนามย่อ วปร พระนามเต็ม มหาวชิราวุธ ปรมราชาธิราช

รัชกาลที่ 7 พระนามย่อ ปปร พระนามเต็ม มหาประชาธิปก ปรมราชาธิราช

รัชกาลที่ 8 พระนามย่อ อปร พระนามเต็ม มหาอานันทมหิดล ปรมราชาธิราช

รัชกาลที่ 9 พระนามย่อ ภปร พระนามเต็ม มหาภูมิพลอดุลยเดช ปรมราชาธิราช

รัชกาลที่ 10 พระนามย่อ วปร พระนามเต็ม มหาวชิราลงกรณ ปรมราชาธิราช

หมายเลขบันทึก: 678026เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2020 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2020 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท